วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จี้รัฐบาล 10 ชาติ อาเซียนใส่ใจดูแลครู

ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา เปิดเผยว่า จากการประชุมสภาครูอาเซียน ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค. 2556 ที่ประเทศมาเลเซีย ที่ประชุมได้ข้อสรุปที่เป็นข้อเสนอร่วมกันว่า ทุกประเทศในอาเซียนควรมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อให้การศึกษาในกลุ่มอาเซียนมีคุณภาพมากขึ้น และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศได้พัฒนาครูโดยใช้กระบวนการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันอยากให้มีการกระตุ้นและส่งเสริมบทบาทของครูในการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กโดยรวมในทุกด้าน ที่สำคัญอยากให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องส่งเสริมสวัสดิการและดูแลครูให้อยู่ในสภาพที่ดี โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทั้ง 10 ประเทศในอาเซียนให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อให้การศึกษาในภูมิภาคมีคุณภาพ
          ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าสิ่งที่จะทำให้การศึกษาเกิดคุณภาพประกอบด้วย 4 ประการสำคัญคือ คุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพหลักสูตรและสิ่งแวดล้อมในการเรียน สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนส่งเสริม และครูที่ดี ที่จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงต้องมีการกระจายครูอย่างเป็นธรรมไม่ใช่กระจุกอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ทั้งนี้ที่ประชุมยังมีความเชื่อด้วยว่าคุณภาพการศึกษาของภูมิภาคจะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นความร่วมมือกันทั้งภูมิภาค
          "ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าคุณภาพการศึกษาขึ้นอยู่กับครูเป็นหลัก โดยครูต้องเป็นครูที่มีคุณภาพ หมายถึงการศึกษาจะมีคุณภาพได้ขึ้นอยู่กับครูที่มีคุณภาพ ซึ่งที่ประชุมยังได้ย้ำถึงบทบาทของครูว่า ต้องมีบทบาทการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนพัฒนาการของเด็กให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และอยากให้ครูมองไปในอนาคตให้มากขึ้น" ประธานคณะกรรมการคุรุสภา กล่าวและว่า หลังจากนี้จะมีการประมวลผลสรุปทั้งหมดจากการประชุม และจัดทำเป็นข้อเสนอทั้งจากที่ประชุมโดยตรง และข้อเสนอจากกรรมการคุรุสภา จากนั้นจะพิจารณาว่าส่วนใดจะนำเสนอต่อสาธารณชน หรือส่วนใดจะเสนอรัฐบาล และส่วนใดที่คุรุสภาจะสามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อผลักดันให้ข้อตกลงเกิดเป็นผลได้จริง.
เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 ต.ค. 2556

ศธ.หนุนเรียนภาษามลายู

          ปัตตานี : "จาตุรนต์" เปิดสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์และเสวนานานาชาติ "ภาษามลายูอาเซียน" หวังใช้เป็นตัวเพิ่มศักยภาพการศึกษา เพิ่มศักยภาพการพัฒนาประเทศหลัง เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์และเสวนานานาชาติเรื่อง "ภาษามลายูอาเซียน" ว่าตามนโยบายของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการเปิดมิติใหม่ของการพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความสอดคล้องกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของประชาชน ดังนั้น การเปิดสถาบันภาษามลายูจึงเป็นการเพิ่มความรู้และเปิดโอกาสในการสื่อสารมากขึ้น ความจริงการสอนมลายูไม่ใช่เรื่องใหม่ ได้ประกาศนโยบายไปแล้วเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา โดยได้ประกาศนโยบายส่งเสริมการสอนภาษามลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ เพราะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมากพูดภาษามลายูกลาง สามารถใช้ภาษาเป็นพื้นฐานในการศึกษาหาความรู้ต่างๆ และใช้ในการติดต่อสื่อสารกับประชาชนอีกหลายประเทศที่ใช้ภาษามลายูกลาง ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือ คบค้าสมาคม แลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆร่วมกัน
          นอกจากการเรียนการสอนนำ ร่อง 2 ภาษาคือ ภาษามลายูถิ่นและภาษาไทย โดยต้องการให้สอนภาษามลายูถิ่นแก่เด็กนักเรียนก่อนการสอนภาษาไทย จะได้ผลดีกว่าที่จะเริ่มต้นสอนด้วยภาษาไทย ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาการสอนกันต่อไป ในขณะที่การสอนภาษามลายูกลางเป็นเรื่องที่มีความคืบหน้าไปมากพอสมควร จึงเป็นเรื่องน่ายินดีเพราะรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกคน ทุกฝ่ายเป็นพลังสร้างสรรค์ในการพัฒนาประเทศชาติอย่างแท้จริง  ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการสอนภาษามลายู ภาษาไทย หรือภาษาต่างประเทศตามความหลากหลายของสภาพแต่ละพื้นที่
ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

ครูร้องหลักสูตรใหม่ตัดวิชานาฏศิลป์

          ผศ.ดร.รวิวรรณ วรรณวิไชย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า จากการจัดระดมความคิดเห็นเรื่อง "ร่างหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานฉบับใหม่...เหตุใดการศึกษาไทย จึงไร้รายวิชานาฏศิลป์" โดยเชิญตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาชี้แจงเหตุผลหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่มีวิชานาฏศิลป์ นั้น สพฐ.ชี้แจงว่าเป็นเพราะปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ จากโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซา ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงพยายามยกระดับเด็กไทยให้มีคะแนนในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาสูงขึ้น โดยลดกลุ่มสาระการเรียนรู้จาก 8 กลุ่มสาระฯ เหลือ 6 กลุ่มสาระฯ คือ ภาษาและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์  การดำรงชีวิตและโลกของงาน ทักษะสื่อสารและการสื่อสาร สังคมและความเป็นมนุษย์ และอาเซียนภูมิภาคและโลก ซึ่งคณาจารย์ นิสิต นักศึกษาด้านศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานด้านนาฏศิลป์ เห็นว่าการที่สพฐ.ตัดวิชานาฏศิลป์ออกเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ดังนั้น ปลายเดือนตุลาคมนี้จะรวมตัวกันยื่นหนังสือต่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ. เพื่ออธิบายความสำคัญของการเรียนวิชานาฏศิลป์ให้ทราบ
          "วิชานาฏศิลป์ ถือเป็นวิชาที่รักษาวัฒนธรรมของประเทศ ไม่มีประเทศเจริญแล้วที่ไหน ตัดรายวิชานาฏศิลป์ของชาติออกเหมือนเช่นประเทศไทย เพราะวิชานาฏศิลป์เสริมสร้างให้ประเทศเขาเข้มแข็ง ทำให้เยาวชนเข้าใจรากเหง้าของตัวเอง ก่อนจะเติบโตไปสู่การพัฒนาด้านอื่น ๆ ที่มีความทันสมัย ซึ่งการรักษาวิชานาฏศิลป์ให้คงอยู่ถือเป็นการรักษาวัฒนธรรมประเทศชาติ  นอกจากนี้จะแน่ใจได้อย่างไรว่าเมื่อตัดวิชานาฏศิลป์ออกไปแล้ว ผลคะแนนพิซาของเด็กไทยจะสูงขึ้น และถ้าผลคะแนนพิซาของไทยสูงเยี่ยมติดอันดับ 1 แต่ประเทศไร้วัฒนธรรมประจำชาติ เราจะภาคภูมิใจกันไหม" ผศ.ดร. รวิวรรณ กล่าว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


สพฐ.นำร่องห้องไอที 20 ร.ร.ทั่วปท.

          เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มี นโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำร่องจัดทำห้องเรียนแบบ smart classroom หรือห้องเรียนที่ใช้อุปกรณ์ไอซีที มาช่วยจัดการเรียนการสอนเต็มรูปแบบขึ้น โดยนายจาตุรนต์ต้องการให้ศึกษาข้อดี และข้อเสีย เพื่อดูว่า smart classroom ส่งผลต่อผล สัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอย่างไร เพื่อนำผลการศึกษามาเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจว่าจะดำเนินการโครงการจัดสร้าง smart classroom ในโรงเรียนทั่วไปหรือไม่ และขณะนี้กำลังจัดทำคุณลักษณะของ smart classroom ต้นแบบอยู่
          "เบื้องต้น สพฐ.ตั้งใจนำร่องพร้อมกับ 5 ภูมิภาค รวม 20 โรง เฉลี่ยภูมิภาคละ 4 โรง ครอบคลุมโรงเรียนประถมและมัธยม รวมถึงโรงเรียนทุกประเภท ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และโรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์จัดการศึกษาระดับเด่นและด้อย เพื่อเปรียบเทียบว่าการนำ smart classroom มาใช้ส่งผลต่อนักเรียนของโรงเรียนแต่ละประเภทอย่างไร คาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้ในภาคเรียน 1 ปีการศึกษา 2557" นายอภิชาติกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: