วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สพฐ.เล็งคัดผอ.สพม.-สพป. 30 ตน.ว่าง

 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งหน้า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเสนอแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (ผอ.สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ผอ.สพม.) เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่หรือเกษียณอายุราชการ จากนั้นประมาณ 1-2 เดือนจะเปิดสอบคัดเลือกแต่งตั้ง ผอ.สพป.และ ผอ.สพม.เฉพาะตำแหน่งที่ว่างอยู่ประมาณ 30 อัตราจากอัตราที่ว่างทั้งหมด 47 ตำแหน่ง ซึ่งตำแหน่งที่จะเปิดสอบจะไม่รวม 19 ตำแหน่ง ที่อยู่ ระหว่างขั้นตอนการฟ้องร้องในศาลปกครอง หากศาลปกครองมีคำสั่งออกมาให้ผู้ฟ้องชนะ สพฐ.ก็ยังมีอัตรา เพื่อบรรจุกลุ่มที่ฟ้องได้แต่หากคำพิพากษาออกมาว่าดำเนินการชอบก็สามารถดำเนินการคัดเลือกอีกครั้งหนึ่งหรือเรียกผู้ที่สอบขึ้นบัญชีมาบรรจุแต่งตั้งได้
          เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สพฐ.ดำเนินการให้เปิดสอบแข่งขันคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยหลังจากการโยกย้ายข้าราชการครูประจำปี 2556 ซึ่งการเปิดสอบแข่งขันจะจัดสรรจากอัตราเกษียณอายุราชการประจำปี 2556 ที่ สพฐ.ได้รับคืนมาประมาณ 13,000 อัตรา จะแบ่งการสอบแข่งขันเป็น 2 ส่วนคือ การสอบแข่งขันคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วยกรณีทั่วไปประมาณ 75% จากอัตราเกษียณที่ได้รับจัดสรรคืนมา และกรณีการสอบแข่งขันคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษหรือ ว12 ประมาณ 25% จากอัตราเกษียณ ซึ่งน่าจะเปิดสอบใหม่ได้ประมาณ 1 พันอัตรา ทั้งนี้ ในการเปิดสอบคัดเลือกรอบใหม่นี้จะใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกตามที่ ก.ค.ศ.กำหนดเหมือนเดิม อาทิ สพฐ.ไม่ได้ดำเนินการออกข้อสอบ และตรวจข้อสอบเองแต่จะให้เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ และการสอบจะเพิ่มการสอบสัมภาษณ์หรือการสอบภาค ค จากเดิมที่มีแค่การสอบข้อเขียนภาค ก และภาค ข เท่านั้น
          แหล่งข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ.กำลังรวบรวมรายละเอียดกรณีที่กลุ่มอดีตครูผู้ช่วยยื่นฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองจากกรณีที่ถูกให้ออกจากราชการโดยมิชอบประมาณ 3 ราย โดย ก.ค.ศ.จะต้องทำคำชี้แจงไปยังศาลปกครองตามกระบวนการและขั้นตอนที่ศาลปกครองกำหนด ส่วนกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ทำหนังสือแจ้งมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขอให้ ก.ค.ศ.แจ้งให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการตรวจสอบบุคคลที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในตำแหน่งครูผู้ช่วยจำนวน 2,161 ราย ที่อาจมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น สัญญาจ้างที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการสอนมีระยะเวลารวมกันไม่ครบ 3 ปีนั้น ขณะนี้ได้มีการขอข้อมูลเพิ่มเติมจากดีเอสไอและจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ก.ค.ศ. 30 ตุลาคมนี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

สพฐ.เตรียมจัดทัพเขตพื้นที่

          นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในเร็ว ๆ นี้ ตนจะเสนอโยกย้ายผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทดแทนในตำแหน่งที่ว่างหรือเกษียณอายุราชการ จากนั้นจะดำเนินการสอบแทนตำแหน่งที่ว่าง 47 อัตราทั่วประเทศ ส่วนกรณีของกลุ่มรอง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 20 รายที่สอบในตำแหน่ง ผอ.สพท.ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ขณะนี้คดียังไม่สิ้นสุดก็ต้องรอฟังผลก่อนว่า ศาลจะมีคำสั่งเช่นไร หากพิพากษาให้ผู้ร้องชนะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ต้องเตรียมอัตราเพื่อบรรจุให้ แต่หากมีคำพิพากษาว่าการดำเนินการที่ผ่านมาชอบแล้ว สพฐ.ก็สามารถดำเนินการจัดสอบอีกครั้งหรือเรียกจากผู้ที่ขึ้นบัญชีได้
          เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ภายหลังเสร็จสิ้นการโยกย้ายดังกล่าวแล้ว สพฐ.จะเตรียมการจัดสอบแข่งขันบรรจุบุคคลดำรงตำแหน่งราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ และเหตุจำเป็น ว 12 ประจำปี 2556 ซึ่งจะคัดเลือกจากพนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว ที่ปฏิบัติงานอยู่แล้ว มากกว่า 3 ปี ซึ่งครั้งนี้น่าจะสอบคัดเลือกถึงกว่า 1,000 อัตรา โดยจะมอบให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้ดำเนินการ และจะมีการเพิ่มการสอบสัมภาษณ์เข้าไปด้วย จากเดิมที่การสอบแข่งขันคัดเลือกครูผู้ช่วย ว 12 ประจำปี 2555 ไม่มีการสอบสัมภาษณ์.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

'คุรุสภา'รุกพีอาร์เรื่องใบวิชาชีพครูแต่งตัวรับอาเซียน

          นายก๊ก ดอนสำราญ รองเลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า การทำงานของคุรุสภา จำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารที่ดี เพื่อให้สมาชิกทั่วประเทศเกิดความเข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเพราะมีครูเป็นล้านคน ถ้าสื่อสารไม่ดีพอก็จะเป็นปัญหาคอขวดและเป็นจุดบอดได้ อย่างไรก็ตาม การทำงานของคุรุสภาถึงแม้ว่าจะทำดีขนาดไหนถ้าไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดีก็ไม่ได้ผล ดังนั้น คุรุสภา จึงเปิดช่องทางประชาสัมพันธ์โดยนำสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ และเอสเอ็มเอสมาใช้เพื่อให้ครูทั่วประเทศสามารถติดตามข่าวสารได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายประชาสัมพันธ์คุรุสภาในทุกเขต ทุกจังหวัด ช่วยกระจายข่าวให้ครูได้รับรู้ข้อมูล โดยตนจะเสนอต่อที่ประชุมกรรมการคุรุสภาว่าควรมีการจัดประชุมเครือข่ายประชาสัมพันธ์ 4 ภาคเพื่อสร้างความเข้าใจในการทำงานต่อไป
          "ขณะนี้คุรุสภากำลังจัดทำระบบข้อมูลสืบค้นบนเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาสมาชิกคุรุสภาและผู้สนใจ สามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพทางการศึกษารวมถึงข้อมูลต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ และเพื่อความสะดวกในการสื่อสารกับเพื่อนสมาชิกด้วย"
          รองเลขาธิการคุรุสภา กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังได้เตรียมการประชาสัมพันธ์คุรุสภา ซึ่งเป็นสภาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาของประเทศไทย ให้เป็นที่รับรู้ของประเทศเพื่อนบ้าน ในโอกาสที่จะเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยจะจัดทำเอกสารเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และความคืบหน้าการทำงานของคุรุสภา เป็นภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียนด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


สพฐ.โต้ตัดงบโรงเรียนตกประเมินชี้เงินรายหัวเด็กห้ามแตะ - ถกก.ค.ศ.เด้งผอ.ห่วย

          นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่นายอภิชัย พันธเสน ผอ.สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม เปิดเผยข้อมูลผลการวิจัยเรื่องพัฒนาการของ การทดสอบระดับชาติ และการประกันคุณภาพระดับ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีนายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นหัวหน้าคณะวิจัย โดยระบุในส่วนของการประกันคุณภาพว่า โรงเรียนส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ตัวชี้วัด และเน้นบทลงโทษที่ผิดวัตถุประสงค์ เช่น หากโรงเรียนไม่ผ่านการประเมินภายนอกจะถูกตัดงบประมาณ ส่งผลให้โรงเรียนไม่มีงบประมาณมาพัฒนาคุณภาพ จึงเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงโทษผู้บริหารเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาว่า ตั้งแต่มารับตำแหน่งเลขาธิการ กพฐ. ไม่เคยได้รับรายงานเกี่ยวกับการตัดงบประมาณ เพื่อเป็นบทลงโทษโรงเรียนสังกัดสพฐ. ที่ไม่ผ่านการประเมิน คิดว่าประเด็นนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะจะให้สพฐ.ไปตัดงบประมาณส่วนไหน
          เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า งบฯปกติที่โรงเรียนจะ ได้รับการจัดสรรคือเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้น พื้นฐาน หรือค่าใช้จ่ายรายหัวผู้เรียน ซึ่งโรงเรียนอยู่ได้ ด้วยงบฯนี้ ตัดไม่ได้เด็ดขาดเพราะผิดกฎหมาย ส่วนงบฯ อื่นๆ ทั้งงบฯพัฒนาสถานศึกษา ก่อสร้างซ่อมแซมอาคารสถานที่ หรืองบฯอบรมต่างๆ นั้น อาจถูกตัดหรือปรับลดได้ตามดุลพินิจของสำนักงบประมาณ หรือชั้นพิจารณาของกรรมาธิการ
          "ส่วนการพิจารณาโยกย้ายผู้บริหารหากไม่มีคุณภาพ สพฐ.ต้องย้ายออกอยู่แล้ว เพราะเท่าที่ทราบมา ปัจจุบันมีอยู่ไม่น้อยที่เป็นระดับผู้บริหาร แต่หาโรงเรียนไม่เจอ บริหารผ่านโทรศัพท์ แต่คำถามคือ แล้วจะย้ายไปไว้ไหน เพราะไปไหนก็คงมีปัญหาเหมือนเดิม ดังนั้น หากจะดำเนินการในเรื่องนี้ได้ สพฐ.ต้องไปตกลงกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า กำลังพลเสื่อมเหล่านี้จะจัดการอย่างไร" เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ข่าวสด ฉบับวันที่ 25 ต.ค. 2556

ไม่มีความคิดเห็น: