วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นับหนึ่งใหม่ ! เตรียมตั้ง กก.หลักสูตรแห่งชาติ ทำหน้าที่วิเคราะห์แนวเรียนรู้ประถม-มหาวิทยาลัย

ศึกษาธิการ * "สุทธศรี" เผยแนวทางปฏิรูปการศึกษา เตรียมประชุมตั้งคณะกรรมการหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติในวันที่ 14 ส.ค.นี้ เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์หลักสูตรพื้นฐาน อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา จะได้สร้างคนได้ตามเป้า ก่อนส่งให้ให้ คสช.พิจารณาต่อไป
          นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำร่างโรดแม็พ (Road Map) ปฏิรูปการศึกษา (ปี พ.ศ.2558-2564) ว่า ตามที่ ศธ.ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายจนนำมาสู่การวางกรอบแนวทางไว้ 6 เรื่อง ได้แก่ 1.ปฏิรูปครู 2.เพิ่มกระจายโอกาสและคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม 3.ปฏิรูประบบการบริหารจัดการ 4.การผลิตและ พัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน 5.ปฏิรูปการเรียนรู้ และ 6.ปรับระบบการใช้ไอซีทีเพื่อการศึกษา โดยตนได้มอบหมายให้คณะเลขานุการไปรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็นรอบด้านอีกครั้ง เพื่อนำมาเสนอต่อการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. ที่มีตนเป็นประธาน และมีผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ. เป็นรองประธาน ในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ โดยการประชุมดังกล่าวจะหารือกับที่ประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์หลักสูตรพื้นฐาน อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เพื่อวางแผนและกำหนดเป้าหมายพัฒนาคนมีความรู้ความสามารถในแต่ละด้าน แต่ละระดับ ตามเป้าหมายที่พึงประสงค์ เพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษาให้ คสช.พิจารณาต่อไป
          ปลัด ศธ.กล่าวว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความห่วงใยเรื่องการศึกษาของเด็กทั้งการเรียนที่มากเกินไป เด็กกวดวิชา ปัญหาขาดแคลนผู้เรียนสายอาชีพ และยังยกตัวอย่างด้วยว่ามีเด็กจบอุดมศึกษาถึง 53% ที่ตกงาน จึงอยากให้ ศธ.แก้ไขวางระบบให้เชื่อมโยงกัน และยังอยากให้เร่งแก้ไขปัญหาการศึกษาในเรื่องต่างๆ อาทิ การลดเวลาเรียน การพัฒนาทักษะชีวิตของผู้เรียนในระดับพื้นฐาน อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา โดยจะต้องให้สอดคล้องกับคุณลักษณะตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการของ คสช.มาหารือ เพื่อจะดูว่ามีเรื่องใดบ้างที่องค์กรหลักสามารถไปบูรณาการกับการทำงานเพื่อให้เกิดผลได้ทันที
          อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ ศธ.วางไว้คร่าวๆ คือ ขอให้แต่ละองค์กรหลักไปดำเนินการ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดูแลเรื่องการปรับลดเวลาเรียน หลัก สูตร รวมถึงกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมควรเป็นแบบใด เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปิดให้มีวิชาเลือกมากขึ้น เพื่อให้เด็กได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตนถนัดและสนใจ เพื่อให้เด็กสามารถนำไปต่อ ยอดพัฒนาตัวได้ ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ขอให้ไปดูการสร้างสุภาพบุรุษอาชีวศึกษาจะมีมาตรการอย่างไร รวมทั้งการส่งเสริมให้คนมาเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้นจะจูงใจได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้จะเร่งผลักดันระบบคุณวุฒิวิชาชีพให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งจะช่วยการันตีความสามารถในทักษะวิชาชีพ ไม่ใช่การรับรองปริญญา ส่วนคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะขอให้ไปดูการส่งเสริมให้มีผู้เรียนในสาขาที่ประเทศต้องการจบไปแล้วมีงานทำ ทั้งนี้ อาชีวศึกษาเป็นการเรียนเพื่อการมีอาชีพ ส่วนอุดมศึกษาเรียนเพื่อการศึกษาและมีงานทำ ซึ่งทั้ง 2 ระดับมีความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมคนสู่ตลาดแรงงาน" นางสุทธศรีกล่าว
          ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนมองว่ารัฐต้องเข้ามาช่วยโดยใช้กลไกของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนได้เรียนโดยเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลน ซึ่งปัจจุบัน กรอ.แม้จะให้กู้ในสาขาที่ขาดแคลน แต่ก็พบว่ามีผู้กู้ยืมน้อย เพราะฉะนั้นควรจะต้องมา ทบทวนข้อดี-ข้อเสียทั้ง 2 กองทุน และปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ โดยตนมีแนวคิดว่าการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจะต้องทำในภาพรวม ซึ่งควรมีคณะกรรมการกลางที่มาทำหน้าที่ตรงนี้
        
  ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์



สพฐ.ชงใช้ไอซีทีไม่ยึดติดสมาร์ทคลาสรูม

          ตามที่ฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) มีมติให้ยุติโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ทั้งในส่วนของการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2557 และปีงบประมาณ 2556 ในโซน 4 ของนักเรียนชั้น ม.1 (ภาคเหนือและภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ) ที่ยังค้างอยู่ รวมกว่า 7,000 ล้าน บาท มาดำเนินโครงการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาแทน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้ทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงโครงการไปยังสำนักงบประมาณ โดยเปลี่ยนมาเป็นโครงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา หรือโครงการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา ซึ่งได้ขอกันงบฯ เหลื่อมปี เพื่อให้สามารถใช้งบฯ ปี 2556 ในการทำโครงการใหม่ต่อไป ได้ โดยเบื้องต้นทุกหน่วยงานที่ได้รับงบฯเห็นตรงกันว่า โครงการใหม่ควรเป็นลักษณะของห้องเรียนที่เรียกว่า สมาร์ทคลาสรูม เพื่อให้นักเรียนทุกระดับชั้นได้ใช้แท็บเล็ตร่วมกันนั้น
          ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คสช.ได้มอบหมายให้ สพฐ.จัดทำข้อมูลเสนอว่า รูปแบบที่เหมาะสมกับการจัดการศึกษาในโรงเรียนมีอะไรบ้าง ซึ่ง สพฐ.ได้สอบถามและขอความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
          เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิว เตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร (ไอซีที) พบว่า รูปแบบการใช้เทคโนโลยีมีเกิน 10 รูปแบบ ดังนั้น สพฐ.จะเสนอ คสช.ไปในหลายรูปแบบที่ไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นรูปแบบสมาร์ทคลาสรูม
          "ผมเข้าใจว่า ขณะนี้ คสช.โดยฝ่ายสังคมจิตวิทยาน่าจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ไปสอบถามรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า ควรเลือกรูปแบบใดถึงจะคุ้มค่าที่สุด" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว.
       
   ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: