วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 54/2558 เปิดการประชุม อกท.ครั้งที่ 36 ที่ จ.ตาก

มเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการ ระดับชาติ องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 36 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12  กุมภาพันธ์ 2558 ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก อ.วังเจ้า โดยมีพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ประธานกรรมการอำนวยการ อกท.ระดับชาติ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก คณะกรรมการดำเนินงาน ครูที่ปรึกษา อกท.ระดับชาติ และประชาชนจำนวนมาก ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาการจัดกิจกรรมขององค์การ ดังนี้
 "ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท ข้าพระพุทธเจ้า พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในนามคณะกรรมการจัดงาน ประชาชน และบรรดาผู้เฝ้าทูลละอองพระบาท ณ ที่นี้ ต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม ที่ใต้ฝ่าละอองพระบาทเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน เปิดการประชุมวิชาการ ระดับชาติ องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ ครั้งที่ 36 ในวันนี้
 ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชวโรกาส กราบบังคมทูลรายงานกิจกรรมขององค์การ โดยสังเขป ดังนี้
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้นำกิจกรรมองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย หรือ อกท. มาใช้ในการเรียนการสอนครั้งแรกที่วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ หรือแม่โจ้ เมื่อ พ.ศ.2504 ภายใต้หลักการของ อกท.ที่ว่า เป็นองค์การของสมาชิก โดยสมาชิก และเพื่อสมาชิก
องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงยิ่ง
วาระแรก เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยใต้ฝ่าละอองพระบาทได้ตามเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมกิจกรรมของ อกท.หน่วยแม่โจ้ ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2516
วาระที่สอง ที่ใต้ฝ่าละอองพระบาทได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ ตั้งแต่ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2533 ณ วิทยาลัยเกษตรกรรมอุดรธานี และเสด็จพระราชดำเนินเปิดการประชุมวิชาการต่อเนื่องถึงครั้งนี้ครั้งที่ 36 นับเป็นปีที่ 26
วาระที่สาม ที่ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงรับ อกท.อยู่ในพระราชูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2545  วาระสำคัญต่างๆ เหล่านี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน
ในปีการศึกษานี้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการ ระดับชาติเพื่อนำผลงานของสมาชิกที่ประสบผลสำเร็จมาแสดง แลกเปลี่ยน เรียนรู้  อาทิ ผลการพัฒนาสมาชิกผู้นำ การจัดแสดงนิทรรศการวิชาการเกษตร การสัมมนาผลงานทางวิชาการ การแสดงนันทนาการ การประกวด การแสดงและการแข่งขันทักษะวิชาชีพเกษตร มารวมกันในการจัดการประชุมวิชาการ อกท.ครั้งนี้
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก ได้ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนในท้องถิ่น และบริษัทห้างร้าน เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมให้ผู้มาร่วมงาน นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และประชาชนได้รับความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางการเกษตร อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประกอบอาชีพในอนาคต
ในด้านนโยบาย กระทรวงศึกษาธิการได้มอบแนวทางในการพัฒนาการอาชีวศึกษาเกษตรให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดการอาชีวศึกษาเกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม พัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจในการผลิต การแปรรูป และการตลาด

บัดนี้ ได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชานุญาต เบิกบุคคลที่เป็นสมาชิก ตัวแทนหน่วย อกท. คณะกรรมการดำเนินงาน สมาชิก ผู้ทำคุณประโยชน์ ผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานโล่และของที่ระลึกตามลำดับ และขอพระราชทานพระราชวโรกาส กราบบังคมทูลเชิญใต้ฝ่าละอองพระบาท พระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการ ระดับชาติ องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 36  จากนั้นขอพระราชทานเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจกรรมต่างๆ ตามพระราชอัธยาศัย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายสืบไป"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการ ระดับชาติ องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ในพระราชูปถัมภ์ฯ ครั้งที่ 36  โดยมีใจความดังนี้
"ข้าพเจ้ายินดีที่ได้มาเปิดการประชุมวิชาการ ระดับชาติ องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 36 เป็นโอกาสให้ได้มาพบสมาชิกเกษตรกรรุ่นเยาว์ทั้งหลายอีกวาระหนึ่ง
คนไทยเรารู้จักทำการเกษตรมาเป็นเวลานาน ด้วยความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ การสังเกต และการจดจำทำต่อๆ กันมา ไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน เรียกได้ว่าเป็นภูมิปัญญา ต่อเมื่อมีระบบการศึกษา จึงมีการสอนการเกษตรในสถานศึกษาและมีการพัฒนาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การเรียนในสถานศึกษาทำให้นักเรียนนักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเกษตรอย่างมีหลักวิชา ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่เป็นประโยชน์แก่การเกษตรในหลายๆ ด้าน
การเรียนรู้ระบบการตลาดที่มีความสำคัญสำหรับผู้ที่ตั้งใจจะประกอบอาชีพด้านการเกษตร ส่วนภูมิปัญญาดั้งเดิมหลายประการยังคงให้คุณ หากรู้จักใช้ประกอบกับหลักวิชาแผนใหม่ นักเรียนนักศึกษาพึงเอาใจใส่และพินิจพิเคราะห์ด้วยวิจารณญาณของตน
ข้าพเจ้าปลื้มใจที่สมาชิกองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น และพัฒนาก้าวหน้าเห็นเป็นผลงานที่เกิดจากความคิด ผนวกกับการผสานความรู้ที่เล่าเรียนมาเข้าด้วยกัน หากสมาชิกทั้งหลายมีใจรักงานเกษตร หมั่นศึกษาหาความรู้ พร้อมกับลงมือปฏิบัติ ให้รู้ลึก รู้จริง ก็มั่นใจได้ว่าสมาชิกทุกคนจะสามารถเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต
ได้เวลาอันควรแล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดการประชุมวิชาการ ระดับชาติ องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 36ณ บัดนี้ ขอให้การประชุมบรรลุผลสมดังเจตนารมณ์ทุกประการ ทั้งขอให้ทุกๆ ท่านที่มาร่วมประชุมมีความสุขสวัสดีสืบไป"

อ่านต่อ  http://www.moe.go.th/websm/2015/feb/054.html

ไม่มีความคิดเห็น: