วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ศธ.เอาจริง'ซ้ำชั้น'เล็งประถม ดันใช้ข้อสอบเดียวทั้งประเทศ

สพฐ.-สทศ.'รับลูก'รัฐมนตรี'อ๋อย' ฟื้น'ตกซ้ำชั้นใช้ข้อสอบปลายภาครวมทั้งประเทศ' เล็งปีการศึกษา 2557 ซ้ำชั้นเฉพาะ'ประถมฯ' แต่'ม.ต้น' ให้เรียนซ่อมรายวิชาที่สอบตก นำร่องข้อสอบปลายภาคเหมือนกันทั่วประเทศ
          เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ ว่าได้ฝากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) หารือร่วมกันเพื่อจัดทดสอบวัดผลกลาง เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการทดสอบกลางที่เป็นมาตรฐานและเป็นระบบ ทำให้ไม่รู้ปัญหา กว่าจะมารู้ปัญหาต้องรอการวัดผลระดับนานาชาติหรือการวัดผลเองในบางช่วงชั้นและเพียงบางวิชาเท่านั้น เช่น การวัดผลภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากการสอบวัดประเมินผลระดับชาติ (เอ็นที) และล่าสุดการทดสอบการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่พบว่ามีนักเรียนประมาณ 2 แสนคน ที่ต้องปรับปรุง เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าต้องมาทบ ทวนเพื่อวางระบบการวัดผลกันใหม่ ทั้งนี้ สพฐ.และ สทศ.ต้องหารือร่วมกันว่าจะออกแบบข้อสอบให้เป็นมาตรฐานได้อย่างไร และจะต้องวัดผลวิชาและระดับชั้นใดบ้าง
          "ระบบการศึกษาเราจำเป็นต้องใช้การทดสอบวัดผลกลางที่เป็นมาตรฐาน บางวิชาบางสาขาต้องอิงกับมาตรฐานต่างประเทศ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษา จำเป็นต้องมาคิดเรื่องระบบการทดสอบวัดผลอย่างจริงจัง ในประเทศที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ใช้ระบบวัดผลกลางเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษา แม้ว่าตอนนี้จะมีการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) อยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีการทำทุกชั้นเรียน" รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าว และว่า การทดสอบวัดผลกลางไม่ใช่เพื่อให้เกิดการแข่งขัน แต่เพื่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอน เกิดความเข้าใจว่าเด็กเรียนแล้วได้ผลอย่างไร การวัดผลกลางเกิดการพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอน เกิดความเข้าใจว่าเด็กเรียนแล้วได้ผลอย่างไร การวัดผลกลางจะทำให้ทราบภาพรวมการจัดการศึกษาทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นการทดสอบวัดผลกลางจะมีผลต่อเกรดและคะแนนของนักเรียนด้วย โดยตนอยากให้เกิดขึ้นในปีการศึกษา 2557
          ผู้สื่อข่าวถามว่า การทดสอบวัดผลกลางจะย้อนกลับไปใช้ระบบเดิมที่ใช้กันในอดีตหรือไม่ นาย จาตุรนต์กล่าวว่า เป็นเรื่องของศตวรรษที่ 21 และทั่วโลกทำกัน บังเอิญว่าสมัยก่อนการศึกษาไทยก็มีการทดสอบวัดผลกลาง เพียงแต่พอมีการเปลี่ยนมาใช้ผลการเรียนแบบหน่วยกิต ได้ทิ้งบางเรื่องที่เป็นประโยชน์ไป
          ด้านนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากแนวนโยบายของนายจาตุรนต์นั้น สพฐ.จะให้มีการจัดทดสอบวัดผลกลางโดยใช้ข้อสอบชุดเดียวกันทั้งประเทศในทุกชั้นปี แต่หากเริ่มพร้อมกันทุกระดับชั้น อาจจะมีปัญหาในเรื่องงบประมาณและความพร้อมของผู้ปฏิบัติ ดังนั้น จะเริ่มใช้ข้อสอบกลางในระดับชั้นที่มีผลต่อการเรียนในระดับสูงขึ้นก่อน คือ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 โดยข้อสอบกลางจะเป็นข้อสอบมาตรฐานที่ผ่านกระบวนการพิจารณาตรวจสอบโดยชุมนุมนักวัดผลการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ สพฐ.กำลังจะตั้งขึ้น จะมีค่าความเชื่อมั่นเพียงพอที่จะส่งผลเป็น กระจกให้รู้ได้ว่าจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขการจัดการศึกษาในด้านใด เพื่อให้ได้มาตรฐานของนักเรียนทั่วประเทศที่ใกล้เคียงกัน
          เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ข้อสอบวัดผลกลางจะใช้ในการสอบปลายภาคของทุกโรงเรียนที่จัดสอบ ปีละ 2 ครั้ง และจะใช้สอบทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เด็กเรียน โดยใน 1 วิชาใช้ข้อสอบ 60 ข้อ จะออกข้อสอบประมาณ 600-1,200 ข้อ และเลือกไปใช้สอบบางส่วน และส่วนที่เหลือเก็บไว้ในคลังข้อสอบเพื่อนำมาปรับใช้ในการสอบครั้งต่อไป ข้อสอบจะบันทึกข้อมูลลงในแผ่นซีดีให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) หรือโรงเรียนไปจัดพิมพ์ข้อสอบเอง เมื่อสอบครั้งใหม่ก็จะมีการนำข้อสอบชุดใหม่มาใช้และต่อไป(สพท.) หรือโรงเรียนไปจัดพิมพ์ข้อสอบเอง เมื่อสอบครั้งใหม่ก็จะมีการนำข้อสอบชุดใหม่มาใช้และต่อไปโรงเรียนไม่ต้องจัดทำข้อสอบปลายภาคเอง แต่ให้มาใช้ข้อสอบกลางนี้แทน สำหรับเรื่องการกวดวิชาข้อสอบให้แก่เด็กนั้น คงห้ามไม่ได้ แต่ข้อสอบที่จัดส่งไปจะเป็นข้อสอบใหม่และมีการพัฒนาตลอด ทั้งนี้ สพฐ.จะเริ่มใช้ข้อสอบกลางในระดับชั้นดังกล่าวในปีการศึกษา 2557 ขณะนี้เหลือเวลาอีกประมาณครึ่งปี จึงเชื่อว่าจะสามารถออกข้อสอบและดำเนินการเรื่องนี้เสร็จได้ทัน
          "เมื่อจะมีการใช้ข้อสอบวัดผลกลาง สพฐ.จะต้องปรับปรุงระบบการวัดผลประเมินผลใหม่ด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้มอบให้มาทบทวนระบบการตกซ้ำชั้นใหม่ ขณะนี้ สพฐ.กำลังปรับปรุงโดยยกร่างระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการวัดผลประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ เพื่อจะใช้ในปีการศึกษาปี 2557 มีเนื้อหาสาระที่จะให้มีการตกซ้ำชั้นในระดับชั้นประถมศึกษา หากไม่ผ่านวิชาใดวิชาหนึ่งก็จะต้องตกซ้ำชั้น เพราะเป็นการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ส่วนระดับมัธยมศึกษานั้นหากไม่ผ่านในรายวิชาใด จะต้องมาลงเรียนรายวิชานั้นใหม่ในภาคเรียนถัดไปหรือเมื่อโรงเรียนเปิดให้โดยไม่ต้องซ้ำชั้น นอกจากนี้แล้ว สพฐ.อาจจะต้องไปดูว่าจะต้องพิจารณาการใช้ระบบเกรดเหมือนเดิมหรือใช้ระบบเปอร์เซ็นต์ในผลการเรียนเพราะหลายประเทศมีการใช้ระบบผลการเรียนแบบเปอร์เซ็นต์" นายอภิชาติกล่าว และว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อจัดทำร่างเสร็จแล้ว จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะต้องนำเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ. พิจารณาเห็นชอบลงนามต่อไป โดยเมื่อประกาศใช้ จะมีผลบังคับใช้ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. โรงเรียนเอกชน ส่วนโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สามารถอนุโลมนำไปใช้ได้ ปกติแล้วโรงเรียนเหล่านี้ก็อิงกับ ศธ.อยู่แล้ว ส่วนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้น ขึ้นอยู่กับความสมัครใจว่าจะใช้การวัดผลดังกล่าวนี้หรือไม่
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

'บิ๊กศธ.'สั่งสพฐ.สำรวจแท็บเล็ตพังคาดรู้ตัวเลขแท้จริงทั้งประเทศเร็ว ๆ นี้

          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าถึงกรณีมีรายงานผลตรวจของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ตรวจสอบโครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษา (OTPC) แล้วพบเครื่องแท็บเล็ตนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่1 ประจำปีการศึกษา 2555 เสียหาย 30% หรือ 2.59 แสนเครื่องจากทั้งหมด 860,000 เครื่อง ทั้งยับพบกรณีศูนย์ซ่อมแท็บเล็ตใน จ.สระบุรี ปิดศูนย์โดยไม่แจ้งให้โรงเรียนทราบล่วงหน้า และนำแท็บเล็ตนักเรียนที่ส่งซ่อมไปด้วยนั้นว่า จากการติดตามรายงานผลตรวจ สตง.ที่ส่งมาให้นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พบว่า สตง.ได้ทำการสุ่มสำรวจและมีข้อเสนอแนะให้ ศธ.ว่ามี 4 เรื่องใหญ่ที่ควรเร่งดำเนินการแก้ไข คือ 1.ปัญหาการจัดส่งเครื่องแท็บเล็ตล่าช้าไม่ครบถ้วน 2.โรงเรียนไม่สามารถนำแท็บเล็ตมาใช้เพื่อการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.ปัญหาการรับประกันเครื่องแท็บเล็ต และ 4.ปัญหาการควบคุมแท็บเล็ต หรือครุภัณฑ์ โดย สตง.ได้มีทำการสุ่มสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจากโรงเรียน 80 แห่ง 12 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 11 จังหวัด ซึ่งคิดเป็น 0.2% ของโรงเรียนทั้งหมดกว่า 3 หมื่นโรง
          นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า กรณีที่มีปรากฏเป็นข่าวว่าพบความเสียหาย 30%หรือ 2.59 แสนเครื่อง จากทั้งหมด 860,000 เครื่องนั้นไม่ใช่ เพราะความจริงแล้วข้อมูลดังกล่าว คือ 30% ของเครื่องแท็บเล็ต จำนวน 295 เครื่อง จากประมาณ 990 เครื่อง ที่ สตง.ทำการสุ่มสำรวจใน 80 โรงเรียนเท่านั้น เพราะฉะนั้นข้อมูลเสียหายดังกล่าวจะมาเทียบความเสียหายภาพรวมทั่วประเทศไม่ได้ ขณะเดียวกันกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญากับบริษัทที่ขายเครื่องแท็บเล็ตในปีงบประมาณ 2555 ได้รายงานสรุปการซ่อมเครื่องแท็บเล็ตระหว่างเดือน ส.ค.55-ส.ค.56 พบเครื่องแท็บเล็ตเสียหายทั้งสิ้น 5,344 เครื่อง คิดเป็น 0.62%จากทั้งหมด 858,886 เครื่อง ซึ่งแยกเป็นความเสียหายที่ฮาร์ดแวร์มากสุด 3,571 เครื่อง รองมาเป็นความเสียหายที่ซอฟต์แวร์ 1,773 เครื่อง
          นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเครื่องแท็บเล็ตเสียหายโดยรวมเท่าไร ยังไม่มีการสำรวจโดยตรงครบถ้วน ซึ่ง สพฐ.และเขตพื้นที่กำลังรวมข้อมูลแต่ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะมีการปิดภาคการศึกษา แต่ในเร็วๆ นี้จะได้ข้อมูลว่าที่มีการบันทึกเครื่องแท็บเล็ตเสีย ส่งซ่อม ไม่ส่งซ่อม ทั้งประเทศเป็นจำนวนเท่าไร ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ สพฐ.ไปประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาทางด้านเทคโนโลยี และคอมพิวเตอร์ ให้ร่วมกันทำการสุ่มสำรวจตรวจแท็บเล็ต โดยให้มีการสำรวจในวงกว้างซึ่งการสำรวจครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เชื่อถือในข้อมูลของใคร แต่เพื่อเป็นการดูความพร้อมและอาศัยความสามารถของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเข้าไปตรวจสอบ เพราะเวลานี้ยังไม่ทราบว่าเครื่องแท็บเล็ตที่เสียหายนั้นเสียหายเพราะอะไร
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

ไม่มีความคิดเห็น: