วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เล็งผุดกม.ห้ามการเมืองแทรกการศึกษา ลดอำนาจศธ.ส่วนกลางกระจายเพาเวอร์เขตพื้นที่

กมลเผยแนวทางปฏิรูปการศึกษาลดอำนาจส่วนกลาง กระจายอำนาจเขตพื้นที่ฯ มากขึ้น รวมทั้งยังลดบทบาทภาครัฐจัดการศึกษา เพิ่มศักยภาพให้ภาคเอกชน ออก กม.ห้ามการเมืองแทรกแซงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือระบบ สั่ง สพฐ.ตั้งคณะทำงานใหม่ 2 ชุด รองรับการปฏิรูปการศึกษาชุด สปช.  

    ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้มีการกำหนดแนวทางในการดำเนินงาน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ผลักดันให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ และเชื่อมโยงการพัฒนาทุกด้านสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศระยะยาว 2.ขจัดความเหลื่อมล้ำและประกันโอกาสเข้าถึงการศึกษาของคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 3.ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาครู พัฒนาสถานศึกษา อนาคตจะไม่เน้นการพัฒนาเขตพื้นที่ฯ แต่จะเน้นพัฒนาครูและโรงเรียน

    รวมถึงการเพิ่มสมรรถนะของคนไทยและของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ 4.ลดขนาดการจัดการภาครัฐ และกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่ฯ และสถานศึกษา โดยภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และ 5.การปรับกลไกทางกฎหมายให้รองรับการปฏิรูป เช่น โครงสร้าง กฎระเบียบต่างๆ วางกลไกที่ลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง รวมถึงจะมีการศึกษาข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจจะมีรูปแบบการทำงานเช่นเดียวกับ ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมีผู้เข้ามาแทรกแซงยาก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ทำหน้าที่เพียงกำกับ แต่ห้ามเกี่ยวข้องกับการวางแผนหรือนโยบายต่างๆ ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีฉันทามติเบื้องต้น เลือก ดร.พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธาน 
    นายกมลกล่าวต่อว่า ตนเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่ก็ดำรงตำแหน่งเลขาฯ กพฐ.ด้วย จึงมีหน้าที่สำคัญที่ต้องเตรียมการรองรับการทำงานต่างๆ ตามแนวทางการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้น จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด ได้แก่ 1.คณะทำงานกลุ่มการบริหารจัดการ โดยจะทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็น ทำประชาพิจารณ์ จัดประชุม สัมมนา เป็นเรื่องเชิงธุรการ และ 2.คณะทำงานกลุ่มด้านวิชาการ มีหน้าที่ประมวลข้อมูลเพื่อนำเสนอไปยังคณะกรรมาธิการการศึกษาฯ ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าก่อนที่จะมีการปฏิรูปการศึกษาแล้วเสร็จภายใน 1 ปีนั้น อาจมีบางประเด็นที่ต้องมาพิจารณาถูกตัดสินและสามารถดำเนินการได้ทันที เช่น เรื่องการปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ อาจจะมีการเสนอกฎหมาย หรือระเบียบต่างๆ ต่อ กมธ.การศึกษาฯ เพื่อเสนอต่อ สปช.พิจารณาดำเนินการได้ทันที เป็นต้น.

นสพ.ไทยโพสต์


การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ
 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) - พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2557 ที่ห้องประชุม สพฐ. 4 โดยมีนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

  • เพิ่มการจัดตั้งศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
รมว.ศธ.กล่าวว่า จากสถานการณ์และปัญหาของคนพิการในประเทศไทยเมื่อปี 2557 พบว่ามีคนพิการทั่วประเทศจำนวน 1.87 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.9 ของประชากรทั้งประเทศ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ที่ได้กล่าวไว้ว่า จำนวนคนพิการในโลกซึ่งมีอยู่ร้อยละ 5-10 ส่วนใหญ่อยู่ในชนบทของประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีจำนวนถึงร้อยละ 75 ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้ หรือเข้าถึงบริการต่างๆ ที่จำเป็นได้อย่างจำกัด

ในส่วนของภาคการศึกษานั้น สพฐ.เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ เพื่อให้เด็กพิการได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเสมอภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้ง "ศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ" ซึ่งปัจจุบันสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) รับผิดชอบ โดยปัจจุบันมีศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด 77 ศูนย์ทั่วประเทศ และมีศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ ซึ่งถือเป็นสาขาของศูนย์การศึกษาพิเศษ238 แห่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากยังมีเด็กพิการอีกจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยังเข้าไม่ถึงการศึกษา
ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการจัดตั้งและพัฒนาการศึกษาในศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ ที่มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ไปศึกษารายละเอียดว่ามีช่องทางใดบ้างที่สามารถจัดตั้งศูนย์ฯ ขึ้นมาเพื่อดูแลคนพิการทั่วประเทศให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งพิจารณาระเบียบของ ศธ.ที่จะรองรับการจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวด้วย เนื่องจากขณะนี้มีเพียงศูนย์การศึกษาพิเศษในระดับจังหวัด และศูนย์ของมูลนิธิหรือองค์กรภาคเอกชนที่จัดตั้งขึ้นเองเท่านั้น ส่วนจำนวนที่จะจัดตั้งศูนย์ฯ เพิ่มขึ้นเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนคนพิการในแต่ละพื้นที่ว่ามีมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และออกระเบียบรองรับการจัดตั้งศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ ตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาเฉพาะคนพิการ พ.ศ.2551 ต่อไป

  • เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ระยะ 5 ปี กระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ.2555-2559)
รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ระยะ 5 ปี กระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ.2555-2559)  โดยกำหนดกรอบแนวทางการจัดการศึกษา คือ
            1) พัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศ เพื่อให้มีข้อมูลคนพิการและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษของทุกหน่วยงานที่เป็นปัจจุบันและอยู่บนฐานข้อมูลเดียวกัน
          2) การให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (
Early Intervention : EI) เพื่อให้เด็กพิการทุกคนได้รับโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการ
          3) การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการ ตามหลักการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All)
          4) การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ เพื่อให้เด็กพิการทุกคนมีสิทธิและความเท่าเทียมในการประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเอง ดำรงชีวิตอิสระในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี
          5) ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเพียงพอ และสามารถจัดบริการทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          6) ศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ เพื่อให้การจัดการศึกษาทางเลือกอื่น เอื้อต่อความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการทุกประเภทและระดับความพิการ

          7) เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assitive Technology) เพื่อให้คนพิการทุกคนได้รับบริการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา สอดคล้องกับความต้องการจำเป็น
          8) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ  เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน
          9) กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในทุกระบบและทุกรูปแบบ

  • แผนการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ ปี 2558
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ ปี 2558 จำนวน 299 ล้านบาท แยกเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนโครงการหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชน 291 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และสำรองสำหรับบริหารจัดการกองทุน 8 ล้านบาท
 ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนโครงการหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชน 291 ล้านบาทนั้น ได้วางแผนดำเนินการภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ คือ
            ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มโอกาสให้คนพิการได้รับบริการทางการศึกษา จำนวน 8 โครงการ 6 หน่วยงาน ได้แก่ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สถาบันการพลศึกษา  
            ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาหลักสูตรกระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผลให้เหมาะสมสำหรับความพิการ
  จำนวน 3 โครงการ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สพฐ. กศน. มูลนิธิออทิสติกไทย 
            ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ 
จำนวน 3 โครงการ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สพฐ. กศน. กทม. 
            ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้สำหรับคนพิการ
 จำนวน 6 โครงการ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สพฐ. กศน. สอศ. 
            ยุทธศาสตร์ที่ 5 การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ จำนวน 9 โครงการ 5 หน่วยงาน
 ได้แก่ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ วิทยาลัยราชสุดา 
            ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาระบบการบริหารและกลไกในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ 
จำนวน 2 โครงการ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สพฐ. และ สกอ.

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: