วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สารจากโฆษกสพฐ. 5/2558

สวัสดีครับ ท่านผู้สนใจข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการศึกษาทุกท่านครับ ในช่วงนี้มีกิจกรรมหลายอย่างที่ สพฐ.กำลังดำเนินการ โดยไม่ต้องรอแก้กฎหมายใดๆ ไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ กิจกรรมดังกล่าวที่นำเสนอในฉบับมี ดังนี้ครับ
๑.   การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ
.     สพฐ.กำลังดำเนินการสังคายนาข้อมูลสารสนเทศที่ เก็บจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาใหม่ เนื่องจากข้อมูลและสารสนเทศดังกล่าวส่วนหนึ่งไม่ค่อยได้ประโยชน์ อีกส่วนหนึ่งมีความซ้ำซ้อนกัน ซึ่งเป็นภาระกับผู้ให้ข้อมูลเป็นอย่างมาก วิธีการก็ทำโดยเชิญสำนัก/หน่วยงานใน สพฐ.ที่พัฒนาฐานข้อมูลมาคุยกัน นำโครงสร้างฐานข้อมูลมาดู ข้อมูลใดไม่จำเป็น หรือซ้ำซ้อนก็จะตัดทิ้งไป ข้อตกลงของเราก็คือ ก่อนจะขอข้อมูลใดๆจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือสถานศึกษา ให้ตรวจสอบก่อนว่าเคยมีสำนัก/หน่วยงานใดเก็บมาแล้ว ถ้ามีแล้วไม่ต้องเก็บใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษามีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะไม่ให้ข้อมูล หากข้อมูลดังกล่าวถูกเก็บไปแล้ว

๒.  การปรับปรุงแบบรูปรายการสิ่งก่อสร้างและคุณลักษณะเฉพาะครุภัณฑ์
.     สพฐ. จะดำเนินการปรับปรุงแบบรูปรายการสิ่งก่อสร้าง (Plan) และคุณลักษณะเฉพาะครุภัณฑ์(Specification) ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาได้รับจัดสรร เนื่องจากแบบรูปรายการสิ่งก่อสร้างบางแบบไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และกำหนดราคาก่อสร้างไว้ต่ำเกินไป สำหรับครุภัณฑ์นั้นมีปัญหาตรงข้ามกับสิ่งก่อสร้าง คือ ครุภัณฑ์บางรายการกำหนดราคาไว้สูงเกินไป เรื่องสิ่งก่อสร้างอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักอำนวยการ เรื่องครุภัณฑ์อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักคลังและสินทรัพย์

๓.
การปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน.     สพฐ. กำลังเสนอขอทบทวนอัตราเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับนักเรียน ซึ่งมี ๕ รายการ คือ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  และรวมไปถึงเงินช่วยเหลือเด็กยากจน เงินค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนพักนอนที่โรงเรียน ซึ่งสถานศึกษาได้รับงบประมาณอัตราค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาป ระมาณ ๕ ปีมาแล้ว ซึ่งขณะนี้สภาพเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปมาก ประกอบกับในปัจจุบันสถานศึกษามีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ค่าสาธารณูปโภค(ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์)สูงขึ้นกว่าเดิมเป็นจำนวนมาก  ขณะนี้ได้ยกร่างอัตราเงินอุดหนุนดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่และสถานศึกษามาร่วมประชุมปฏิบัติการ มีการนำเสนอค่าใช้จ่ายจริงในแต่ละละปีการศึกษา วิเคราะห์แยกเป็นต้นทุนคงที่ (Fixed cost)และต้นทุนแปรผัน (Variable cost)  จากนี้ก็จะเสนอขอความเห็นชอบจากท่านรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ถ้าเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ สถานศึกษาก็จะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนในอัตราใหม่ตั้งแต่ ๑ ตุลาคมนี้ครับ
๔.  ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก.     ที่ผ่านมา สพฐ. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกหลายหน่วยงานทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนและส่วนใหญ่ผู้ปฏิบัติกิจกรรมดังกล่าวก็คือ ครูและนักเรียนในสถานศึกษา ขณะนี้เริ่มมีเสียงบ่นกันออกมาดังๆว่ากิจกรรมดังกล่าวไปเบียดบังเวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูและนักเรียน ดังนั้น จึงได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาทบทวนกันใหม่ เมื่อวิเคราะห์กิจกรรมต่างๆที่สถานศึกษาดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก พบว่า เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทางวิชาการ คุณธรรม ทักษะชีวิต สุขภาพ การส่งอาชีพพื้นฐาน และอื่นๆ กิจกรรมดังกล่าวเกิดประโยชน์มากน้อยต่อผู้เรียนแตกต่างกันไป สพฐ.มีแนวทางการดำเนินการในเรื่องนี้ ดังนี้
.      ๑) ทบทวนโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกว่าได้ประโยชน์ คุ้มค่า ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาหรือไม่
     ๒) สถานศึกษามีอิสระในการเลือกที่จะเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมกับหน่วยงานภายนอก โดยคำนึงถึงประโยชน์และความคุ้มค่าต่อนักเรียน
.      ๓) ต้องบูรณาการโครงการ/กิจกรรมที่สถานศึกษาเลือกไปกับกิจกรรมการเรียนรู้และถือว่าป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตามหลักสูตร
.      ๔) สถานศึกษาต้องบรรจุโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกไว้ในแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
๕.  การปรับปรุงการให้บริการ.     เมื่อเร็วๆนี้ สพฐ. ได้ทำการสำรวจความไม่พึงพอใจต่อการให้บริการของเจ้าหน้าที่สำนักต่างๆในส่วนกลาง ไม่เว้นแม้แต่ทีมงานเลขานุการของเลขาธิการและรองเลขาธิการทุกคน ซึ่งการให้บริการดังกล่าวเป็นการให้บริการต่อคนในสังกัด ไม่ว่าจะเป็น บุคลากรจาก สพฐ.ด้วยกันเอง หรือบุคลากรจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสถานศึกษา ซึ่งได้รับข้อมูลมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการไม่มีจิตบริการ ความไม่ชัดเจนในคำแนะนำ การใช้วาจาไม่สุภาพ รวมไปถึงเรื่องการจัดสวัสดิการและสวัสดิภาพต่อบุคลากรในบางเรื่อง ยังไม่น่าประทับใจ ซึ่งผู้อำนวยการสำนักต่างๆได้รับฟังข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงจุดอ่อนดังกล่าวแล้วครับ
.          คงพอแค่นี้ก่อนนะครับ ฉบับหน้าพบกันใหม่นะครับ
ดร.รังสรรค์  มณีเล็ก
รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ไม่มีความคิดเห็น: