วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 375/2558 รมช.ศธ.ให้นโยบาย ผอ.สพท.ทั่วประเทศ

โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค – นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้นโยบายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2558 ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค โดยมีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยรองเลขาธิการฯ, คณะผู้บริหาร สพฐ. และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมสัมมนาในครั้งนี้

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ให้แนวทางการทำงานตามนโยบายใน 6 ประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
  เตรียมปฏิรูประบบประเมินคุณภาพการศึกษาครั้งใหญ่
ขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ทำการหารือและเจรจากับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาฯ (สมศ.) ให้มีการปรับเกณฑ์ที่จะใช้ในการประเมินคุณภาพการศึกษารอบที่ไว้ก่อน เพราะต้องทำการปฏิรูประบบการประเมินภายนอกให้ถูกต้อง เที่ยงตรง เที่ยงธรรม และยอมรับได้ เพื่อแก้ปัญหาการประเมิน โดยใช้ตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับการศึกษา ซึ่งจะต้องยึดแนวทางตามหลักกฎหมาย พระราชบัญญัติการศึกษา และกฎกระทรวงฯ โดยเฉพาะมาตรา 8(1)
ทั้งนี้ ได้ทำความเข้าใจและยืนยันกับผู้บริหารและครูว่า จะยังไม่มีการประเมินคุณภาพการศึกษารอบที่ 4 หากยังไม่มีการปฏิรูปตัวชี้วัดและวิธีการประเมิน ทั้งการประเมินคุณภาพภายใน(Internal Quality Audit : IQA) ของกระทรวงศึกษาธิการ และเกณฑ์การประเมินภายนอกของ สมศ. ซึ่งต่อไปจะไม่มีการประเมินโดยใช้กระดาษจำนวนมาก นโยบายเลิกเป็นทาสกระดาษก็จะเกิดขึ้น
โดยประเด็นนี้ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาหรือ Super Board ด้านการศึกษา ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) เข้าร่วมประชุมด้วยในวันนี้ (30 ุลาคม)
โดยสรุป ภายใน 3-4 เดือนนี้จะเกิดการปฏิรูประบบการประเมินคุณภาพการศึกษาครั้งใหญ่ โดยจะยังไม่เปิดประตูให้ สมศ.เข้ามาประเมิน รวมทั้งจะต้องหาผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินคุณภาพการศึกษามาทำงานอย่างแท้จริง มิใช่นำผู้ประเมินจากบริษัทต่างๆ ที่ไม่ได้คุณภาพ หรือไปนำเอาอดีตครูใหญ่ที่บริหารงานโรงเรียนล้มเหลว หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ามาประเมิน

  การให้เกียรติผู้ร่วมวิชาชีพ
การให้เกียรติเพื่อนร่วมวิชาชีพเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะตำแหน่ง "ศึกษานิเทศก์" ซึ่งยังไม่ได้รับเกียรติเท่าที่ควร โดยบางคนได้รับการมอบหมายงานแบบผิดหน้าที่ เช่น ทำหน้าที่เป็นเสมียน ขับรถรับส่งให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ฯลฯ ทั้งที่หลายคนจบถึงปริญญาโทและปริญญาเอก
ดังนั้น ต้องให้เกียรติศึกษานิเทศก์ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิชาชีพในสังกัด สพฐ. โดยผู้บังคับบัญชาต้องมอบหมายงานเชิงนิเทศจริงๆ และนโยบายต่างๆ ที่สั่งการผ่านศึกษานิเทศก์ต้องได้รับการนำไปปฏิบัติจริง กล่าวคือ ในเชิงโครงสร้างผู้บังคับบัญชาต้องทราบหน้าที่ของศึกษานิเทศก์และทราบสาเหตุที่ทำให้บทบาทของศึกษานิเทศก์น้อยลงในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าการที่ศึกษานิเทศก์ขึ้นตรงกับรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา มีข้อเสียมากกว่าการขึ้นตรงกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา
วิธีการแก้ไขปัญหาคือ ต้องกำหนดรายละเอียดลักษณะของงาน (Job Description)ของศึกษานิเทศก์ให้ชัดเจน และผู้บังคับบัญชาต้องให้ศึกษานิเทศก์ทำงานที่ตรงกับJob Description รวมทั้งควรมีการจัดอบรมศึกษานิเทศก์ให้รู้ลักษณะหน้าที่และการทำงานอย่างชัดเจนเพื่อนำไปถ่ายทอดสู่ครูได้ ซึ่งจะได้ผลที่ดีกว่าการสั่งการจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ มีนโยบายสนับสนุนให้ศึกษานิเทศก์เป็นตัวกลางในการส่งข้อมูลด้านการศึกษาถึงครูทั่วประเทศ อาทิ โครงการทำสมาธิก่อนเรียน และโครงการโรงเรียนคุณธรรม เป็นต้น รวมถึงนโยบายการให้เด็กแข่งกับตัวเองไม่ใช่แข่งกับคนอื่น ให้มีการประเมินตัวเอง (Self Reported Grade) โดยประเมินเกรดตนเองก่อนสอบ และนำเกรดมาเปรียบเทียบหลังจากการสอบ วิธีการนี้จะทำให้ครูรู้จักเด็กนักเรียนมากขึ้น และสามารถกระตุ้นให้เด็กตั้งเป้าหมายในการเรียนได้ และจะทำให้ผลการเรียนของเด็กดีขึ้น โดยโครงการเหล่านี้สามารถส่งผ่านศึกษานิเทศก์ไปถึงครูในพื้นที่

  นโยบายยกระดับภาษาอังกฤษ
ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ รมช.ศึกษาธิการ รับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญนโยบายนี้ โดยมีประเด็นหลักๆ ที่จะต้องเริ่มดำเนินการในเวลานี้ คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากพูดภาษาอังกฤษ
ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2558 กระทรวงศึกษาธิการจะจัดรณรงค์ (Campaign) ให้เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษ โดยมีการนำศิลปินดาราและนักกีฬาที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี มาเป็นแบบอย่าง อาทิ จา พนม, ธงชัย ใจดี, วัฒนา (รัชพล) ภู่โอบอ้อม หรือต๋อง ศิษย์ฉ่อย เป็นต้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กเห็นความจำเป็นของภาษาอังกฤษ ทั้งที่คนเหล่านี้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้มาก่อน
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายฝึกอบรมภาษาอังกฤษให้กับครูชาวไทย เนื่องจาก ปัจจุบันครูชาวไทยที่สอนภาษาอังกฤษกว่า 43,000 คน แต่มีเพียง 8 คนเท่านั้นที่สามารถสอบวัดระดับภาษาอังกฤษได้ในระดับ C2 หรือเป็นระดับที่ยอมรับได้ว่ามีความสามารถด้านภาษาเทียบเท่าเจ้าของภาษา (Native Speaker) และเมื่อทำการอบรมภาษาอังกฤษแล้ว จะส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการศึกษา โดยจะมีการสร้างแอปพลิเคชั่นช่วยในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษด้วย เช่น แอปพลิเคชั่นในการฝึกพูดให้ถูกต้องผ่านสมาร์ทโฟน เป็นต้น

  เตรียมพัฒนาคลังข้อสอบที่มีมาตรฐานภายใน ปี
ที่ผ่านมา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกกระทรวงที่ทำหน้าที่ในการออกข้อสอบ แต่ยังไม่ได้มาตรฐาน โดยจะมีการแก้ปัญหาคือ การพัฒนาคลังข้อสอบ โดยนำผู้เชี่ยวชาญด้านการออกข้อสอบจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีประสบการณ์ในการออกข้อสอบต่างๆ มากว่า 100 ปี เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อสอบเพื่อให้ได้ข้อสอบที่มีมาตรฐาน และพัฒนาข้อสอบโดยเน้นการคิดวิเคราะห์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับข้อสอบ PISA
ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายภายใน 1 ปีจะได้คลังข้อสอบที่มีมาตรฐานในรายวิชาหลักคือ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ภายในเดือนธันวาคม 2558 นอกจากนี้ในปี 2559 จะดำเนินการให้ข้อสอบ O-NET วิชาภาษาไทย มีข้อสอบอัตนัยร้อยละ 20 ด้วย

  นโยบายลดความเหลื่อมล้ำของเด็กพิเศษ SENCO
 SENCO (Special Educational Needs Coordinator) เป็นนโยบายสำคัญที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการดูแลเด็กพิเศษหรือเด็กออทิสติก โดยเป็นการนำรูปแบบมาจากโรงเรียนที่เป็นสากลทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้วจะมีครูที่เป็น SENCO หรือครูที่จ้างมาเป็นพิเศษเพื่อดูแลเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งอาจจะเป็นจิตแพทย์เด็ก หมอเด็ก หรือนักกิจกรรมบำบัด โดยจะทำหน้าที่ดูแลเด็กทุกอย่าง รวมทั้งทราบและเข้าใจรายละเอียดของเด็กแต่ละคน ซึ่งไม่ใช่ครูแนะแนว แต่ในระยะเบื้องต้นนี้อาจจะให้ศึกษานิเทศก์ทำหน้าที่ SENCO ไปก่อน หลังจากนั้น สพฐ.ควรวางแผนดำเนินการผลักดันให้ครูในสังกัดเพื่อเป็น SENCO ในสัดส่วนที่เหมาะสมต่อไป

  โรงเรียนคุณธรรม
การจัดตั้ง "โรงเรียนคุณธรรม" เป็นรูปแบบ (Modelของศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวในที่ประชุมซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษาด้วย เพื่อให้ความสำคัญเรื่องการสร้างคุณธรรมจริยธรรมสำหรับผู้เรียน ซึ่งในปัจจุบันมีโรงเรียนจำนวนมากที่มีการจัดชมรมหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม อาทิ โรงเรียนที่อำเภอบางมูลนาก มีเด็กนักเรียนรวมตัวทำกิจกรรมจิตอาสาด้วยการตั้งชมรมและไปเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะจัดประชุมใหญ่ในเรื่องนี้ที่กระทรวงฯ ในวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายนนี้ โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานการประชุม เพื่อวางแนวทางดำเนินการตามรูปแบบโรงเรียนคุณธรรมของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการลดภาระงานและกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนและนักเรียน เพื่อต้องการให้ครู นักเรียน ผู้ปกครอง มีความสุขในระบบการศึกษา
 ส่วนประเด็นการประเมินครูเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ส่วนตัวเห็นว่าหากตรวจสอบพบว่าไปลอกผลงานของผู้อื่นมาใช้ อาจจะต้องเป็นคดีอาญา ถอดวิทยฐานะ และเรียกเงินคืนทั้งหมด เพราะถือว่าโกงหลวง ต่อไปนี้การประเมินทุกอย่างจะต้องโปร่งใส แม้แต่การตรงต่อเวลาก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะส่วนตัวให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะคนไม่ตรงต่อเวลา ก็คือ คนที่ไม่แคร์ผู้อื่น

ไม่มีความคิดเห็น: