วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สพฐ.ดันปีแห่งการช่วยเหลือดูแลเด็กจัดระบบเฝ้าระวังเข้ม-วางแผนพัฒนาทักษะชีวิต

สพฐ.ดันปีแห่งการช่วยเหลือดูแลเด็กจัดระบบเฝ้าระวังเข้ม-วางแผนพัฒนาทักษะชีวิต
          นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ระหว่างปีพ.ศ.2557-2558 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดให้เป็นปีแห่งการดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียน โดยเร่งรัดพัฒนาให้โรงเรียนทุกแห่งมีระบบการดูแลช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนที่เข้มแข็ง ผ่านกระบวนการพัฒนาผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ให้มีทักษะในการดูแลช่วยเหลือคุ้มครองนักเรียน พร้อมทั้งรณรงค์ให้ความช่วยเหลือเด็กที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน ปัญหายาเสพติด ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกัน
          ขณะเดียวกัน จัดระบบเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นภายในสถานศึกษา เช่น การเยี่ยมบ้านนักเรียนอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี การประชุมผู้ปกครอง การพัฒนานักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา การจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ เป็นต้น นอกจากนี้ สพฐ.ยังกำหนดให้ประเมินพฤติกรรมของผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการที่ดีตรงตามความต้องการของท้องถิ่นและสังคมด้วย
          เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า สพฐ.ยังกำหนดองค์ประกอบหลักที่ใช้สำหรับการพัฒนาทักษะชีวิตในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งออกเป็น 4 ด้านประกอบด้วย 1.การตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น ตลอดจนการรู้จักความถนัดความสามารถ จุดเด่น จุดด้อยของตนเอง 2.การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สามารถประเมินสถานการณ์รอบตัวด้วย หลักเหตุผล 3.การจัดการกับอารมณ์และความเครียด ความเข้าใจและรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ของบุคคล รู้สาเหตุของความเครียด
          และ4.การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น เพื่อสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของตนเอง รับรู้ความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของผู้อื่น วางตัวได้ถูกต้อง เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ ใช้การสื่อสารที่สร้างสัมพันธภาพที่ดี สร้างความร่วมมือ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ซึ่งส่วนตัวเชื่อมั่นว่า การดำเนินการในเรื่องดังกล่าว จะช่วยพัฒนาภูมิคุ้มกันชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรมได้
          
--ข่าวสด ฉบับวันที่ 5 ส.ค. 2557



ชูปี 57-58 เพิ่มทักษะ รร.คุ้มครองเด็ก วางแนวพัฒนาพื้นฐานชีวิต 4 ด้าน

          ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จะรณรงค์ให้ปี 2557-2558 เป็นปีแห่งการดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียน โดยจะมีการเร่งรัดพัฒนาโรงเรียน ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษาให้สามารถดูแลช่วยเหลือคุ้มครองนักเรียนที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ในวัยเรียน ยาเสพติด พร้อมจัดระบบเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นภายในสถานศึกษา เช่น การจัดกิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง การประชุมผู้ปกครองนักเรียน การพัฒนานักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา การจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ เป็นต้น ที่สำคัญ สพฐ.จะให้มีการประเมินพฤติกรรมผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีพัฒนาการที่ดีตรงตามความต้องการของท้องถิ่นและสังคมด้วย
          เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้กำหนดองค์ประกอบสำหรับการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตแก่เด็กในระบบ การศึกษาขั้นพื้นฐาน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การสร้างความตระหนักรู้เห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น ตลอดจนการรู้จักความถนัด ความสามารถจุดเด่น จุดด้อยของตนเอง 2. การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และ แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์เป็นระบบ โดยสามารถประเมินสถานการณ์รอบตัวด้วยหลักเหตุผลได้ 3. การจัดการทางอารมณ์และความเครียด รู้เท่าทันภาวะอารมณ์ของตนเองและบุคคลอื่น ในการควบคุมตนเองให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติสุข 4. การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น เพื่อสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของตนเอง และเข้าใจความต้องการของผู้อื่น พร้อมทั้งวางตัวได้ถูกต้องเหมาะสมในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากการดำเนินการดังกล่าวทำได้สำเร็จ จะเป็นการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศอย่างเป็นรูปธรรมยั่งยืนมากที่สุด.
          
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ส.ค. 2557


เดินหน้าคัด ผอ.คุรุสภาจังหวัด

          ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการดำเนินการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคุรุสภาจังหวัด เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการร้องเรียนเรื่องความไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และมีการเรียกรับเงินในการสรรหาฯ ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัยต่อสาธารณชนอย่างมาก ที่ประชุมจึงได้มีมติ 2 เรื่อง คือ 1.ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีนายอำนาจ สุนทรธรรม เลขาธิการคุรุสภา เป็นประธาน ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยพิจารณาตรวจสอบคะแนนของผู้ที่ได้รับการสรรหาแต่ละจังหวัด และร่วมพิจารณาคัดเลือกรายชื่อก่อนที่จะสรุปเสนอตามขั้นตอนต่อไป
          ประธานกรรมการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ 2 ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการกลางที่มาจากบุคคลภายนอก ประกอบด้วยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย ผู้รู้ด้านการศึกษา และผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในการสรรหาฯ ใดทั้งสิ้น โดยในเบื้องต้นได้ขอให้สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ (ส.ค.ศ.ท.) ช่วยคัดเลือก คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จากทั่วประเทศจำนวน 3 คน มาร่วมเป็นกรรมการฯ และขอให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ส่งนิติกรมาเป็นเลขานุการคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการและขั้นตอนการสรรหาตามประกาศของคุรุสภา ให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ จากนั้นคุรุสภาจะรวบรวมข้อมูลทั้งผลการตรวจสอบและรายชื่อส่งให้ คสช.พิจารณาอีกครั้ง
          "คุรุสภาได้ทำหนังสือขอความเห็นจาก คสช.เกี่ยวกับตำแหน่ง ผอ.คุรุสภาจังหวัด ซึ่ง คสช.ตอบกลับมาว่าตำแหน่ง ผอ.คุรุสภาจังหวัดมีฐานะเทียบเท่า ผอ.สำนัก มีหน้าที่บริหารกิจการของสำนักงานคุรุสภาจังหวัด จึงเห็นควรให้ ศธ.ขอความเห็นชอบรายชื่อผู้ได้รับการแต่งตั้ง ผอ.คุรุสภาจังหวัดจากหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. ก่อนประกาศแต่งตั้งต่อไป" ประธานกรรมการคุรุสภากล่าว.
          
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ส.ค. 2557 

ไม่มีความคิดเห็น: