วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เสียงสะท้อน!!! คุรุสภาฟื้น ป.บัณฑิต

ข่าวดี!! คุรุสภาฟื้น ป.บัณฑิต
           คอลัมน์ ชีพจรครู
            กลับมาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์
          "ชีพจรครู" ซึ่งสัปดาห์นี้มีข่าวดีมาป่าวประกาศให้เพื่อนครูรับทราบเหมือนเช่นเคย นั่นคือ  การฟื้นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต ต้องบอกว่า เป็นข่าวดีอย่างมาก  เพราะก่อนหน้านี้ทั้งครูและสถาบันการผลิตครูต่างเรียกร้องมาที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาว่าขอให้สถาบันการศึกษาสามารถเปิดสอนหลักสูตรป.บัณฑิตได้  ภายหลังคณะกรรมการคุรุสภาได้มีมติยกเลิกการจัดการสอนไปเมื่อปี 2553  เนื่องจากเกิดปัญหาสถาบันการศึกษาจัดการเรียนการสอนไม่ได้คุณภาพ ทำให้เกิดปัญหาซื้อขาย ป.บัณฑิต  โดยเฉพาะตามศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งต่างๆ ขณะเดียวกันยังรับคนที่ไม่ได้เป็นครูมาเรียนอีกด้วย
          อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะกรรมการคุรุสภาทนเสียงเรียกร้องไม่ไหว จึงได้มีมติเห็นชอบให้เปิดสอนหลักสูตร ป.บัณฑิตอีกครั้ง  นายไพฑูรย์ สินลารัตน์  ประธานคณะกรรมการคุรุสภา กล่าวว่า ขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดหลักสูตร ป.บัณฑิต อีกครั้ง  เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่เป็นครูประจำการ หรือครูจ้างสอน ที่ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 7-8 หมื่นคน แต่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ได้พัฒนาตัวเองเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตฯ โดยที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา วางหลักเกณฑ์และแบบประเมินการติดตามหลักสูตรการเรียนการสอนทางด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์  ซึ่งจะคุมตั้งแต่หลักสูตร จำนวนผู้เรียน รายชื่อผู้เรียน รายชื่อผู้สอนที่จะต้องส่งให้คณะกรรมการคุรุสภาอนุญาตก่อนจึงจะเปิดสอนได้ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถจัดทำหลักเกณฑ์แล้วเสร็จและเริ่มเปิดหลักสูตร ป.บัณฑิตได้อีกครั้งอย่างช้าในปีการศึกษา 2557
          อย่างไรก็ตาม หลักสูตร ป.บัณฑิตที่จะเปิดใหม่นี้ จะเปิดให้เฉพาะคนที่เป็นครูอยู่แล้ว เช่น ครูอัตราจ้างในโรงเรียนต่างๆ ที่ยังไม่มีใบอนุญาตฯ ไม่รับคนทั่วไป โดยจะต้องได้รับการรับรองจากสถานศึกษาว่าได้ทำการสอนจริงๆ นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือถึงเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปิดสอน ป.บัณฑิต โดยเห็นว่าที่ผ่านมาวิชาชีพครูค่อนข้างอะลุ้มอล่วย ทำให้หลายสถาบันจัดการศึกษาไม่มีคุณภาพ ดังนั้น ในอนาคตถ้าต้องการให้วิชาชีพครูมีคุณภาพจริงๆ ต้องดูแลเชิงคุณภาพอย่างเข้มข้น  โดยต่อไปหลักสูตรที่เปิดสอน จะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการคุรุสภาก่อน  และจำนวนผู้เรียนจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น  ขณะเดียวกันหลักเกณฑ์สำหรับสถาบันที่จะเปิดสอน ป.บัณฑิต ก็ต้องเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอน จะต้องมีตัวตนจริงๆ จำนวนผู้สอนกับจำนวนนักศึกษาเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด  และจะอนุญาตให้เปิดสอนเฉพาะในที่ตั้งเท่านั้น ไม่ให้เปิดสอนนอกสถานที่ตั้งเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจัดการศึกษาไม่มีคุณภาพ
          อย่างไรก็ตาม การฟื้นหลักสูตร ป.บัณฑิตดังกล่าว ดูจะมีข้อห่วงใยจากนายสุรวาท ทองบุ ประธานสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่มองว่าคนที่มาเรียน จะเป็นครูประจำการหรือครูจ้างสอนแท้จริงหรือไม่ ดังนั้น  จึงเสนอให้คุรุสภาเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลว่าคนที่ถูกส่งรายชื่อมา เป็นครูที่ปฏิบัติการสอนจริงๆ  วุฒิการศึกษาตรงกับความต้องการ และขาดแคลนครูหรือไม่  เพราะที่ผ่านมาพบปัญหาว่าโรงเรียนรับคนที่จบในสาขาที่แปลก และไม่เหมาะสมมาเป็นครู เช่น สาขาการโรงแรม  สาขาการจัดการ สาขาบริหารธุรกิจ เป็นต้น และส่งคนเหล่านี้มาเรียนหลักสูตร ป.บัณฑิต   ซึ่งคนที่จบสาขาเหล่านี้ อาจไม่ตอบโจทย์ด้านคุณภาพการศึกษาในระยะยาว แต่หากจบวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์  เอกภาษาอังกฤษ แล้วรับมาเป็นครู จะส่งเสริมคุณภาพการศึกษาได้ดีมาก จึงอยากให้เข้มงวดในการรับเข้าเรียน
          เป็นอีกเสียงสะท้อน ที่คุรุสภาคงต้องไปขบคิดเพื่อหาแนวทางการแก้ไขให้ลงตัวและสามารถตอบโจทย์คุณภาพการศึกษาให้ได้มากที่สุด...ที่มา : นสพ.มติชน

“จาตุรนต์” จี้เลื่อนสอบรับตรงหลังเด็กเรียนจบ

          จากกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มีแนวคิดปรับระบบการสอบรับตรงของมหาวิทยาลัย ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งแสดงความไม่เห็นด้วยนั้น นายจาตุรนต์กล่าวว่า เป็นประเด็นที่เสนอต่อสังคมเพื่อให้ช่วยกันคิดว่าระบบที่ดำเนินการกันมาดีหรือไม่ อย่างไร ไม่ได้เป็นนโยบายที่สั่งการมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการ ซึ่งขณะนี้มอบหมายให้จัดวงพูดคุยกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็กำลังขอข้อมูลการรับตรงของทุกมหาวิทยาลัยเพื่อมาพิจารณาถึงภาพรวมทั้งหมด ซึ่งสาเหตุสำคัญที่จุดประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะเป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนและวิพากษ์วิจารณ์กันมานานแล้วว่าระบบการรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทำอยู่เวลานี้ส่งผลกระทบต่อความไม่เป็นธรรมต่อเด็กส่วนใหญ่ที่ทำให้ไม่มีสิทธิ์สอบเข้ามหาวิทยาลัย และยังส่งผลกระทบต่อการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง
          รมว.ศึกษาธิการกล่าวด้วยว่า กรณีที่มหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการสั่งการให้ดำเนินการ แต่เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาที่อยากให้ทำความเข้าใจและเกิดการแลกเปลี่ยน หากเสียงส่วนใหญ่เห็นดีอย่างไรก็ต้องคำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่ และต้องประกาศก่อนล่วงหน้า 3 ปี จึงไม่มีผลต่อเด็ก ม.5-6 ในขณะนี้ แต่สิ่งที่อยากให้ปรับเปลี่ยนโดยเร็วที่สุด ซึ่งสามารถดำเนินการได้คือ เลื่อนสอบรับตรงออกไปหลังเด็กเรียนจบหลักสูตร ไม่ใช่จัดสอบกันขณะที่เด็กยังเรียนไม่จบอย่างเช่นที่หลายแห่งกำลังจัดสอบเวลานี้.
ที่มา: http://www.thairath.co.th


ดีเอสไอ สั่งสอบครูผู้ช่วยกว่า 2 พันราย คุณสมบัติไม่ผ่าน
          กรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งเรื่องถึงกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ตรวจสอบสอบคุณสมบัติครูผู้ช่วย 2,161 ราย หลังพบผู้สมัครสอบบรรจุยังขาดคุณสมบัติ
          นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยถึงผลการดำเนินคดีพิเศษกรณีทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าผู้สมัครสอบคัดเลือกมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งการยื่นเอกสารหลักฐานการสมัครสอบไม่ถูกต้อง หรือขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบ ดีเอสไอ จึงทำหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแจ้งไปยังเขตพื้นที่การศึกษา ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบบุคคลที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 2,161 ราย และหากพบการกระทำความผิดขอให้ดำเนินการทางวินัยและทางอาญากับผู้ที่กระทำความผิดในการสมัครสอบทันที
          สำหรับหลังการสืบสวนสอบสวนพบว่า มีผู้ที่สอบได้และได้รับการบรรจุแต่งตั้งแล้วมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น  ได้แก่
          1. ผู้สมัครสอบได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน หรือหนังสือรับรองสิทธิที่ออกให้โดยคุรุสภา ตามคำสั่งจ้างหรือสัญญาจ้างรวมกันไม่ครบ 3 ปี 
          2. สัญญาจ้างที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการสอนมีระยะเวลารวมกันไม่ครบ  3 ปี
          3. มีการรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครสอบที่ไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย          
          นอกจากนี้ ยังพบว่า ยังมีปัญหาข้อสอบรั่วรวมทั้งมีการนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปภายในห้องสอบ ขณะนี้พบปัญหาเพิ่มผู้ที่สอบได้คะแนนสูงจำนวน 344 คน และคนที่สอบไม่ได้ก็มีปัญหาว่ามีคุณสมบัติที่ไม่ครบ แต่กับได้รับการพิจารณาให้สอบผ่าน ดังนั้นผู้ที่เข้าข่ายต้องถูกดำเนินการเอาผิด คือ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบใบสมัครสอบด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย สุดทีวัล สุขใส/ณัฐชญา อัครยรรยง อีเมล์: natchaya@infoquest.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: