วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สารจากโฆษกสพฐ.๙/๒๕๕๘

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่สนใจ ข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางการศึกษาทุกท่าน หวังว่าท่านผู้อ่านคงได้ไปทำบุญไหว้พระ เวียนเทียนเนื่องในวันวิสาขบูชา ขอให้กุศลผลบุญส่งผลให้พวกเราคิดดี พูดดี ทำดีกันทุกคนครับ และเพื่อให้เรื่องราวที่ผมต้องการสื่อสารท่านไม่กระจัดกระจายมากนัก ช่วงนี้ผมจะพยายามเสนอในกรอบ ๓ ด้าน คือ ด้านโอกาสในการเข้าถึงบริการการศึกษา (Access) ด้านคุณภาพการศึกษา (Quality) และด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ (Efficiency) เริ่มเลยนะครับ
๑.  ด้านโอกาสในการเข้าถึงบริการการศึกษา
.     หวังเป็นอย่างยิ่งว่าขณะนี้เด็กในวัยการศึกษาขั้นพื้นฐานคงมีสถานที่เรียนกันทุกคนแล้วนะครับ หากบุตรหลานของท่านใดที่ยังไม่มีที่เรียน ขอได้โปรดแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่อยู่ในภูมิลำเนาของท่านโดยด่วนครับ ผมรับรองว่าบุตรหลานของทุกท่านมีที่เรียนอย่างแน่นอน ในปีผ่านๆมามีหลายโรงเรียนที่ปฏิเสธการรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเด็กไทยหรือเด็กต่างชาติที่มาอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ขอเรียนให้ทราบว่า เราต้องดูแลเด็กทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยอย่างเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าเด็กคนนั้นจะไม่ใช่เด็กไทยก็ตามและเมื่อเข้าเรียนแล้วก็จะได้รับสิทธิ์เหมือนเด็กไทยทุกประการ หากไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ ก็จะใช้วิธีการกำหนดรหัสพิเศษแทนเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ในระหว่างเด็กดังกล่าวเรียนอยู่ในโรงเรียนก่อนจะจบหลักสูตร ทางโรงเรียนก็ต้องพยายามหาร่องรอยหลักฐานของเด็กนั้นๆ ถ้าไม่มีจริงๆก็ใช้พยานบุคคลมารับรองว่าเด็กเหล่านั้นเป็นใครมาจากไหน และเมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้ว แต่โรงเรียนก็ยังได้ข้อมูลไม่สมบูรณ์ โรงเรียนจะทำได้ก็เพียงรับรองความรู้ได้เท่านั้น หลายท่านคงเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงของประเทศ คงไม่ต้องห่วงครับ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ปี ๒๕๔๘  ตราบใดที่มติคณะรัฐมนตรียังไม่เปลี่ยนแปลง ก็ให้ดำเนินการตามที่ผมกล่าวมานะครับ
๒.  ด้านคุณภาพการศึกษา.     ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษากำลังทบทวนผลการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อนำไปสู่การปรับหลักสูตรดังกล่าว แน่นอนครับ เมื่อหลักสูตรเปลี่ยนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล สื่อและแหล่งเรียนรู้ก็ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่เปลี่ยนไป จากผลการประเมินการใช้หลักสูตรเท่าที่ทราบมา พบว่า ตัวหลักสูตรไม่ได้เป็นปัญหาอะไรมากนัก มาตรฐานการเรียนรู้ก็ปรับเปลี่ยนจากการเน้นเนื้อหาเป็นการเน้นพฤติกรรมของผู้เรียนแทน แต่สิ่งที่เป็นปัญหามากก็คือ การนำหลักสูตรไปใช้ นั่นก็คือ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งยังไม่ค่อยสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ไม่พยายามสรรหาและใช้สื่อ/แหล่งเรียนรู้เท่าที่ควร การวัดและประเมินผลเน้นเอกสารมากกว่าการประเมินตามสภาพจริงของผู้เรียน ดังนั้น ถึงแม้ว่าหลักสูตรยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนในขณะนี้ การยกระดับคุณภาพของผู้เรียนก็สามารถทำได้ หากมีการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ตลอดจนวัดและประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง และเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่โรงเรียนและนักเรียนมากเกินไป ก็กำหนดให้ สถาบันทดสอบแห่งชาติ (สทศ.) จัดสอบ O-NET เพียง ๕ กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ส่วนอีก ๓ กลุ่มสาระให้โรงเรียนไปดำเนินการเอง รวมทั้งยกเลิกการทดสอบ LAS (Local Assessment System) ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๘ นี้เป็นต้นไป
๓.  ด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
.     นิยามคำว่า “ ประสิทธิภาพ ” ของผม ก็คือ “ ประโยชน์สูง ประหยัดสุด ” กล่าวคือ บริหารจัดการได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยใช้ปัจจัยน้อยที่สุด ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำลังดำเนินการเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานในการจัดการศึกษาของโรงเรียน ๓ เรื่อง คือ
.          เรื่องแรก คือ การขอปรับงบอุดหนุนรายหัวนักเรียน ๕ รายการ คือ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าเสื้อผ้านักเรียน อุปกรณ์การเรียน ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งใช้อัตราเดิมมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้ว โดยสรุปแล้วจะขอปรับขึ้นประมาณร้อยละ ๑๐ ของงบอุดหนุนรายหัวเดิม และขอเพิ่มค่าสาธารณูปโภคอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กพักนอนในโรงเรียนปกติให้เท่ากับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ขยายงบอุดหนุนเด็กยากจนจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการศีกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะทำรายละเอียดเพิ่มเติมและขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและคณะรัฐมนตรี ถ้าผ่านความเห็นชอบก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการขอตั้งงบประมาณจากสำนักงบประมาณ ยังตอบไม่ได้ครับว่าจะได้เมื่อไร เพราะขั้นตอนต่อจากนี้เหนือการควบคุมของเรา ผมจะรายงานให้ทุกท่านทราบความก้าวหน้าเป็นระยะๆครับ
.          เรื่องที่สอง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เสนอโครงการสร้างพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ มูลค่า ๖,๐๐๐ ล้านบาท ในยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)เป็นผู้เสนอขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีในภาพรวมของทุกกระทรวงทั้งประเทศ หน่วยงานของเราจะได้อะไรจากงานนี้ โครงการนี้มุ่งหวังให้โรงเรียนของเราจำนวนหนึ่งได้รับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยจะมีเอกชนมาลงทุนให้เราก่อน สำหรับการดูแลรักษาอุปกรณ์ รวมทั้งการผ่อนใช้งบลงทุนดังกล่าว คงต้องคุยในรายละเอียดกันอีกครั้งหนึ่ง เรื่องนี้ผมเคยนำเสนอมาครั้งหนึ่งแล้วว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องการให้เอกชนมาลงทุนให้ก่อนในหลายๆ เรื่อง เช่น อาคารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา อาคารเรียน อาคารประกอบ สนามกีฬา รถยนต์ ระบบไฟฟ้า ประปา คอมพิวเตอร์ เป็นต้น จะดำเนินการในลักษณะ “ซื้อก่อน จ้างก่อน ผ่อนทีหลัง” แต่รอบแรกนี้ข้อมูลจากการสำรวจความต้องการยังไม่ค่อยสมบูรณ์ จึงเสนอขอแผงโซลาร์เซลล์ก่อนเพียงรายการเดียวก่อน
.          เรื่องที่สาม ปัจจุบันโรงเรียนของเรามีเครื่องใช้ไฟฟ้ามากกว่าเดิม เนื่องจากโรงเรียนจำเป็นต้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อการเรียนการสอน ซึ่งในแต่ละปีโรงเรียนต้องนำงบอุดหนุนมาจ่ายค่าไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก  เพื่อให้ค่าไฟฟ้าลดลง เราก็พยายามรณรงค์ให้ประหยัดการใช้ไฟฟ้า และพยายามใช้แผงโซลาร์เซลล์  อีกหนึ่งความพยายามที่จะช่วยลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับโรงเรียนก็คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะขอเจรจากับการไฟฟ้าเพื่อขอใช้อัตราค่าไฟฟ้าในอัตราพิเศษ ราคาต่อหน่วยถูกกว่าปัจจุบัน เป็นอัตราเพื่อการศึกษา แล้วจะรายงานผลความก้าวหน้าในการเจรจาให้ทราบนะครับ
.     สารฉบับนี้ คงนำเสนอเพียงเท่านี้นะครับ แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้าครับ
ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก
รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ไม่มีความคิดเห็น: