วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ค้านหลักสูตรใหม่ 6 กลุ่มความรู้ องค์กรครูจี้ปรับเนื้อหาเดิมปี '03

นายจำเริญ พรหมมาศ ผู้ช่วยเลขาธิการองค์กรเครือข่ายร่วมพัฒนาการศึกษาของชาติ เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยปรับจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็น 6 กลุ่มความรู้ ว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องปรับหลักสูตร เพราะเพิ่งจะมีการปรับเมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น แต่หากจำเป็นต้องปรับจริงๆ ควรนำหลักสูตรปี 2503 มาปรับปรุงใหม่ ดีกว่ายกร่างใหม่ เพราะหลักสูตรปี 2503 ระบุชัดเป็นรายวิชา เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และสุขศึกษา แต่หลักสูตรที่กำลังจะปรับใหม่นั้น วิชาเหล่านี้กลับหายไปหมด โดยเฉพาะวิชาหน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์ และศีลธรรม ซึ่งจะเป็นวิชาที่ฝึกให้เด็กมีวินัย และเกิดความรักชาติ มีความประพฤติไปในทางที่ถูกต้อง
          "การปรับหลักสูตรใหม่ครั้งนี้ ถือว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ผมไม่อยากให้คนข้างบนคิดไปคนเดียว อยากให้ผู้ปฏิบัติได้มีส่วนรับรู้ และแสดงความคิดเห็นด้วย เพราะไม่เช่นนั้นจะเหมือนการสร้างโลงศพที่ผู้ทำไม่ได้ใช้ ผู้ใช้ไม่ได้ทำ อีกทั้งชื่อวิชาใน 6 กลุ่มความรู้ ก็ยาวเกินไป ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ระบุชัดเป็นรายวิชา" นายจำเริญ กล่าว และว่า หากต้องการให้การศึกษามีคุณภาพอย่างแท้จริง จะต้องปรับโครงสร้าง ซึ่งอยากเรียกร้องให้นำกรมวิชาการกลับมาเหมือนเดิม เพราะถูกยุบไปจึงทำให้หลักสูตรปัจจุบันสะเปะสะปะ เพราะไม่มีเจ้าภาพหลัก
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

เปิด 4 ทางปรับแผนเงินเดือนพนง. สำนักงบฯตั้งงบเบิกจ่ายปี'57

          เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินปรับเพิ่มตามคุณวุฒิในปีงบประมาณ 2555-2556 ให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่ ครม.มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายเงินปรับเพิ่มคุณวุฒิให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 จำนวน 54,801 คน จากมหาวิทยาลัยรัฐ จำนวน 79 แห่ง แต่ในปีงบประมาณ 2556 สำนักงบประมาณขอให้มหาวิทยาลัยใช้งบเหลือจ่ายของมหาวิทยาลัยเบิกจ่ายเอง และจะตั้งงบให้ในปีงบประมาณ 2557 ทำให้มหาวิทยาลัยไม่กล้านำเงินรายได้จ่ายให้กับพนักงาน เพราะเกรงว่าจะกระทบกับโครงการอื่นๆ ว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้หารือกับสำนักงบประมาณ ได้ข้อสรุปเบื้องต้น ว่า สำนักงบประมาณจะไม่สามารถตั้งงบชดเชยให้มหาวิทยาลัยที่จ่ายเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยไปแล้วในปีงบประมาณ 2556 ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ แต่จะตั้งงบเบิกจ่ายให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เป็นต้นไป โดยมีแนวทางให้มหาวิทยาลัยดำเนินการ 4 แนวทาง คือ 1.กรณีมหาวิทยาลัยที่ได้นำเงินรายได้จ่ายไปแล้ว จะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายในโครงการอื่นๆ ได้ 2.สำหรับสถาบันอุดมศึกษา 10 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กาญจนบุรี มรภ.เชียงราย มรภ.นครปฐม มรภ.นครศรีธรรมราช มรภ.บุรีรัมย์ มรภ.พระนคร มรภ.ยะลา มรภ.สงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และ มทร.รัตนโกสินทร์ ได้ใช้เงินรายได้ ของมหาวิทยาลัยจ่ายเงินเดือนพนักงานในปีงบประมาณ 2556 ไปแล้ว โดยได้ปรับแผนโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยและเสนอของบจัดซื้อครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างเพิ่มซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบตามที่เสนอ
          นายเสริมศักดิ์กล่าวต่อว่า 3.กรณีมหาวิทยาลัยไม่มีเงินเหลือจ่ายในปีงบประมาณ 2556 สามารถขอปรับแผนการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ 2557 โดยอาจจะเสนอ ขอเป็นงบจัดซื้อครุภัณฑ์แทน และขอรับการจัดสรรงบประมาณในส่วนที่ขาดในปีงบ ประมาณ 2558 ได้ และ 4.กรณีอัตราว่างของพนักงานมหาวิทยาลัย ณ วันที่ 1 มกราคม 2555 ซึ่งสำนักงบประมาณไม่ได้จัดสรรงบสำหรับปรับเพิ่มตามคุณวุฒิให้ แต่ภายหลังมหาวิทยาลัยได้บรรจุพนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว สถาบันอุดมศึกษาก็สามารถพิจารณาใช้จ่ายจากงบประมาณปี 2557 หากไม่เพียงพอ ก็สามารถขอรับการจัดสรรในปีงบประมาณ 2558 ได้ตามจำนวนที่ยังขาดอยู่
          "สกอ.ได้สำรวจข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีสถาบันอุดมศึกษาที่ได้เบิกจ่ายเงินให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย ในปี 2555 แล้ว จำนวน 17 แห่ง ยังไม่ได้ดำเนินการ 62 แห่ง สำหรับปี 2556 มีสถาบันอุดมศึกษาเบิกจ่ายเงินแล้ว 11 แห่ง และยังไม่ได้ดำเนินการอีก 68 แห่ง หากมหาวิทยาลัยต้องการจะปรับงบการลงทุนสำหรับปีงบประมาณ 2558 เพื่อชดเชยเงินที่สำรองจ่ายไป ตามคำแนะนำของสำนักงบประมาณจะต้องยื่นเรื่องผ่าน สกอ. ไปยังสำนักงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน" นายเสริมศักดิ์กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ครู คุรุสภา จับมือกับการศึกษาทางไกล

          นายสุรศักดิ์ เพิ่มผล ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทางไกล สำนักงาน กศน. เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดศธ.ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาในการจัดการเรียนการสอนการศึกษาทางไกล ประเภทการศึกษาต่อเนื่อง หลักสูตรการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้แก่ครูผู้สอน ให้สามารถดำเนินการวิจัยและนำผลการวิจัยมาใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน และสามารถนำวุฒิบัตรรับรองความรู้ที่ออกโดย 2 องค์กรไปเป็นหลักฐานประกอบ ในการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู รวมทั้ง สามารถใช้ผลงานการวิจัยไปพัฒนาเป็นงานวิชาการเพื่อประกอบการประเมินวิทยฐานะได้ โดยหลักสูตรการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้กำหนดให้ผู้เรียนสามารถเรียนด้วยตนเองได้จากสื่อ ประกอบด้วย ชุดการเรียน และวีดิทัศน์ มีการทำแบบฝึกหัด และจัดทำรายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์ รวมทั้งกำหนดให้ผู้เรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรมการสัมมนาการวิจัยก่อนจบหลักสูตร 2 วัน ทั้งนี้ เพื่อทดสอบความรู้และเสริมเติมเต็มความรู้เกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน โดยเชิญวิทยากรผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญงานวิจัยมาเป็นผู้ให้ความรู้ ซึ่งสถาบันศึกษาทางไกล ร่วมกับ คุรุสภาได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนไปแล้ว 9 รุ่น มีผู้ลงทะเบียนเรียนทั้งสิ้น จำนวน 1,306 คน
ที่มา: http://www.naewna.com


รมว.ศธ.ชี้ไทยต้องปฏิรูปการศึกษา

          รามคำแหง : "จาตุรนต์" ชี้ 10 ปี การศึกษาไทยไม่ไปไหน ต้องเร่งปฏิรูปการศึกษา เผยที่ผ่านมาไม่มีการปฏิรูปการศึกษาจริงจัง เน้นการจัดองค์กรมากกว่า
          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังให้นโยบายการปฏิรูปการศึกษาในพิธีเปิดการสัมมนาอาจารย์แนะแนวจากโรงเรียนมัธยมศึกษาว่า รัฐบาลมีนโยบายในการ "ปฏิรูปการศึกษา" ที่ได้ยินกันมาตลอด จนทำให้รู้สึกเคยชินและเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่การปฏิรูปการศึกษามีหลายด้านและหลายแง่มุม ซึ่งมีความสำคัญต่ออาจารย์แนะแนว เนื่องจากการจะปฏิรูปการศึกษาได้นั้นจะต้องมีการสื่อสารกับครูและอาจารย์ในระบบการศึกษา
          ทั้งนี้ การปฏิรูปการศึกษาในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมามีการออกเป็นพระราชบัญญัติการศึกษา การปรับองค์กรเกี่ยวกับการศึกษากันใหม่ จากที่มีองค์กรรับผิดชอบด้านการศึกษาที่อยู่ต่างที่กัน เช่น ศธ. ซึ่งจะมีสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และมีกรมต่างๆประมาณ 13 กรม มีสภาการศึกษาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีทบวงมหาวิทยาลัยที่เป็นหน่วยงานแยกออกไป โดยมีรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัยดูแล เป็นต้น ทำให้มีการจัดองค์กรกันใหม่ กลายเป็นกระทรวงศึกษาธิการเช่นในปัจจุบัน ที่นำทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานสภาการศึกษา เข้ามารวมอยู่ในความดูแลของ ศธ. การจัดให้เป็น 5 องค์กรหลักที่มีข้าราชการระดับ 11 คือ ระดับปลัดกระทรวง 5 คน แต่ละคนไม่ขึ้นต่อกัน และรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง
          การจัดองค์กรดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบต่อการย้ายและการจัดองค์กรอื่นๆ เนื่องจากมีการ ตั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่รวมกรมสามัญศึกษา กรมวิชาการ และสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง ในการปรับเปลี่ยนนี้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการมาก เพราะต้องมีกฎหมายและระเบียบรองรับ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น: