วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ศธ.เห็นชอบ 8 ยุทธศาสตร์ สพฐ.พัฒนาเรียนอังกฤษ

ศธ.เห็นชอบ 8 ยุทธศาสตร์ พัฒนาการเรียนภาษาอังกฤษของ สพฐ. เน้นสื่อสาร ใช้ประโยชน์ได้จริง และเตรียมจัดค่ายอบรมภาษา 77 ค่ายๆ ละ 1 จังหวัดทั่วประเทศ
          วานนี้ (21 ต.ค.) นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นนฐาน(สพฐ.)เสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ พ.ศ.2556-2561 ใน 8 ยุทธศาสตร์หลัก คือ
          1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาและสร้างครู ทั้งครูวิชาเอกภาษาอังกฤษ และพัฒนาครูที่ไม่ใช่วิชาเอกภาษาอังกฤษ รวมถึงสร้างครูรุ่นใหม่ และจัดหาครูชาวต่างชาติ/ครูเจ้าของภาษามาสอนเพื่อพัฒนาครูและนักเรียน
          2.พัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ระดับผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการโรงเรียน รวมถึงศึกษานิเทศก์ ที่ปัจจุบันจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารมากขึ้น
          3.พัฒนาและส่งเสริมการใช้สื่อนวัตกรรม
          4.พัฒนาหลักสูตร/การจัดการเรียนรู้โครงการพิเศษ ทั้งการพัฒนาหลักสูตร English Program (EP), Mini English Program (MEP) ให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มจำนวนโรงเรียน EP และ MEP เพิ่มจำนวนห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ พัฒนาห้องเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารแบบเข้ม รวมถึงพัฒนาหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพสำหรับนักเรียนขยายโอกาส
          5.ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการ
          6.พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ระหว่างภาคเรียนและปิดภาคเรียน โดยเฉพาะค่ายภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องจัดอย่างน้อย 3 สัปดาห์ โดยที่ผ่านมา สพฐ.ได้ทดลองลงไปจัดค่ายภาษาอังกฤษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ ดังนั้น สพฐ.ตั้งเป้าว่าในช่วงปิดภาคเรียนจะจัดค่ายภาษาอังกฤษจำนวน 77 ค่าย ๆ ละ 1 จังหวัด ใช้งบประมาณ 35 ล้านบาท
          7.การประเมินผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน โดยเร่งพัฒนาคลังข้อสอบ จัดสอบวัดระดับความรู้ ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และม.6 และ
          8. การวิจัยเพื่อพัฒนา โดยจะนำรูปแบบประเทศที่สามารถจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้ประสบความสำเร็จ มาวิจัยเพื่อพัฒนาปรับใช้กับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย
         
          “เบื้องต้นจะลงไปดูประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น สิงคโปร์, บรูไน ดารุสซาลาม, มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งวิธีการสอนภาษาอังกฤษใน 3 แนวทาง คือ 1 สอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 2 สอนภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน และ3 สอนภาษาอังกฤษขั้นสูง สำหรับใช้ในการเรียนต่อระดับปริญญาโท และเอก ซึ่งขณะนี้บ้านเราเน้นสอนภาษาอังกฤษขั้นสูง คือเรียนเหมือนกันทุกคน ทั้งที่ความจริงแล้วทุกคนไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนกันหมด แต่ควรจะเน้นการเรียนที่สามารถนำไปใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันได้จริง โดย รมว.ศึกษาธิการ เน้นย้ำว่า จากนี้ทุกสังกัดจะต้องส่งเสริม และพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะการจัดห้องเรียน Intensive อย่างเข้มข้น ให้นักเรียนได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารมากขึ้น เพิ่มจำนวนผู้เรียนที่เรียนภาษาอังกฤษและสามารถนำไปใช้ได้จริง ๆ มากขึ้น ไม่ใช่ว่าให้เด็กเรียนแต่กลับไม่สามารถใช้ในการสื่อสารได้จริง”รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (Th)

สพฐ.เร่งฟื้นฟูโรงเรียนหลังน้ำลด
          สพฐ.เตรียมงบฯ 70ล้านบาทฟื้นฟูโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เบื้องต้นรายงานความเสียหายแล้วทั่วประเทศกว่า 300 โรง รอสรุปความเสียหายจากปราจีน-ฉะเชิงเทราก่อน คาดต้องขอใช้งบฯกลางเพิ่มอีกกว่า 100 ล้านบาท
          วานนี้ (21ต.ค.) นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ พบว่าส่วนใหญ่ที่เสียหายมากที่สุดจะเป็นพวกครุภัณฑ์ อุปกรณ์การเรียนการสอน และหนังสือที่เก็บไม่ทันเพราะน้ำมาตอนกลางคืนและเร็วมาก ส่วนถนนบริเวณโรงเรียนก็ได้รับความเสียหาย แต่ก็ไม่ถือว่าเสียหายมากนัก อย่างไรก็ตามจากรายงานล่าสุดที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้รับพบว่ามีโรงเรียนรายงานความเสียหายเข้ามาแล้วกว่า 300 โรง แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปความเสียหายทั้งหมดได้เพราะยังมีโรงเรียนในจังหวัดปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา ที่ยังถูกน้ำท่วมอยู่ซึ่งต้องรอให้น้ำลดก่อนจึงจะทราบความเสียหายและรายงานเข้ามาได้
          เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดูแลซ่อมแซมความเสียหายเบื้องต้น สพฐ.ได้มีการกันงบประมาณปี 2556 ไว้แล้ว จำนวน 70 ล้านบาท ซึ่งจะเร่งจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนโดยเร็ว เพื่อซ่อมแซมในส่วนที่จำเป็นก่อน โดยเฉพาะห้องน้ำ และอาคารเรียน เพื่อให้สามารถทำการเรียนการสอนได้ โดยจะไม่เลือกว่าจะต้องลงไปที่จังหวัดใดก่อน อย่างไรก็ตามปีนี้คาดว่าความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยและวาตภัยจะไม่หนักเท่าปี 2554 โดยเชื่อว่ารัฐบาลและสพฐ.จะสามารถดูแลความเสียหายได้ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเพื่อการนี้ประมาณ 200 ล้านบาท โดยส่วนที่เกิน 70 ล้านบาท นั้น รัฐบาลได้อนุมัติให้สพฐ.สามารถของบกลางได้ ซึ่งนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้ให้นโยบายไว้แล้วว่าในส่วนของงบกลางนั้นให้ขอตามความจำเป็น ดังนั้นสพฐ.ก็จะมาพิจารณาในส่วนที่จำเป็นจริง ๆ ก่อน
ที่มา: http://www.dailynews.co.th


แนะ สทศ.ทำ e-testing มาตรฐาน / โทษย้าย ผอ.รร.ตกประกันคุณภาพ
          นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัย เรื่องพัฒนาการของการทดสอบระดับชาติและการประกันคุณภาพระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยผลการวิจัยฯ ว่าการทดสอบระดับชาติโดย สทศ.ยังมีปัญหาด้านมาตรฐานการทดสอบ โดยเฉพาะข้อทดสอบด้านพุทธิปัญญาหรือกระบวนคิด และแบบทดสอบยังไม่เสถียร ไม่สอดคล้องกับวิวัฒนาการในระดับนานาชาติ เพราะบุคลากรในการทดสอบของรัฐ มีปรัชญาในการประเมินที่แตกต่างจากนานาประเทศ อีกทั้งหน่วยงานคู่สัญญาขาดความชำนาญในการปฏิบัติงาน เช่น ระบบการกลั่นกรองข้อสอบ ระบบจัดพิมพ์ ระบบรายงานและวิเคราะห์ รวมถึงขาดการควบคุมคุณภาพการดำเนินงานและการวิจัยเพื่อประเมินคุณภาพด้วย
          "มีข้อเสนอให้ สทศ.ปรับปรุงจัดทดสอบ e-testing ที่ได้มาตรฐาน มีการทำคลังข้อสอบ และตรวจสอบคุณภาพก่อนนำไปใช้ มีความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ และการเผยแพร่การทดสอบ การปรับกระบวนการทดสอบ และประเมินให้สอดคล้องกับสากลตามแนว PISA และควรวัดสมรรถนะเพื่อเตรียมความพร้อมสู่อาเซียนและเวทีโลก"
          นายสมหวัง กล่าวและว่า ส่วนผลการวิจัยเรื่องการประกันคุณภาพระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น พบว่าไม่ใช่เพื่อพัฒนาสถานศึกษา และปรับปรุงการเรียนการสอนของผู้เรียน ซึ่งถือว่าไม่สามารถตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานและมาตรฐานของผู้เรียนได้ จึงเสนอให้ สมศ.กำหนดตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับหลักสูตรและสิ่งที่โรงเรียนทำ
          ด้านนายอภิชัย พันธเสน ผอ.สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม กล่าวว่า งานวิจัยมีข้อเสนอว่าการทดสอบระดับชาติ ควรเป็นการทดสอบที่วัดแบบรอบด้านให้ครอบคลุม 6 ด้าน คือ 1.คุณธรรม จริยธรรม 2.สุขภาวะ 3.ทักษะในการหาความรู้ด้วยตนเอง 4.การคิดวิเคราะห์ คิดเป็นระบบ และสร้างสรรค์ 5.การวัดความรู้ครบตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 6.ความสามารถในการทำงาน ซึ่งปัจจุบันเน้นวัดความรู้ตามหลักสูตรฯ เพียงด้านเดียว ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เด็ก
          นอกจากนี้ผลงานวิจัยยังระบุด้วยว่าเรื่องการประกันคุณภาพฯ ส่วนใหญ่เน้นไปที่ตัวชี้วัด และบทลงโทษที่ว่าหากไม่ผ่านการประเมินก็จะถูกตัดงบประมาณ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกทาง เพราะจะยิ่งทำให้โรงเรียนไม่มีงบฯ พัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ ผู้ที่สมควรถูกลงโทษมากที่สุดคือ ผู้บริหาร ต้องมีการโย
กย้ายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพ
ที่มา: http://www.siamrath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: