วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สารจากโฆษก สพฐ. 4/2558

สวัสดีครับ ท่านผู้สนใจข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการศึกษาทุกท่านครับ สารฉบับที่ ๓/๒๕๕๘ ผมเล่าให้ฟังเกี่ยวความเคลื่อนไหวทางการศึกษาและสาระสำคัญในส่วนของการศึกษาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เวลาเราจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดก็ตาม เราต้องให้ความชัดเจนในสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง  โดยตอบคำถาม ๕ W ๒ H นั่นก็คือ  What Why  When  Where  Who How และ How much  ในรอบ ๖ เดือนที่ผ่านมาเรามุ่งอธิบายว่า เราจะทำอะไร ทำไปทำไม แต่คำอธิบายว่า จะทำอย่างไร จะทำเมื่อไร ทำที่ไหน ใครเป็นผู้ทำ และใช้เงิน ใช้คนเท่าไร มักไม่ค่อยได้พูดถึง สารฉบับต่อๆไป เราคงมาคุยกันใน ๕ คำถามหลังกันมากขึ้นนะครับ และผมอาจไม่คุยคนเดียวแล้ว แต่จะเปิดเวทีให้ทุกท่านได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นกันบ้าง ฉบับนี้ผมคุยคนเดียวก่อนนะครับ
๑.   ความเคลื่อนไหวทางการศึกษา           
       ช่วงนี้ สพฐ.กำลังดำเนินการสอบบรรจุครูผู้ช่วย ซึ่งจะประกาศผลสอบในวันที่ ๑๐ พฤษภาคมนี้ และหลังจากนี้ ยังมีกิจกรรมเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลอีกหลายกิจกรรม ได้แก่ การสอบผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ การย้ายรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่ง สพฐ./ก.ค.ศ. จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีงบประมาณนี้  สำหรับผมเองแล้วก็รู้สึกยินดี ที่สถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่จะได้บุคลากรเต็มตามกรอบ ได้ขยับขยาย เปลี่ยนที่ทำงาน เกิดความพึงพอใจทั้งหน่วยงานและบุคลากร และก็นับวันนับคืนเฝ้ารอว่าเมื่อไร หน่วยงาน โดยเฉพาะสถานศึกษาจะมีโอกาสเลือกครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เองอย่างอิสระ ตรงตามความต้องการเสียที                   
๒.  การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน
.         สารฉบับก่อนผมพูดถึงการปฏิรูปการเรียนรู้ไป ฉบับนี้ขอกล่าวถึงการปฏิรูปการบริหารจัดการและการปฏิรูปการพัฒนาวิชาชีพพอสังเขป ดังนี้
  ๒.๑การปฏิรูปการบริหารจัดการ ที่ผ่านมาวงการศึกษาตกเป็นจำเลยว่าบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ลงทุนเพื่อการศึกษามากมาย แต่ผลตอบแทนการลงทุนกลับไม่คุ้มค่า ไม่น่าพอใจ   สิ่งที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการบริหารจัดการตรงกับร่างรัฐธรรมนูญที่กล่าวไว้ใน ข้อ ๑ เกือบทั้งหมด นั่นคือ
๑) ต้องการให้มีการกระจายอำนาจจาก สพฐ.ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่และสถานศึกษาให้มากขึ้น สถานศึกษามีอิสระในการบริหารจัดการควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานของตน
๒) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วนของสังคม  
๓)โครงสร้างของส่วนกลางมีข้อเสนอแยกเป็น ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มประถมศึกษา กลุ่มมัธยมศึกษา กลุ่มการศึกษาพิเศษ และ กลุ่มวิชาการ จะเรียกส่วนราชการเหล่านี้เป็นสำนักงาน ทบวงหรือ กรม ก็แล้วแต่ ในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีข้อเสนอให้เพิ่มจำนวนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และลดจำนวนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา  นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอให้มีหน่วยงานทางการศึกษาระดับอำเภอและกลุ่มโรงเรียนอีกด้วย  การบริหารโดยองค์คณะบุคคลในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีข้อเสนอให้เหลือเพียงคณะเดียว จากเดิมมีถึง ๔ คณะ (กพท. ,อ.ก.ค.ศ.  ,กตปน. และคุรุสภา) หรืออาจไม่มีเลยสักคณะเดียวตามรูปแบบเดิม และมีแนวโน้มสูงมากที่จะเกิดสภาการศึกษาจังหวัด ซึ่งเป็นการรวมตัวกันทุกภาคส่วนในจังหวัดเพื่อพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิตร่วมกัน ในการจัดโครงสร้างดังกล่าว มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เพิ่มคนและเงินที่จะเป็นภาระของรัฐบาล
 ๒.๒ การปฏิรูปการพัฒนาวิชาชีพ  การปฏิรูปด้านนี้ก็คือการปฏิรูปการบริหารงานบุคคลนั่นเอง  สพฐ.ได้ดำเนินการเรื่องนี้ เกี่ยวกับ การปฏิรูปการผลิตและการสรรหา  การปฏิรูประบบการพัฒนาครู  การปฏิรูประบบค่าตอบแทนการปฏิบัติงานและเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ  การปฏิรูประบบความก้าวหน้าทางวิชาชีพ  ขยายความหน่อยนะครับ  การผลิตและการสรรหา เป็นการประสานงานกับสถาบันการผลิตครูเพื่อให้ได้คนดี คนเก่งมาเรียน/เป็นครู  โดยจะมีการฟื้นโครงการคุรุทายาทขึ้นมาดำเนินการใหม่ แต่ถ้าจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกอย่างก็คงต้องรอ ๔-๕ ปี กว่าจะได้น้องๆ เหล่านี้มาเป็นครู ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องการให้เร็วกว่านี้ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่จะคัดนักศึกษา ปีที่ ๔-๕ เข้าโครงการสักจำนวนหนึ่งก่อน สำหรับการสรรหานั้นจะพยายามให้สถานศึกษาเข้ามามีบทบาทในการสรรหาบุคลากรมากยิ่งขึ้น  ระบบการพัฒนาครู ในการพัฒนาครูนั้นจะพัฒนาด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย พยายามนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าใช้ประโยชน์ในการพัฒนา เน้นการพัฒนาตนเองตาม ID plan โดยไม่ทิ้งนักเรียน ทิ้งห้องเรียน  ระบบค่าตอบแทนการปฏิบัติงานและเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ จะมีการพัฒนาระบบค่าตอบแทนที่เหมาะสมแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในส่วนที่เกินบทบาทภารกิจ และความยากลำบากในการไปปฏิบัติงาน ซึ่งอาจเป็นค่าตอบแทนที่เป็นเงิน หรือการยกย่องเชิดชูเกียรติซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจ มีการส่งเสริมคุณภาพชีวิตครูให้มีสวัสดิการและสวัสดิภาพที่ดี ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ มุ่งเน้นการสร้างเสริมและประเมินความสัมพันธ์ระหว่างความก้าวหน้าทางวิชาชีพกับผลการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นตามบทบาทหน้าที่              
๓. การเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน.         สพฐ. ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนนโยบายและเป้าหมายการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมแก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข  ดังนั้น ในปีการศึกษา ๒๕๕๗-๒๕๕๘ สพฐ.ได้กำหนดให้เป็น “ปีแห่งการดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียน” ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ. ได้ดำเนินการพิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครองและดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อให้เด็กอยู่รอดปลอดภัยจากการถูกประทุษร้าย ถูกคุกคามทางเพศ ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ติดสารเสพติด  ที่ผ่านมานั้นได้ดำเนินงานพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนร่วมกับหน่วยงานอื่นๆในลักษณะเครือข่าย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด องค์การ UNICEF มูลนิธิการศึกษาไทย เป็นต้น ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี สพฐ. ต้องขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้
       คงพอแค่นี้ก่อนนะครับ ฉบับหน้าพบกันใหม่นะครับ
ดร.รังสรรค์  มณีเล็ก
รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ไม่มีความคิดเห็น: