วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

• สพฐ.เพิ่มกฎสกัดทุจริตสอบรองผอ.-ผอ.สถานศึกษา ห้ามขรก.เกี่ยวข้องจัดสอบเปิดติว

วันนี้ (28 ม.ค.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ออกประกาศการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. โดยได้กำหนดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ รับทั้งหมด 4,269 อัตรา แบ่งเป็น รองผู้อำนวยการสถานศึกษา กลุ่มทั่วไป 623 อัตรา กลุ่มประสบการณ์ 730 อัตรา ผู้อำนวยการสถานศึกษา กลุ่มทั่วไป 1,403 อัตรา กลุ่มประสบการณ์ 1,513 อัตรา โดยยอดสมัครสองวันแรก มีผู้สมัครทั้งหมด 1,626 คน แบ่งเป็น รองผอ. กลุ่มทั่วไป จำนวน 368 คน รองผอ.กลุ่มประสบการณ์ 77 และ ผอ.สถานศึกษา กลุ่มทั่วไป 790 ผอ.กลุ่มประสบการณ์ 391คน ทั้งนี้ในวันแรกๆจะมีผู้สมัครน้อยเป็นปกติ แต่จะแห่มาสมัครในช่วงวันท้ายๆ

นายกมล กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนยังได้ส่งหนังสือเวียน แจ้งไปผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เรื่องมาตรการป้องกันการทุจริตในการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสพฐ. ดังนี้ มาตรการก่อนสอบ อาทิ ให้สอดส่อง กำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่ออย่างใกล้ชิด โดยเขตพื้นที่ฯ อาจพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันทุจริตการสอบคัดเลือกฯ และมาตรการใหม่ที่เพิ่งกำหนดขึ้นมาเพิ่มเติมในปีนี้ คือ 

ห้ามมิให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ /รองผอ.เขตพื้นที่ฯ /ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และรองผอ.สำนักบริหารฯและข้าราชการในสังกัด เข้าไปเกี่ยวข้องหรือกระทำการใดๆ ที่มีเจตนาเป็นการกวดวิชา จัดทำเอกสารจำหน่วยแจก หรือกระบวนการอื่นใดที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สอบคัดเลือกฯโดยให้สำนักงานเขตพื้นที่ฯ/สำนักบริหารฯ กำหนดบุคคลในทางลับ เพื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าวด้วย และ

ห้ามมิให้แต่งตั้งบุคคลที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการจัดติวมาเป็นกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการสอบคัดเลือกฯเด็ดขาด 

“ขณะนี้มีข่าวเล็ดรอดออกมาแล้วว่าเริ่มมีการจัดติว ขายตำราที่เกี่ยวข้องกับการสอบ 

ซึ่งตามหลักการแล้วสามารถทำได้

ต่หากเราเป็นผู้จัดสอบเองก็อาจจะไม่เหมาะสม

ดังนั้นครั้งนี้ผมจึงขอกำชับไม่ให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดสอบคัดเลือกฯเด็ดขาด หากตรวจสอบพบว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรการป้องกันฯ จะใช้มาตรการในเชิงบริหาร โดยการเรียกตัวเข้ามาปฏิบัติราชการในส่วนกลาง และตั้งคณะกรรมการสอบสวน และหากพบว่าเป็นพฤติกรรมที่ส่อไปในทางช่วยเหลือบางคนในการสอบอย่างชัดเจนจะดำเนินการทางวินัยทันที” นายกมล กล่าว

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการอื่นๆนั้นไม่มีความเปลี่ยนแปลงแต่ในระหว่างสอบจะดูแลให้เข้มข้นขึ้น โดนตนได้สั่งการให้ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางกว่า 200 คนไปประจำทุกศูนย์สอบ รวมทั้ง ให้เขตพื้นที่กำหนดบุคคลเป็นทางลับคอยสังเกตสถานการณ์ ควรมีผู้บันทึกภาพการสอบ ขอความร่วมมือตำรวจดูแลรักษาความปลอดภัย ห้ามมิให้ผู้เข้าสอบนำเอกสาร กระเป๋าต่าง ๆ อุปกรณ์ที่ใช้ในการคำนวณโทรศัพท์มือถือ สื่อสารทุกชนิดเข้าห้องสอบ และควรมีเครื่องมือดักจับสัญญาณโทรศัพท์ และอาจห้ามไม่ให้ผู้เข้าสอบสวมเสื้อคลุม รองเท้า ถุงเท้า เข้าห้องสอบ และหลังสอบ ให้นับจำนวนข้อสอบและกระดาษคำตอบให้ครบตามจำนวนผู้เข้าสอบ และระมัดระวังมิให้ผู้เข้าสอบนำข้อสอบหรือกระดาษคำตอบออกจากห้องสอบเป็นต้น


ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 มกราคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น: