วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 200/2558 ผลการประชุมสภาการศึกษา 2/2558

โรงแรมเดอะ สุโกศล พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 2/2558 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู และเห็นชอบในหลักการการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574


เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เสนอ ซึ่งร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีการกำหนดวิสัยทัศน์ "ระบบการผลิตและพัฒนาครูของไทยเป็นระบบชั้นนำแนวหน้า เพื่อให้ครูเป็นครูมืออาชีพ มีสมรรถนะเป็นเลิศระดับสากล" ภายใต้กรอบแนวคิดยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู : พลเมืองที่มีคุณภาพเหมาะกับการเป็นประชากรในศตวรรษที่ 21 และครูมืออาชีพที่มีสมรรถนะเป็นเลิศในระดับสากลเหมาะสมกับบริบทของไทย
โดยมียุทธศาสตร์ 5 ด้าน ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปฏิรูประบบและรูปแบบการผลิตครู
1) จัดทำแผนการผลิตครูที่สัมพันธ์กับแผนการใช้ครู
2) เสริมสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งให้สถาบันผลิตครู
3) วางระบบการจัดสรรทุนสำหรับนักศึกษาครู
4) ปรับระบบและรูปแบบการผลิตครู
5) กำหนดแนวทางการเตรียมนักศึกษาครูเพื่อให้ได้ครูดีมีคุณภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การปฏิรูประบบและรูปแบบการพัฒนาครู 1) วางระบบการพัฒนาครูประจำการ
2) กำหนดรูปแบบกิจกรรมการพัฒนาครู
3) ส่งเสริมและสนับสนุนรูปแบบการพัฒนาครูและเครือข่ายการพัฒนาครูไปสู่ครูมืออาชีพ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การปฏิรูประบบการใช้ครูและระบบบริหารงานบุคคลของครู1) วางระบบการบรรจุแต่งตั้งครูประจำการ
2) วางระบบการฝึกปฏิบัติงานของครูผู้ช่วยเพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพ
3) วางระบบการปฏิบัติงานของครูและผู้บริหารสถานศึกษา
4) ปรับระบบโครงสร้างการบริหารงานบุคคลของครูทั้งระบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การปฏิรูปการวิจัยของสถาบันผลิตและพัฒนาครู1) วิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมการผลิตครู
2) วิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมการพัฒนาครู
3) พัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้และสร้างสิ่งแวดล้อมทางวิชาการ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู1) จัดให้มีกลไกระดับนโยบายรับผิดชอบการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
2) จัดตั้งศูนย์ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นผู้นำด้านต่างๆ
3) ทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบให้ สกศ. นำข้อเสนอแนะของที่ประชุม 
อาทิ การกำหนดคำนิยามต่างๆ ให้มีความชัดเจน เช่น ประชากรในศตวรรษที่ 21 ครูมืออาชีพ การมีสมรรถนะเป็นเลิศในระดับสากล การกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเด็กที่จะมาเรียนครูและนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง ไม่ควรเปลี่ยนไปมา และควรมีระบบการผลิตครูที่มุ่งเน้นคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน ฯลฯ ไปปรับปรุงในรายละเอียด ก่อนการนำร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป

เห็นชอบในหลักการการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574
ที่ประชุมให้ความเห็นชอบในหลักการการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 โดยเน้น 3 ด้าน คือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน คนเป็นศูนย์กลางและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และพัฒนาสู่วิสัยทัศน์ประเทศไทยปี พ.ศ.2575 (มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน) โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 การยกร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยได้ดำเนินการในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งได้มีการเตรียมข้อมูล ศึกษาวิจัย และรวบรวมข้อเสนอแนวทางต่างๆ สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนในปีต่อไป โดยประเด็นสำคัญได้เน้นไปที่การกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาในระดับภาคการศึกษา เช่น
  • สำนักงานศึกษาธิการภาค 1  (หลายจังหวัดในภาคเหนือ) จะเน้นไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิตและบริการ โดยใช้เอกลักษณ์ล้านนา ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานเศรษฐกิจเดิม เช่น เกษตร ท่องเที่ยว หัตถกรรม ฯลฯ และสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ เช่น อุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์ ธุรกิจบริการสุขภาพ สปา อุตสาหกรรมการจัดประชุมและนิทรรศการ
  • สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 (หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ มีการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ผลิตภัณฑ์ชุมชน การค้าชายแดน ฯลฯ
  • สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 (จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งสงขลา) เน้นไปที่การพึ่งพาด้านการเกษตรเป็นสาขาหลัก อัตลักษณ์เชิงสังคม วัฒนธรรม เป็นต้น
  • สำนักงานศึกษาธิการภาค 13 (กรุงเทพมหานคร) เน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการ เป็นมหานครแห่งคุณภาพชีวิตที่ดีและมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เป็นศูนย์กลางการศึกษา
ระยะที่ 2 การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งจะดำเนินการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับสมบูรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ 2559 ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดเล็กๆ เพื่อให้ดำเนินงานมีความคล่องตัว จึงได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจด้านการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฯ มีนายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ เป็นประธานอนุกรรมการ และเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นรองอนุกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ดำเนินการอื่นตามที่สภาการศึกษาหรือประธานสภาการศึกษามอบหมาย มอบหมายบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการตามที่เห็นสมควร
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เหตุที่แผนการศึกษาฉบับนี้กำหนดกรอบระยะเวลาถึง 15 ปี เนื่องจากต้องการมองภาพรวมของการดูแลผู้เรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ในรายละเอียดของแผนจะมีการกำหนดแผนเป็นระยะต่างๆ ทั้งระยะ 10 ปี 5 ปี และแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับการดำเนินการในแต่ละช่วง

ไม่มีความคิดเห็น: