วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กพฐ. เน้นย้ำคุณลักษณะ นร.

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวในการเดินทางมาตรวจเยี่ยมประสิทธิภาพและคุณภาพการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนขนาดเล็กที่โรงเรียนบ้านโป่งพระบาท หมู่ที่ 6 บ้านโป่งพระบาท ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย โดยได้ร่วมกิจกรรมหน้าเสาธงกับนักเรียน จำนวน 108 คน ซึ่งเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยรองเลขาธิการกพฐ. ประกอบด้วย นายโรจนะ กฤษเจริญและดร.รัตนา ศรีเหรัญ และผอ.สำนักต่างๆ รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดเชียงรายทั้ง 5 เขต ได้ร่วมเข้าแถวร้องเพลงชาติไทย สวดมนต์ แผ่เมตตาและกล่าวคำปฏิญาณตนร่วมกับเด็กนักเรียน ทั้งนี้ภายหลังการรายงานกิจกรรมความรับผิดชอบของนักเรียนหมู่สีต่างๆแล้ว ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการกพฐ. ได้กล่าวทักทายและพูดคุยกับนักเรียนโดยเน้นย้ำถึงคุณลักษณะตามค่านิยมไทย 12 ประการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติว่า “สำหรับเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาที่ควรฝึกสร้างคุณลักษณะนิสัยเป็นพื้นฐานตั้งแต่วัยเยาว์ มี 3 ประการ คือ การรู้จักกตัญญูต่อบิดามารดา ครู อาจารย์ หรือผู้ปกครองนักเรียน ทำงานบ้านช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน มาโรงเรียนก็เคารพครู เชื่อฟังการอบรมสั่งสอน คุณลักษณะที่ 2 คือ การมีระเบียบวินัยตรงต่อเวลา รู้จักการเข้าคิว เข้าแถว ประเทศไหนประชาชนคนในชาติมีความเป็นระเบียบวินัยประเทศนั้นก็จะเจริญก้าวหน้า เช่น ประเทศเยอรมัน ที่ประชาชนมีค่านิยมความเป็นระเบียบวินัยส่งผลให้ประเทศเยอรมันมีความเจริญก้าวหน้า คุณลักษณะประการที่ 3 คือ ความสุภาพเรียบร้อย แต่งกายเรียบร้อย พูดจาไพเราะ มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ รู้จักไหว้ทักทายและกล่าวคำว่า “สวัสดี” ทุกครั้งที่พบเจอกันไม่ว่ากับเพื่อนหรือผู้ใหญ่ก็ตาม

       นายนพรัตน์ อู่ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1 กล่าวว่า ก่อนหน้านี้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1 จำนวน 108 โรง 1 สาขาและ 1 ห้องเรียนสาขา ได้เน้นย้ำการจัดการเรียนการสอนละบูรณาการคุณลักษณะทักษะเสริมนักเรียนให้มีคุณลักษณะนิสัย ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี มีน้ำใจและกตัญญู โดยมีการจัดโครงการคุณธรรม-จริยธรรมนักเรียน นอกจากนั้น เนื่องจากเชียงรายมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมทั้งการแต่งกาย ภาษา อาหาร ที่เป็นลักษณะเฉพาะตามวัฒนธรรมล้านนา ทุกโรงเรียนจึงจัดให้นักเรียนแต่งกายชุดพื้นเมืองล้านนาสัปดาห์ละ 1 วัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมพื้นเมืองล้านนาให้คงอยู่ตลอดไป

ข่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  (สพฐ.)


นั่งรมว.ศธ.' สุทธศรี ' เชื่อเป็นคนเก่งเข้าใจการศึกษาเป็นอย่างดี

          "สุทธศรี" ยินดีถ้าคุณหญิงกษมานั่ง รมว.ศธ. เชื่อเป็นคนเก่ง คนดี มีความรู้ความสามารถ มีจริยธรรม ที่สำคัญเข้าใจเรื่องการศึกษาดี ขณะเดียวกันเสนอชื่อ "การุณ" นั่งเลขาฯ กศน.คนใหม่
          นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความเห็นกระแสโผรายชื่อคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ว่า กรณีที่ปรากฏชื่อคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.นั้นเป็นจริง ตนก็ยินดี โดยส่วนตัวเห็นว่าคุณหญิงกษมามีความเหมาะสม เพราะเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม ที่สำคัญมีความเข้าใจเรื่องการศึกษาเป็นอย่างดี เพราะเคยดำรงตำแหน่งบริหารสูงของ ศธ.มาหลายตำแหน่ง เชื่อมั่นว่าจะดูแลงานการศึกษาของประเทศได้อย่างดี
          สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับ 10 เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้เสนอรายชื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา ในตำแหน่งผู้ตรวจราชการ ศธ. และตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งรายชื่อดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะกรรมการสรรหาผู้บริหารระดับสูง ซึ่งขณะนี้รอเพียงการตัดสินใจของ คสช.เท่านั้น ส่วนการแต่งตั้งตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และตำแหน่งระดับ 10 ที่ว่างอยู่นั้น คงต้องชะลอไปก่อน เนื่องจากเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือด่วนที่สุดถึงทุกกระทรวง ให้ชะลอการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ จนกว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่และกำหนดนโยบายการบริหารแผ่นดิน
          "การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงแทนผู้เกษียณอายุราชการประจำปี และแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่นั้น เป็นไปตามที่หัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ คสช.ได้ให้นโยบายและแนวปฏิบัติไว้ โดยในส่วนนี้ยังไม่ได้มีการขออนุมัติแต่งตั้งแต่อย่างใด อีกทั้งยังต้องรอให้พ้นวันที่ 30 กันยายน 2557 ซึ่งครบกำหนดเกษียณอายุราชการ จึงจะดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายได้ ประกอบกับมีหนังสือเวียนดังกล่าวส่งมาให้ชะลอการแต่งตั้ง ก็ต้องนำรายชื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่พิจารณาก่อน เรื่องนี้จึงต้องรอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่พิจารณา เพื่อดูรายละเอียดอีกครั้งก่อนเสนอให้ ครม.ชุมใหม่อนุมัติต่อไป" นางสุทธศรีกล่าว
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อที่ถูกเสนอให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กศน. คือ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ผู้ตรวจราชการ ศธ. ส่วนตำแหน่งผู้ตรวจราชการ ศธ. คือ นายวิวัฒน์ แหวนหล่อ รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)
         
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

สพฐ.ออกมาตรการควบคุมการบ้าน

          สพฐ.สนองคำสั่งนายกฯ ออกมาตรการควบคุมการบ้าน แจ้งสถานศึกษา ให้การบ้านไม่มาก ไม่ยากเกินไป เน้นงานกลุ่ม  เปิดสอนพิเศษนอกเวลาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่เด็กเรียนอ่อน  หากพบนักเรียนลอกหรือจ้างทำการบ้าน ลงโทษตามระเบียบสถานศึกษา
          นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามคำสั่งเรื่องแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการให้การบ้านนักเรียน แจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศแล้ว เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำชับไปยังสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทุกแห่ง  และขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการตามอย่างเคร่งครัดตาม แนวปฏิบัติที่กำหนดไว้ ดังนี้
          1.ให้ครูพิจารณามอบหมายการบ้านให้นักเรียนอย่างเหมาะสม ไม่ยากเกินไป ไม่มากเกินไป ควรมอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มมากขึ้น เช่น โครงงานต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสทำงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ในแง่มุมต่างๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตจริงมากกว่า
          2.ให้ผู้บริหารสถานศึกษานิเทศก์ติดตามการจัดการเรียนการสอนและการให้การบ้านของครูให้เหมาะสม และหากพบว่า นักเรียนมีการลอกหรือจ้างทำการบ้านกันจริง ให้พิจารณาโทษตามระเบียบที่สถานศึกษากำหนดอย่างจริงจัง
          3.ให้ผู้บริหารสถานศึกษาจัดให้มีการสอนเสริมแก่นักเรียนนอกเวลาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและใช้เวลาว่างตามความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนช้ากว่าเพื่อน หรืออาจจัดให้มีคลินิกเพื่อนช่วยเพื่อนเรียน หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่จะช่วยนักเรียนให้ได้บรรลุผลตามหลักสูตร และ 4.ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขต พื้นที่การศึกษากำชับผู้บริหารสถานศึกษาให้ติดตามสอดส่องการให้การบ้านของ นักเรียนอย่างใกล้ชิด
          "การให้การบ้านมีข้อดีตามที่นักวิชาการได้วิเคราะห์ไว้เพราะจะทำให้เด็กได้ ทบทวนทักษะ การฝึกความรับผิดชอบและการฝึกวินัย แต่การให้การบ้านที่มากไปจะทำให้เด็กต้องใช้เวลาทำการบ้านมาก ส่วนตัวเห็นว่าเด็กไม่ควรทำการบ้านไม่เกินชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นจำนวนข้อต้องลดลงโดยอาจารย์รายระดับชั้นต้องมาพูดคุยกันในแต่ละวิชา เพื่อตกลงกันในการที่จะให้การบ้านเด็กไม่มากเกินไป  อีกทั้งการบ้านต้องไม่ยากเกินไปจนเด็กต้องไปจ้างคนอื่นทำ"
          นายกมล กล่าวอีกว่า แนวปฏิบัติที่กำหนดออกมา ของสพฐ.เป็นการกลั่นกรองมาจากข้อเสนอแนะของ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตลอดจนความเห็นของบุคคลต่างๆ ในสังคม ซึ่งการรับจ้างทำการบ้านเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและจะมีผลต่อการทำลายคุณภาพ การศึกษาของประเทศในอนาคตโดยอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์
         
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: