วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก 23/2557

ศึกษาธิการ - ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 23/2557 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557

การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปลัด ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 96/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ซึ่งมีรองผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานกรรมการ โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการ และมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ    ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สนย.สป.) เป็นหน่วยงานกลางที่จะต้องประสานกับหน่วยงานอื่น โดยมอบให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนและติดตามการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประจำทุกเดือน พร้อมทั้งให้รายงานผลความคืบหน้าการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้ คปต.ทราบอย่างต่อเนื่องเช่นกันด้วย

ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของแต่ละองค์กรหลัก ดังนี้ - สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่า ได้เตรียมการติดตั้งกล้อง CCTV จำนวนกว่า 5,000 ตัว ในจุดล่อแหลมหรือจุดอับในบริเวณโรงเรียนจำนวน 1,092 โรง โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงทั้ง 443 โรงเรียน และบริเวณสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ปัตตานี เขต 1-3, สพป.ยะลา เขต 1-3, สพป.นราธิวาส เขต 1-3, สพป.สขลา เขต 3 (ใน 4 อำเภอ) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 15 และ 16 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 577 ล้านบาท พร้อมทั้งสั่งการให้เขตพื้นที่การศึกษาดังกล่าวเป็นศูนย์บันทึกข้อมูล และเชื่อมต่อข้อมูลของแต่ละโรงเรียน รวมทั้งเชื่อมโยงกับเครือข่ายภายในจังหวัดด้วย

ซึ่งการดำเนินการในขณะนี้ อยู่ระหว่างการส่งรายละเอียดคุณสมบัติและราคากลางให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ตรวจสอบ จากนั้น สพฐ.ก็จะดำเนินการจัดซื้อ และร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการติดตั้งกล้องCCTV เพื่อให้เสร็จได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2558 นอกจากนี้ สพฐ.ได้เตรียมการปรับปรุงและซ่อมแซมรั้วโรงเรียน เพื่อสร้างความปลอดภัยและดูแลคุณภาพชีวิตของนักเรียนและครู โดยงบประมาณในส่วนนี้ สพฐ.ได้จัดเตรียมไว้แล้ว

- สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
ซึ่งดูแลทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนไทยที่จะไปศึกษาต่อประเทศมาเลเซีย หรือศึกษาต่อที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา รวมทั้งร่วมมือดำเนินการกับหน่วยงานและประเทศต่างๆ เกี่ยวกับการรับรองคุณวุฒิของสถานศึกษาและหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายของประเทศไทยในการไปศึกษาต่อต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยอัล-อัชฮัร (Al-Azhar University) ประเทศอียิปต์ ที่มีประเด็นที่เคยหารือไว้แล้ว คือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายใหม่ ก็จะต้องแจ้งให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศนั้นๆ ทราบด้วย เพื่อให้มหาวิทยาลัยรับรองหลักสูตรใหม่ด้วย มิฉะนั้นจะเป็นปัญหาต่อการศึกษาต่อของนักเรียนไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในบางคณะ/สาขาวิชา ทำให้ไม่สามารถเข้าไปเรียนต่อได้

- สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.)
นอกจากจะเป็นหน่วยงานกลางที่จะต้องประสานกับหน่วยงานอื่น โดยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนและติดตามการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประจำทุกเดือนแล้ว สป.ได้เตรียมจัดงานยุวกาชาดและเยาวสตรีในสถานศึกษา ในวันที่ 16-19 สิงหาคมนี้ ที่ จ.สงขลา เพื่อเป็นการส่งเสริมกิจกรรมยุวกาชาดการจัดกิจกรรมสำหรับเยาวสตรี เช่น การดูแลและป้องกันตนเอง พร้อมทั้งจัดกิจกรรมมอบทุนการศึกษาสำหรับบุตร-ธิดาที่บิดามารดาเสียชีวิต

- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
ได้ให้ สช.จังหวัด/อำเภอ เข้าไปนิเทศและติดตามดูแลโรงเรียนทุกโรงในสังกัดเป็นประจำทุกเดือนอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ขอให้ สช.เร่งพิจารณาการจัดระบบเงินอุดหนุนด้านอิสลามศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา หรือค่าใช้จ่ายรายหัวของครูสอนศาสนาด้วย

- สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)
ได้ดำเนินการให้มี อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งได้ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ทายาทของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น เป็นการเยียวยาและสร้างขวัญกำลังใจต่อบุคลากรในพื้นที่

การดำเนินการตามข้อสั่งการของหัวหน้า คสช : ประเด็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่ประชุมรับทราบข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา คือ"ได้สั่งการให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยารับไปพิจารณาความเหมาะสม ผลดี ผลเสีย ในกรณีที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ โดยปรับเปลี่ยนสถานภาพจากมหาวิทยาลัยของรัฐไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินการและความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาได้เกิดปัญหา เช่น ภาระงบประมาณแผ่นดินค่าธรรมเนียมทางการศึกษาที่สูงขึ้น เป็นต้น" ที่ประชุมขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งรายงานโดยตรงไปยัง คสช. ต่อไปด้วย

การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 12 สิงหาคม 2557 ของกระทรวงศึกษาธิการ นายศุภกร วงศ์ปราชญ์ รองปลัด ศธ. ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบการเตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 12 สิงหาคม 2557 ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 12-15 สิงหาคม 2557 ที่บริเวณโดยรอบกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น การจัดริ้วขบวนอัญเชิญเครื่องราชสักการะและถวายราชสดุดีฯ นิทรรศการ ร้านแสดง จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซุ้มฝึกอาชีพ จัดจุดถวายพระพรชัยมงคล ฯลฯ ปลัด ศธ.กล่าวว่า นอกจากกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวแล้ว จะมีการฉายหนังกลางแปลง ในบรรยากาศย้อนยุค กลางสนามหญ้า หน้าอาคารราชวัลลภ ภายในกระทรวงศึกษาธิการ ในคืนวันที่ 12-14 สิงหาคม 2557 คืนละ 1 รอบ เวลาฉายตั้งแต่ 19.00 น.เป็นต้นไป

ตัวบ่งชี้การประเมินรอบสี่ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ปลัด ศธ. กล่าวถึงประเด็นที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ได้จัดทำ (ร่าง)ตัวบ่งชี้ การประเมินรอบสี่ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ซึ่งจะชี้แจงให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รับทราบ แต่ตนในฐานะคณะกรรมการ สมศ.ได้เสนอว่า การจะกำหนดปรับปรุงแก้ไขตัวชี้วัด ควรจะต้องนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่จะได้รับการประเมินมาพิจารณาด้วยซึ่งจะต้องยึดโยงกับหลักการเดิมของการประเมินที่ได้กำหนดไว้คือ เน้นไปที่ Output หรือ Outcome มากกว่ากระบวนการ ดังนั้น เมื่อ สมศ.จะดำเนินการทบทวนปรับปรุงแก้ไขตัวชี้วัดการประเมิน จึงควรนำความคิดเห็นจากประชาคมต่างๆ ที่เป็นผู้รับการประเมิน มาพิจารณาให้เกิดความละเอียดรอบคอบในการกำหนดตัวชี้วัดรอบสี่ด้วย

สมุดพกความดี ปลัด ศธ.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็นดังกล่าวว่า การทำความดีของนักเรียนนักศึกษา ควรมีระบบรองรับที่เป็นรูปธรรม ซึ่งได้ขอให้แต่ละหน่วยงานไปออกแบบแนวทางการบันทึกความดีของนักเรียนนักศึกษา โดยต้องฟังเสียงของเด็กๆ และเยาวชนด้วย ที่ผ่านมามีแนวทางดำเนินการของแต่ละหน่วยงานไปบ้างแล้ว เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่มีการจัดทำ R-Passport คู่ขนานไปกับการทำกิจกรรมอื่นๆโดยในการออกไปบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณชน จะมีครูที่ปรึกษาลงนามรับรองใน Passport ซึ่งนักศึกษาอาชีวะก็สามารถนำ R-Passport ไปประกอบในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ด้วย แม้กระทั่งการเรียนการสอนธรรมศึกษาก็ถือเป็นแนวทางสำคัญในการส่งเสริมพุทธศาสนา ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมต่อเด็กไทย ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการทำความดี มีการยกย่องคนดี ส่งเสริมคนดีให้มากขึ้น ไม่ใช่จะเป็นเพียงคนเก่งเพียงอย่างเดียว

ข่าวจากสำนักงานรัฐมนตรี

เผย ผอ.ร.ร.ชวดต่ออายุ 65 ปีเล็งประชาพิจารณ์สิงหาคมนี้

 นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ประชุมพิจารณาเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และได้ข้อสรุปว่าจะมีการเสนอแก้ไขประมาณ 6 มาตรา อาทิ มาตรา 20 แก้ไขให้สำนักงาน ก.ค.ศ.มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็น กรมตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มาตรา 38 ค (2) แก้ไขให้บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค (2) มาใช้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ เช่นเดียวกับผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ ทั้งนี้ เพื่อความเสมอภาคและความก้าวหน้าของบุคลากรทางการศึกษาอื่นในอันที่จะพัฒนาไปเป็นวิชาชีพที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและมีวิทยฐานะ เป็นต้น ในเดือนสิงหาคมนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.จะจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้าราชการครู ผู้บริหาร ว่ามีความเห็นหรือข้อเสนอเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ในประเด็นที่มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ
เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขมาตรา 107 วรรคสาม เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ สามารถที่จะรับราชการต่อไปได้ไม่เกิน 5 ปีนั้น ได้ข้อสรุปว่าผู้ที่จะต่ออายุราชการจะให้เฉพาะครูผู้สอนที่มีวิทยฐานะและเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่ขาดแคลน เพราะถือเป็นเรื่องที่จำเป็นและจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการศึกษาไทย ไม่ได้ต่อให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ทั้งนี้ การต่ออายุราชการจะต่อปีต่อปี ไม่ได้ต่อครั้งเดียว 5 ปี ส่วนการเพิ่มคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ส่วนการเพิ่มคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะมีการเสนอแก้ใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯด้วยนั้น กำลังดูอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. สพฐ. กับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ว่าจะแบ่งอำนาจหน้าที่กันอย่างไร ทั้งนี้ หลังจากรับฟังความเห็นเสร็จแล้ว จะได้นำเสนอ ศธ.เพื่อนำเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อไป

--มติชน ฉบับวันที่ 30 ก.ค. 2557

ไม่มีความคิดเห็น: