วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ศธ.ยันหลักสูตรใหม่ไม่โละวิชาเก่า 'ภาวิช' แจงไม่เลิกพลศึกษา-สอนป.1-ม.6

 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม นายภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขอทำความเข้าใจกับสังคมว่าในหลักการของการปรับหลักสูตร ความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนานักเรียนยังอยู่ครบถ้วน เพียงแต่มีการจัดระบบใหม่เท่านั้น และวิชาที่เรียนกันอยู่ก็ยังอยู่ครบ อย่างวิชาพลศึกษา ศิลปะ ไม่ได้มีการตัดรายวิชาเหล่านี้ออก ตอนนี้ทราบว่าเริ่มมีกระแสและพูดกันไปเรื่อยว่าหลักสูตรใหม่ไม่มีวิชาพลศึกษาและอาจจะมีกลุ่มครูพลศึกษามาคัดค้านที่ ศธ. โดยการที่คิดเช่นนี้อาจเป็นเพราะได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยวิชาพลศึกษาในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ จะสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-มัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อเน้นการพัฒนาด้านร่างกายและจิตใจของผู้เรียน
          นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ อดีตประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาคุณภาพ (สวพ.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการปรับหลักสูตรใหม่ จะสร้างความหายนะครั้งใหญ่ คือ ระบบการศึกษาไทยที่อ่อนแออยู่แล้ว จะเข้าขั้นวิกฤตเพราะจะเกิดปรากฏการณ์ความสับสนวุ่นวายของนักเรียน ครูอาจารย์ ผู้บริหารการศึกษาและสำคัญที่สุดพ่อแม่ผู้ปกครองอีกสิบกว่าล้านคนจะต้องตระหนกตกใจและเกิดความหวั่นเกรงไปต่างๆ นานาว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนหลักสูตรจะนำไปสู่การเรียนเนื้อหาวิชาใหม่ๆ หรือวิชาเก่าแต่เรียนมากขึ้น ครูอาจารย์จะสอนเนื้อหาใหม่ๆ ได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่เนื้อหาเดิมๆ ที่สอนมาหลายปี ก็ยังสอนไม่ค่อยได้ การจัดตารางสอน จัดชั้นเรียน การสอบ การเรียนต่อ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นผลตามมาจากการเปลี่ยนหลักสูตร ผู้ปกครองจะต้องซื้อหนังสือใหม่ ต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษ จ่ายค่าติววิชาใหม่ จ่ายค่ากวดวิชาใหม่ "เชื่อว่าผลลัพธ์ทางการเรียนจะตกต่ำลงไปอีก หากผู้บริหาร ครู นักเรียน ยังเกิดความรู้สึกต่อต้านไม่เห็นด้วย คัดค้านทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย ทำให้สมาธิในการเรียนการสอนเสียไปมาก ครูและผู้บริหารจะต้องทิ้งโรงเรียนและห้องเรียนไปอบรมสัมมนา ระดมสมองซึ่งจะเสียเวลาและไม่เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตามเรื่องของการศึกษาถือว่ามีความละเอียดอ่อนมากและคุณภาพการเรียนการสอนกว่าจะรู้ผล ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้น" อดีตประธาน สวพ.กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ก.ค.ศ.ระดม'ผู้บริหาร-นักกฎหมาย' ทบทวนมติก่อนฟันทุจริต'ครูผู้ช่วย'
          นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สั่งให้รวบรวมมติ ก.ค.ศ.เกี่ยวกับการดำเนินการกับผู้ที่ทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 จำนวน 344 คน เพราะยุ่งยากในทางปฏิบัติ หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งว่าเข้าข่ายกระทำการทุจริตในการสอบ ต่อมา ก.ค.ศ.มีมติเพิ่มเติมให้ผู้มีอำนาจในการบรรจุและแต่งตั้งไปดำเนินการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้ง ก.ค.ศ.มีมติส่งเรื่องคืนให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา พิจารณาทบทวนการดำเนินการนั้น มติเหล่านี้ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงกรรมการใน ก.ค.ศ.เองสับสน และเข้าใจในมติแตกต่างกัน ในขณะที่ประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับผู้ที่ถูกให้ออกจากราชการไปแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่ากลับเข้ารับราชการได้หรือไม่
          "สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ระดมความคิดเห็นผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ นักกฎหมาย พร้อมเชิญผู้แทนข้าราชการครูใน ก.ค.ศ.และ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญที่เกี่ยวข้องมาประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้การทบทวนมติทำได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และสอดคล้องกับกฎหมาย พร้อมทั้งแนวปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม คุ้มครองผู้สุจริต และเอาผิดผู้ทุจริตให้ ส่วนที่ดีเอสไอส่งหนังสือให้ตรวจสอบครูผู้ช่วย 2,161 ราย หลังพบว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ เรื่องนี้เป็นปัญหาละเอียดอ่อน สำนักงาน ก.ค.ศ.จะแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่ฯตรวจสอบข้อมูล" นางศิริพรกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

คอลัมน์: สถานีก.ค.ศ.: ประเมิน ว13:เงินเพิ่ม 38 ค.(2)
          ศิริพร กิจเกื้อกูล
          เลขาธิการ ก.ค.ศ.
          สวัสดีค่ะเพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน  พบกันเช่นเคยนะคะ ช่วงนี้ข่าวความเคลื่อนไหว ของสำนักงาน ก.ค.ศ.ก็คงจะเป็นที่สนใจของพี่ น้องเพื่อนครูมีอยู่เป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรณีสอบบรรจุครูผู้ช่วยความก้าวหน้าของบุคลากร ตามมาตรา 38 ค (2) การประเมินวิทยฐานะผู้มีผลงาน เชิงประจักษ์ การย้ายของข้าราชการครูและผู้บริหาร โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ปัญหาการวางแผนอัตรากำลังและการขาดแคลนครู การสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ว่างอยู่ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เพื่อนครูให้ความสนใจทั้งสิ้น
          ดังนั้น สำนักงาน ก.ค.ศ.จึงได้เร่งรัดการดำเนินงานกันอย่างเต็มที่ ดังกรณี การประเมินผลงานตาม ว 13/2556 หรือ ว 5 ซึ่งมีผู้เสนอคำขอรับการประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ จำนวน 1,786 ราย แยกเป็นชำนาญการพิเศษ 383 ราย และเชี่ยวชาญ 1,403 ราย พวกเรากำหนดปฏิทินการทำงานเอาไว้ว่า ระหว่างตุลาคม-พฤศจิกายน 2556 จะวิเคราะห์รางวัลสูงสุด หลังจากนั้น ตุลาคม 2556-มกราคม 2557 จะวิเคราะห์คุณสมบัติผู้ขอรับการประเมินเสนอ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจพิจารณากลั่นกรองฯ ตุลาคม-พฤศจิกายน 2556 ทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ  ธันวาคม 2556 สัมมนาผู้ทรงคุณวุฒิ และ ตุลาคม-พฤศจิกายน 2556 ทำคู่มือการประเมิน หากไม่มีอะไรผิดพลาดจะสามารถประเมิน ณ สถานที่ปฏิบัติงาน ประมาณเดือนมกราคม 2557 เป็นต้นไป     พร้อมกันนี้ ขอเรียนให้เพื่อนครูได้ทราบว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ.มีหนังสือเวียน ที่ ศธ 0206.5/ว 20 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2556 กำหนดปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ รวมทั้งหลักเกณฑ์วิธีการและวิธีการและเงื่อนไขในการกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุแบบช่วง สำหรับบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) กำหนดไว้ 4 ปัจจัย แต่ละปัจจัยมีสัดส่วนของเงินที่จะได้เพิ่ม 25% ดังนี้
          1.ผลคะแนนสอบบรรจุเข้ารับราชการ โดยเป็นผู้สอบแข่งขันที่มีคะแนนสอบรวมเฉลี่ยทุกภาควิชาของการสอบตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป
          2.ประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่จะบรรจุและแต่งตั้ง คือ มีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานตามที่คณะกรรมการคัดเลือก หรือคณะกรรมการสอบแข่งขันกำหนด
          3.การมีคุณวุฒิการศึกษาที่เทียบได้ในระดับเดียวกันมากกว่า 1 คุณวุฒิ คือ มีวุฒิปริญญาในระดับเดียวกัน ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับสายงานที่ได้รับแต่งตั้ง    4.ความรู้ความสามารถด้านภาษาต่างประเทศหรือภาษาท้องถิ่น
          4.1 มีความรู้ความสามารถด้านภาษาถิ่น ซึ่งใช้ในหน่วยงานการศึกษาที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง เช่น ภาษายาวี กูยเยอ แสก ไทยโคราช มัง กะเหรี่ยง ลาวโซ่ง เป็นต้น หรือ
          4.2 มีความรู้ ความสามารถด้านภาษาในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งใช้ในหน่วยงานการศึกษาที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง
          ที่กล่าวมานี้ คือ สิ่งที่พวกเราทำในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันตั้งใจว่างานทุกอย่างจะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มากยิ่งขึ้นค่ะ สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการนั้น เป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก จะได้นำมาเล่าโดยละเอียดในครั้งต่อไป เพื่อนครูและผู้สนใจทุกท่าน อย่าลืมติดตามนะคะ ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอแสดงความยินกับผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรที่ผ่านการประเมินให้ได้รับ พ.ต.ก. รวม 30 ราย (ระดับปฏิบัติการ 1 ราย ชำนาญการ 9 ราย และชำนาญการพิเศษ 20 ราย) ด้วยค่ะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: