วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สารจากโฆษก สพฐ. ๗/๒๕๕๘

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่สนใจ ข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางการศึกษาทุกท่าน ขณะนี้โรงเรียนเปิดภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๘ แล้ว สพฐ. ได้แบ่งสายเยี่ยมเยียนโรงเรียนต่างๆ เพื่อดูความพร้อมของโรงเรียน ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งก็พบว่าโรงเรียนทั้งหมดที่ไปเยี่ยมมานั้นมีความพร้อมเต็มที่  
 .          ฉบับนี้ ผมขอเสนอ ๒ เรื่อง คือ กิจกรรมสร้างสรรค์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และงานปฏิรูปการศึกษา เดินหน้าประเทศไทย เริ่มเลยนะครับ

๑. กิจกรรมสร้างสรรค์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
       ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ผมได้มีโอกาสรับทราบและไปร่วมกิจกรรมที่สร้างสรรค์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๓ เขต คือ
.           สพป.พิษณุโลก เขต ๓ ได้จัดงานมหกรรมวิชาการ โดยนำผลงานสุดยอดของผู้บริหารโรงเรียน ครู และนักเรียนมานำเสนอ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สิ่งที่ประทับใจ ก็คือ การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียน ขอบอกว่านักเรียนเก่งมากๆ ถ้าไม่เงยหน้ามองนึกว่าชาวต่างชาติกำลังพูดประชาสัมพันธ์งาน อีกส่วนหนึ่งก็คือ สื่อสำหรับแก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งมีมากมาย และน่าสนใจ ผลิตโดยครูและนักเรียน รูปแบบของสื่อไม่แพ้ที่วางขายในท้องตลาด ผมยังเชียร์ให้ไปจดลิขสิทธิ์อยู่เลย
         สพป.เชียงใหม่ เขต ๒ ซึ่งได้ร่วมมือกับ อบจ.เชียงใหม่ เชิญผู้บริหารโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา มาร่วมกันประกาศสัตยาบัน ซึ่งสาระสำคัญของสัตยาบันดังกล่าว มีดังนี้
.          – การจงภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
.          – การร่วมแรง ร่วมใจ เร่งรัด การยกระดับคุณภาพการศึกษา
.          – การสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา
         – การแก้ปัญหา การอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
.          – การต่อต้านคอรัปชั่น
.          – การพัฒนาบุคลากรโดยเน้นการพัฒนาตนเอง
.          คำที่ใช้ในสัตยาบันจะสละสลวยกว่านี้นะครับ นอกจากนั้นยังได้มีการเสนอความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะเรื่อง สภาการศึกษาจังหวัด ซึ่งเชียงใหม่ก็เป็นจังหวัดนำร่อง ได้ดำเนินการมาอย่างได้ลน่าพอใจ
         สพป.กทม. ได้จัดทำโครงการ “เส้นทางการพัฒนาสู่ประถมกรุงเทพดีที่สุด (Milestones to simply the best) ปีการศึกษา ๒๕๕๘ โดยร่วมกันกำหนดเส้นทางความสำเร็จ (Milestones) และกำหนดเกณฑ์ความสำเร็จ เป็น ๕ ระดับ โดยเน้นที่คุณภาพผู้เรียน สำหรับวิธีดำเนินงานที่น่าสนใจ ก็คือ ให้ทุกโรงเรียนจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริงทั้งชิ้นงาน โครงงานทั้งงานเดี่ยว งานกลุ่ม ให้โรงเรียนจัดห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูกับครู ครูกับนักเรียน นักเรียนกับนักเรียน นอกจากนั้นยังเน้นในเรื่องการนิเทศภายในโรงเรียน
  .          ผมเชื่อว่าทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา คงมีกิจกรรมดีๆ กันทุกเขต สพฐ. จะช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และอาจจะจัดเวลาให้นำเสนอในช่วงการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
 ๒. งาน “มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย”
         ช่วง ๒๑-๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ กระทรวงศึกษาธิการ จะจัดงาน “มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย” ณ กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนินนอก กทม. โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินการจัดการศึกษาตลอดชีวิตแก่สาธารณชนให้รับรู้โดยทั่วกัน ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติมาเป็นประธานและชมงาน ในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๘.๐๐ – ๙.๓๐ น. ซึ่งจะถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง ๑๑ ในงานจะจัดนิทรรศการ ๙ โซน คือ
 .         โซนที่ ๑   การพัฒนาคุณลักษณะผู้เรียน การแก้ปัญหาอ่านออกเขียนได้
 .         โซนที่ ๒   การจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาเซียน
 .         โซนที่ ๓   การพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา
.          โซนที่ ๔   การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล
 .         โซนที่ ๕   การขยายโอกาสทางการศึกษา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
 .         โซนที่ ๖   การจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ
.          โซนที่ ๗   การจัดการศึกษา ระดับอุดมศึกษา
 .         โซนที่ ๘   การจัดการศึกษาตามแนวพระราชดำริ
 .         โซนที่ ๙   การศึกษาเดินหน้าประเทศไทย
  .         นอกจากนิทรรศการตามโซนต่างๆ แล้ว ยังมีรายการอภิปรายทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อที่น่าสนใจหลายเรื่อง จึงขอเชิญชวนทุกท่านหาโอกาสเข้าร่วมชมงาน “มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย” และเนื่องจากงานนี้จะจัดในบริเวณกระทรวงศึกษาธิการ ไม่สามารถนำรถยนต์เข้าไปจอดในกระทรวงได้ สถานที่จอดรถที่เตรียมไว้ ก็คือ ถนนราชดำเนินนอก ด้านหน้ากระทรวง, ถนนพิษณุโลก, ถนนลูกหลวง, ถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม หน้าโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏฯ และใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี
  .        สารฉบับนี้ คงนำเสนอเพียงเท่านี้นะครับ แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้าด้วย
ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก
รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ไม่มีความคิดเห็น: