วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

คอลัมน์: สถานีก.ค.ศ.: ก้าวต่อไปของ ก.ค.ศ.

ศิริพร กิจเกื้อกูล
            เลขาธิการ ก.ค.ศ.
          สวัสดีค่ะทุกท่าน...การเดินทางมารับตำแหน่งเลขาธิการ ก.ค.ศ.ในครั้งนี้ ดิฉันรู้สึกดีใจ และต้องขอบคุณ ท่านจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้มาดำรงตำแหน่งที่นี่อีกครั้ง ซึ่งนโยบายของรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล คือการสร้างขวัญกำลังใจและความก้าวหน้าของครูและบุคลากรทางการศึกษาจะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว
          ดิฉันเริ่มปฏิบัติหน้าที่นี้ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 ได้มีการประชุมหารือเรื่องต่างๆ กับผู้บริหาร ในสำนักงานทุกเช้าเช่นเคย เพื่อที่จะเร่งรัดและขับเคลื่อนงานด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และบังเกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน
          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดตามแก้ปัญหากรณีการทุจริตสอบครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว.12) 2) ปรับปรุงระบบการประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน  ปรับปรุงระบบสวัสดิการและการเสริมสร้างขวัญกำลังใจของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และการจัดกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและแก้ปัญหาการขาดแคลนครู นอกจากนี้ ดิฉันจะให้ความสำคัญกับการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ การปฏิบัติงานด้านการบริหารงานบุคคลของผู้ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
          งานเร่งด่วนในช่วงนี้ ดิฉันกำลังเตรียมการประเมินวิทยฐานะตามเกณฑ์เชิงประจักษ์ (ว 13) หรือ (ว 5) จำนวน 1,807 ราย เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้วิทยฐานะสูงขึ้น พร้อมกันนี้ จะเร่งชี้แจงกระบวนการดำเนินการกับการทุจริตสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว 12 ให้เป็นแนวเดียวกันโดยเร็ว
          ส่วนปัญหานิติกรถามเรื่องการอนุมัติให้นิติกรได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (พ.ต.ก.) ว่าคืบหน้าเพียงใด ดิฉันติดตามแล้ว พบว่า สพฐ.ส่งคำขอให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ตรวจสอบคุณสมบัติ 165 ราย เป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด 112 ราย ขอข้อมูลเพิ่มเติม 13 ราย  ทักท้วงคุณสมบัติ 40 ราย โดยได้มีการแจ้งเรื่องกลับไปยัง สพฐ.แล้ว ที่นี่ สพฐ.จะส่งผลงานของผู้มีคุณสมบัติเข้าสู่การประเมิน เสนอประชุมคณะอนุกรรมการวิสามัญเฉพาะกิจฯ เพื่อพิจารณาผลการประเมิน ต่อจากนั้น สพฐ.ส่งผลการประเมินมายังสำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อนำเสนอ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ ซึ่งทำการแทน ก.ค.ศ.พิจารณา แล้วจึงรับรองเป็นขั้นตอนสุดท้าย ที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาอนุมัติให้นิติกรได้รับ พ.ต.ก. ไปแล้ว 25 ราย แบ่งเป็นชำนาญการ 11 ราย ชำนาญการพิเศษ  14 ราย ขณะนี้การดำเนินการคำขอที่เหลืออยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สพฐ.
          หวังว่าทุกคนคงผ่อนคลายความวิตกกังวลลงบ้างนะคะ แล้วพบกันใหม่วันจันทร์หน้า
มติชน ฉบับวันที่ 14 ต.ค. 2556

'ครู' เปลี่ยนโลก
          หลายครั้งที่เสียงสะท้อนจากคนในทุกภาคส่วนทั้งแวดวงการศึกษา ผู้จ้างงาน ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ผู้เรียนเองว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องปฏิรูปมาตรฐานการศึกษาของไทยอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นจาก "ผู้สอน" ก่อนเป็นลำดับแรก การเปิดมุมมองจากผู้รู้นักปฏิบัติที่ "คิด" และ "ลงมือทำ" จากทั้ง 3 ประเทศ ฟินแลนด์ สหรัฐอเมริกา และ ฮ่องกง ก็ทำให้ได้เห็นว่า ทุกอย่างสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง ขอเพียงเริ่มต้น และทำอย่างเป็นระบบ "เราควรสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนการสอนให้ทั้งครู และนักเรียน ให้ความเท่าเทียมกันทางการศึกษาอย่างมากที่สุด ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญกว่าการแข่งขัน และให้เวลาเด็กในการเล่น เพื่อส่งเสริมจินตนาการและสร้างสังคมการเรียนรู้" กล่าวโดย ดร.พาสี ซาลเบิร์ก อธิบดีกรมพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมฟินแลนด์
          "รูปแบบการเรียนรู้เพื่อธุรกิจรูปแบบเก่าๆ ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป เพราะในอดีตเราเตรียมคนเพื่องาน แต่ปัจจุบันเมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงต้องปรับเด็กของเรา ให้เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ได้จริง และยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราจึงต้องใส่ใจในเรื่องของการวิจัยเพื่อปรับเปลี่ยนเรื่องการเรียนรู้ ศึกษาหาความหมายของมันให้ได้ และเรียนรู้จากการกระทำ กิจกรรม และประสบการณ์จากการเรียนรู้"คำกล่าวจาก ศาสตราจารย์ ไค มิง เชง ศาสตราจารย์เกียรติยศด้านคุรุศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง
          "ครู ต้องมีกลยุทธ์ในการสอน และต้องไม่เน้นเนื้อหาเพียงวิชาใดวิชาหนึ่ง ต้องเรียนรู้เนื้อหาให้ได้ทุกๆ วิชา นอกจากนี้ยังต้องคอยสังเกตภายนอกห้องเรียนอยู่เสมอด้วย เพื่อไว้ปรับเปลี่ยนการสอน ไม่ให้เด็กรู้สึกเบี่อ และไม่สนใจเรียน" กล่าวโดย ศาสตราจารย์ ดร. ชารอน ฟีแมน - เนมเซอร์ ศาสตราจารย์ แมนเดล ด้านศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแบรนดีส์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวและว่า ครูต้องมีโมเดล เพื่อให้นักเรียนอยากเรียนรู้ มีแนวทางในการสอนที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง
          3 ผู้รู้ด้านการศึกษาทำให้เห็นแล้วว่า การศึกษาไทยเปลี่ยนได้ด้วย "ครู"
          ในส่วนของประเทศไทย พบว่า สองกรณีศึกษาจาก "ชัชวาลย์ สหัสสพาศน์" และ "นิตยดา อ้อเอก" เป็นตัวอย่างให้เห็นว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ "ผู้รับ" ได้ทั้งความรู้ และเกิดทักษะในเชิงปฏิบัติก็เกิดขึ้นได้จริงจากความตั้งใจ
          การนำ "ดนตรีไทย" มาพัฒนาศักยภาพเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาของ "นิตยดา อ้อเอก" ครูผู้ได้รับ "ทุนครูสอนดี" จาก "โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี" โดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ได้จัดทำ "สื่อสารพัฒนาการเรียนรู้ดนตรีไทย" ให้กับน้องๆ ที่บกพร่องทางสติปัญญา ให้สามารถบรรเลงและขับร้องดนตรีไทย  เนื่องจากเด็กที่บกพร่องด้านสติปัญญามีการรับรู้ที่ช้า จึงทำให้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ครูนิตยดา คิดที่จะนำดนตรีไทยมาใช้เป็นกิจกรรมดนตรีบำบัด เพราะเสียงดนตรีอันไพเราะจากเครื่องดนตรีไทยชนิดต่างๆ จะช่วยดึงดูดเด็กที่มีความสนใจให้เข้ามาหา โดยวงดนตรีไทยของโรงเรียนนครราชสีมาปัญญานุกูล ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีต่างๆ อาทิ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ฯลฯ โดยเด็กแต่ละคนจะเลือกเล่นเครื่องดนตรีที่ตัวเองสนใจได้ตามชอบ ซึ่งเด็กๆ ทุกคนจะได้เรียนดนตรีไทยทุกวันๆ ละ 1 ชั่วโมงหลังเลิกเรียน
          "เทคนิคในการสอนง่ายๆ เริ่มต้นที่ทำให้เด็กรักเราก่อน" ครูนิตยดาเผยถึงเทคนิคในการสอน เพราะ ถ้าเด็กรักเราแล้วเรียกก็ง่าย แต่ถ้าเด็กไม่รักแล้วเรียกอย่างไรก็ไม่มา
          แต่ด้วยเด็กๆ กลุ่มนี้จะมีการรับรู้ที่ช้ากว่าเมื่อเทียบกับเด็กปกติ รูปแบบการสอนเด็กกลุ่มนี้ก็ต้องมีความแตกต่างกันไป ครูนิตยดา บอกว่า ที่ผ่านมาต้องสอนแบบสอนซ้ำ ย้ำ ทวน สอนประมาณ 700-800 รอบถึงจะเล่นได้แต่ละเพลง และต้องทวนทุกวัน เพราะว่าถ้าไม่ได้ทวน สองสามวันก็จะลืม ต้องมาทบทวนใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งก็ทำให้ต้องประสบปัญหาเครื่องดนตรีพังไปนับไม่ถ้วน
          ทางออกก็คือ การออกแบบ "เครื่องดนตรีจำลอง" ที่สร้างขึ้นจากไม้อัด เช่น "ขิมไม้อัด" รวมไปถึงการใช้ "กระดาษเทา-ขาว" มาวาดขึ้นเป็นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกหัดตีตามจังหวะและหัดท่องจำตัวโน๊ต และหาเครื่องดนตรีทดแทน "ขิมสาย" โดยเปลี่ยนเป็น "ขิมเหล็ก" มาใช้แทน
          ที่สำคัญก็คือ จะต้องให้กำลังใจเด็กๆ ต้องใจเย็น และมีคำชมมอบให้  ผลจากการสอนโดยใช้ดนตรีบำบัดพบว่า กลุ่มเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญามีสมาธิและนั่งนิ่งเหมือนเด็กปกติ จนคนดูแทบไม่รู้ว่าเป็นเด็กพิเศษ
          "ความภาคภูมิใจของครู คือเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญาก็สามารถเล่นดนตรีไทยได้ ซึ่งนับว่ามีน้อยมากหรือจะพูดได้ง่ายๆ ว่าเป็นโรงเดียวของประเทศไทย ตรงนี้ทำให้ครูภาคภูมิใจมาก" ครูนิตยดา กล่าวอย่างภาคภูมิใจ นอกจากนำดนตรีบำบัดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสอนแล้ว "ชัชวาลย์ สหัสสพาศน์" อดีตครูสอนกวดวิชาศิลปะก็นำศาสตร์ทางด้านศิลปะมาสนับสนุนการสอนของเขาเช่นกัน โครงการต่อยอดปูนปั้นโบราณสู่งานศิลปะร่วมสมัย" เป็นหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก "โครงการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้จังหวัดเพชรบุรี" ก็เปิดโอกาสให้เด็กๆ กว่า 20 คนเข้าร่วมเรียนรู้วิธีการเขียนลายไทยเบื้องต้น งานศิลปะปูนปั้น ศึกษาวัตถุดิบและวิถีชีวิตของช่างท้องถิ่น พร้อมร่วมสืบสานและถ่ายทอดงานศิลป์สกุลช่างเมืองเพชรออกไปสู่สาธารณชน
          "ครูชัชวาล" บอก ศิลปะทุกแขนงสามารถที่จะปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้แก่เยาวชนได้ ในส่วนของบ้านศิลปะเอเชียปูนปั้น เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องของงานปูนปั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างแรกจากการทำงานก็คือ "พื้นที่สร้างสรรค์" เป็นพื้นที่ให้เด็กได้มาเรียนรู้และอยู่อย่างปลอดภัย  และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นนามธรรมต่อมา คือพัฒนาการด้าน "จิตใจ"
          "ในระหว่างการฝึกการปั้นปูน เด็กๆ มีความตั้งใจ เมื่อตั้งใจก็จะเกิดสมาธิ และพร้อมที่จะรับฟังคำสั่งสอนหรือชี้แนะในเรื่องต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ระหว่างนี้ก็จะใช้โอกาสสอดแทรกคำแนะนำหรือข้อคิดในการดำเนินชีวิตผ่านงานศิลปะที่เด็กๆ กำลังสนุกและจดจ่อกับงานที่ตนเองทำ"
          จาก 3 มุมมองกูรูด้านการศึกษา และ กรณีศึกษา เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนการศึกษาไทยทั้งระบบว่า "เปลี่ยน" ได้หากเริ่มต้นที่ "ครู"
          "รูปแบบการเรียนรู้เพือธุรกิจรูปแบบเก่าๆ ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป เพราะในอดีตเราเตรียมคนเพืองาน แต่ปัจจุบันเมือสังคมมีการเปลียนแปลงอยู่เสมอ จึงต้องปรับเด็กของเรา ให้เรียนรู้เพือนำไปใช้ได้จริง"
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: