วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 286/2558 ยุทธศาสตร์การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ

 พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2558 ว่าที่ประชุมเห็นชอบยุทธศาสตร์การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการพร้อมทั้งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน 10 ชุดลงไปในระดับพื้นที่ เพื่อร่วมดำเนินการภายใต้ 4 กลยุทธ์ คือ 1) ขยายโอกาสการเข้าถึงบริการการศึกษาที่มีคุณภาพ เสมอภาค และยุติธรรม 2) พัฒนาคุณภาพผู้เรียนทุกระดับ ทุกกลุ่ม และทุกประเภท 3) พัฒนาระบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา 4) พัฒนาระบบการสนับสนุนการจัดการศึกษา และ 3 มาตรการ คือ ประกันโอกาส ประกันคุณภาพ และประกันประสิทธิภาพ

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบดำเนินงานการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
 ดังนั้น จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา มีนายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานกรรมการ โดยมีนายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่วางแผนดำเนินการและรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อนายกรัฐมนตรีทุก 15 วัน นอกจากนี้ เพื่อทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองและเสนอความเห็นเชิงนโยบายด้านความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีการประชุมหารือวางแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาโดยลำดับ

 ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแผนยุทธศาสตร์และมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภายใต้วิสัยทัศน์ “พลเมืองไทยมีคุณภาพทางการศึกษา มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะและศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย พ.ศ.2558-2563 มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยมีกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน (เด็กทั่วไป เด็กด้อยโอกาส เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ เด็กที่มีความพร้อมสูง และเด็กเป้าหมายพิเศษ) อาชีวศึกษา จนถึงอุดมศึกษา ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
 วัตถุประสงค์  เพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่และทุกระดับการศึกษา เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน และเพื่อให้มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการสร้างโอกาส คุณภาพ และความเป็นธรรมในสังคม
 4 กลยุทธ์ คือ 1) ขยายโอกาสการเข้าถึงบริการการศึกษาที่มีคุณภาพ เสมอภาค และยุติธรรม 2) พัฒนาคุณภาพผู้เรียนทุกระดับ ทุกกลุ่ม และทุกประเภท 3) พัฒนาระบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา 4) พัฒนาระบบการสนับสนุนการจัดการศึกษา
 3 มาตรการ คือ
 1) ประกันโอกาส  โดยจัดอาหารเช้าให้แก่เด็กด้อยโอกาสที่มีความยากจนมากเป็นพิเศษ (ครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี) -จัดบริการสาธารณสุข จิตวิทยา การพยาบาลฉุกเฉิน -จัดบริการช่วยเหลือบำบัดฟื้นฟู และเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ห้องเรียน -จัดตั้งศูนย์การเรียนและสถานศึกษาเฉพาะความพิการ -จัดเรือนพักนอนสำหรับนักเรียน-เติมเต็มความรู้ผ่านสื่อที่หลากหลาย -จัดสรรงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับปัจจัยพื้นฐานแก่เด็กยากจนในอัตราส่วนที่สอดคล้องกับเส้นแบ่งความจน -จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมพิเศษตามหลักเกณฑ์การจัดสรรเช่นเดียวกับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์-จัดตั้งศูนย์เยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบ -จัดเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นเฉพาะบุคคล
 2) ประกันคุณภาพ  จัดให้มีครูพี่เลี้ยงปฐมวัยประจำชั้นเรียน -พัฒนาครูที่รับผิดชอบสอนระดับปฐมวัยให้มีทักษะและประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ -พัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนโดยวิธีแจกลูกสะกดคำและจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมอง -จัดสรรครูภาษาถิ่นสำหรับเด็กที่ไม่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก -พัฒนาครูให้สามารถสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้วยภาษาอังกฤษ -จัดทำหลักสูตรอาเซียน -จัดทำหลักสูตรอาชีพให้โรงเรียนเลือกใช้ -สนับสนุนให้นักเรียนเรียนหลักสูตรทวิศึกษา -จัดการเรียนการสอนที่สนุกสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้เรียน -จัดหาและพัฒนาสื่อตามพัฒนาการด้านต่างๆ -สนับสนุนทุนประกอบอาชีพระหว่างเรียน
 3) ประกันประสิทธิภาพ  ด้วยวิธีการต่างๆ คือ พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสาร -จัดให้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง -ใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาทางไกล (DLTV-DLIT) -กำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะให้สอดคล้องกับงานประจำ -จัดตั้งกลุ่มโรงเรียนให้เป็นหน่วยงานทางการศึกษา-มีการประเมินศักยภาพและสมรรถนะครูอย่างเป็นระบบ -พัฒนาระบบช่วยเหลือนักเรียนให้มีการเชื่อมโยงตั้งแต่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา จนถึงระดับชาติ -ให้มีครูแนะแนวทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา -เพิ่มเงินพิเศษให้ครูที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยอันตรายในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่สูง -พัฒนาครูให้ตรงตามความต้องการของตัวเองและสอดคล้องกับภารกิจที่รับผิดชอบโดยยึดพื้นที่ -พัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาให้มีภาวะผู้นำทางวิชาการ -จัดให้มีบุคลากรสายสนับสนุนการสอน -ปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษามีส่วนร่วม -จัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงพื้นที่และขนาดสถานศึกษา -จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมแก่โรงเรียนขนาดเล็ก
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้แก่
คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ  โดยมีผู้แทนจากองค์กรหลักและสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เป็นที่ปรึกษา มีนายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานกรรมการ มีนางธิดาพร พาณิชพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 เป็นกรรมการและเลขานุการ  เพื่อทำหน้าที่ ประสานและหลอมรวมข้อเสนอนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของทุกส่วนราชการ เสนอข้อเสนอนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในระดับกระทรวง ตลอดจนเสนอแผนการดำเนินงานระยะที่ 2-3 ต่อคณะกรรมการดำเนินงาน
- คณะทำงานศูนย์ประสานงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ  โดยมีนางณรี สุสุทธิ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มีนางญาณกร จันทหาร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 5 จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นคณะทำงานและเลขานุการ  เพื่อทำหน้าที่  ปฏิบัติงานเลขานุการของคณะกรรมการอำนวยการฯ ประสานการดำเนินงานกับทุกส่วนราชการในกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำรายงานผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์)
 คณะทำงานจัดทำข้อเสนอนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  ประกอบด้วยคณะทำงานจัดทำข้อเสนอนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำเอกสารและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการนำเสนอและเผยแพร่นโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คณะอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ โดยมี ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหาร สพฐ. เป็นที่ปรึกษา มีนางณรี สุสุทธิ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน  เพื่อทำหน้าที่ ประมวลข้อมูลจากข้อเสนอทางวิชาการ งานวิจัย และข้อเสนอการศึกษาสภาพจริงของคณะทำงานศึกษาสภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนจัดทำแผนดำเนินงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระยะที่ 2-3 ของ สพฐ.
คณะทำงานศึกษาสภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตามสภาพจริง  เพื่อทำหน้าที่ ศึกษาสภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกมิติของนักเรียนและนักศึกษาในพื้นที่ที่รับผิดชอบ รวบรวมและสรุปประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลสารสนเทศเพื่อใช้ในการอ้างอิงประกอบการกำหนดแนวทาง และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการ 10 ชุด คือ
 1) คณะอนุกรรมการภาคเหนือตอนบน  มีนายนพรัตน์ อู่ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1 เป็นประธานอนุกรรมการ มีนายจิต สมอ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1 เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
 2) คณะอนุกรรมการภาคเหนือตอนล่าง  มีนายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 เป็นประธานอนุกรรมการ มีนางชุติมา มีพัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
 3) คณะอนุกรรมการภาคอีสานตอนบน  มีนายอัมพร พินะสา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 1 เป็นประธานอนุกรรมการ มีนายวีรพล สารบรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 1 เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
 4) คณะอนุกรรมการภาคอีสานตอนกลาง  มีนายสุภชัย จันปุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 2 เป็นประธานอนุกรรมการ มีนายภูมิ พระรักษา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทรัพย์เจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 2 เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
 5) คณะอนุกรรมการภาคอีสานตอนล่าง  มีนายวิชัย แสงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 เป็นประธานอนุกรรมการ มีนางสาววราพร ดาราศาสตร์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
 6) คณะอนุกรรมการภาคใต้ตอนบน  มีนายวัลลพ สงวนนาม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 1 เป็นประธานอนุกรรมการ มีนายดำรงศักดิ์ สุขโคนา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 1 เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
 7) คณะอนุกรรมการภาคใต้ตอนล่าง  มีนายนพพร มากคงแล้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1 เป็นประธานอนุกรรมการ มีนายสะอาด อุสมา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
 8) คณะอนุกรรมการภาคกลาง  มีนายเพชรรัตน์ นิ่มพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทอง เป็นประธานอนุกรรมการ มีนางสาวกัญจน์กมล โพธิ์บุญ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทอง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
 9) คณะอนุกรรมการภาคตะวันออก  มีนายธงชัย มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 เป็นประธานอนุกรรมการ มีนางนงค์นุช อุทัยศรี ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
 10) คณะอนุกรรมการกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล  มีว่าที่ร้อยตรีอานนท์ สุขภาคกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 เป็นประธานอนุกรรมการ มีนางสาวนันทพร พัฒน์วิชัยโชติ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

ไม่มีความคิดเห็น: