วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 67/2559

ศึกษาธิการ - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ รับทราบโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และเห็นชอบกรอบการดำเนินงานระยะ 3 ปี (พ.ศ.2559-2561) ของ สสค.


โครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารออมสิน
 หลักการ
 ธนาคารออมสินอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้กับผู้กู้ที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยใช้เงินที่ทายาทจะได้รับในอนาคตเพื่อค้ำประกัน ได้แก่ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัว (ช.พ.ค.) และ/หรือ เงินบำเหน็จตกทอด เพื่อนำเงินสินเชื่อใหม่มาลดภาระหนี้ หรือปิดบัญชีหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในการนี้ ธนาคารออมสินกำหนดวงเงินสินเชื่อใหม่ให้จำนวนไม่เกินสิทธิที่ทายาทจะได้รับเงินเมื่อผู้กู้เสียชีวิต โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติของธนาคารออมสิน และผู้กู้ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้วงเงินสินเชื่อใหม่ตลอดอายุสัญญา
 ทั้งนี้ ผู้กู้สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ 2 วงเงิน โดยผู้กู้สามารถเลือกใช้วงเงินใดวงเงินหนึ่งหรือทั้งสองวงเงินได้ โดยมีรายละเอียดของการค้ำประกัน ดังนี้
1. วงเงินกู้ที่ใช้เงิน ช.พ.ค. ค้ำประกัน  เงิน ช.พ.ค. หมายถึง เงินสงเคราะห์ให้แก่ครอบครัวหรือทายาทสมาชิก โดยเมื่อมีสมาชิก ช.พ.ค. เสียชีวิต สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จะเรียกเก็บเงินจากสมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่ศพละ 1 บาท และจ่ายให้กับทายาทของสมาชิก
2. วงเงินกู้ที่ใช้เงินบำเหน็จตกทอดค้ำประกัน  เงินบำเหน็จตกทอด หมายถึง เงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการ ซึ่งจ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว โดยรัฐบาลจ่ายให้ทายาทเมื่อข้าราชการถึงแก่กรรม ดังนี้     (1) กรณีเสียชีวิตระหว่างราชการ = เงินเดือนสุดท้าย คูณ ระยะเวลาราชการ     (2) กรณีรับบำนาญและเสียชีวิต = 30 เท่าของบำนาญ ลบ เงินบำเหน็จดำรงชีพส่วนที่ขอรับไปแล้ว ทั้งนี้ ผู้เกษียณอายุราชการสามารถขอรับเงินบำเหน็จดำรงชีพจำนวน 15 เท่าของเงินบำนาญ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
 วิธีดำเนินการ
 โครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
1. วงเงินกู้ที่ใช้เงิน ช.พ.ค. ค้ำประกัน
     (1) ธนาคารออมสินตั้งวงเงินสินเชื่อใหม่ให้กับผู้กู้รายเดิม จำนวนไม่เกินสิทธิที่ทายาทจะได้รับเงินเมื่อผู้กู้เสียชีวิต โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ผู้กู้ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้วงเงินสินเชื่อใหม่ตลอดอายุสัญญา และทายาทยินยอมให้นำเงิน ช.พ.ค.มาค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารออมสิน     (2) ผู้กู้ต้องเป็นสมาชิก ช.พ.ค. อายุ 50 ปีขึ้นไป ระยะเวลาการกู้ 20 ปี ยกเว้นกรณีที่อายุผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาการกู้แล้วอายุผู้กู้เกิน 75 ปี ธนาคารออมสินจะลดระยะเวลาการกู้ลงให้รวมแล้วอายุผู้กู้ไม่เกิน 75 ปี     (3) วงเงินสินเชื่อตามข้อ (1) จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่          ส่วนที่ 1 นำไปชำระหนี้เงินกู้บัญชีเดิม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 5.85-6.70 ต่อปี          ส่วนที่ 2 กันไว้เพื่อชำระดอกเบี้ยและเงินค่ารายศพ ช.พ.ค.รายเดือนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อรักษาสถานภาพสมาชิก (เฉลี่ยเดือนละประมาณ 600 บาท) และทยอยเบิกจ่ายรายเดือนจนครบอายุสัญญา     (4) บัญชีเงินกู้เดิมซึ่งได้นำเงินจากข้อ (1) มาลดเงินต้น ธนาคารออมสินจะปรับลดเงินงวดตามจำนวนเงินกู้และระยะเวลาการกู้ที่เหลืออยู่ตามสัญญาเดิม โดยยังคงมีผู้ค้ำประกันและประกันสินเชื่อ (ถ้ามี) รองรับความเสี่ยง     (5) เมื่อผู้กู้เสียชีวิต ธนาคารออมสินจะนำเงิน ช.พ.ค. หรือเงินประกันสินเชื่อ (ถ้ามี) มาชำระหนี้ปิดบัญชี     (6) หากครบระยะเวลาการกู้แต่ผู้กู้ยังไม่เสียชีวิต ธนาคารออมสินจะให้ผู้กู้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยและจ่ายเงินค่ารายศพ ช.พ.ค. รายเดือนจากเงินบำนาญที่ได้รับ หรือผู้กู้สามารถขอให้ธนาคารออมสินตั้งวงเงินกู้เพิ่มจนกว่าจะเสียชีวิต
 2. วงเงินกู้ที่ใช้เงินบำเหน็จตกทอดค้ำประกัน
     (1) ธนาคารออมสินตั้งวงเงินสินเชื่อใหม่ให้กับผู้กู้รายเดิมจำนวนไม่เกินสิทธิที่ทายาทจะได้รับเมื่อผู้กู้เสียชีวิต โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ผู้กู้ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้วงเงินสินเชื่อใหม่ตลอดอายุสัญญา และทายาทยินยอมให้นำเงินบำเหน็จตกทอดมาค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารออมสิน     (2) ผู้กู้ต้องมีสิทธิรับเงินบำนาญ ระยะเวลาการกู้ 20 ปี ยกเว้นกรณีที่อายุผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาการกู้แล้วอายุผู้กู้เกิน 75 ปี ธนาคารออมสินจะลดระยะเวลาการกู้ลงให้รวมแล้วอายุผู้กู้ไม่เกิน 75 ปี     (3) วงเงินสินเชื่อตามข้อ (1) จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่          ส่วนที่ 1 นำไปชำระหนี้เงินกู้บัญชีเดิม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 5.85-6.70 ต่อปี          ส่วนที่ 2 กันไว้เพื่อชำระดอกเบี้ยและทยอยเบิกจ่ายรายเดือนจนครบอายุสัญญา     (4) บัญชีเงินกู้เดิมซึ่งได้นำเงินจากข้อ (1) มาลดเงินต้น ธนาคารออมสินจะปรับลดเงินงวดตามจำนวนเงินกู้และระยะเวลาการกู้ที่เหลืออยู่ตามสัญญาเดิม โดยยังคงมีผู้ค้ำประกันและประกันสินเชื่อ (ถ้ามี) รองรับความเสี่ยง     (5) เมื่อผู้กู้เกษียณอายุราชการและมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จดำรงชีพจำนวน 15 เท่าของเงินบำนาญ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ผู้กู้สามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายในการดำรงชีพ หรือยินยอมนำเงินบำเหน็จดำรงชีพบางส่วนตั้งแต่ร้อยละ 60 ขึ้นไป มาชำระหนี้ได้ตามความสมัครใจ     (6) เมื่อผู้กู้เสียชีวิต ธนาคารออมสินจะนำเงินบำเหน็จตกทอดหรือเงินประกันสินเชื่อ (ถ้ามี) มาชำระหนี้ปิดบัญชี     (7) หากครบระยะเวลาการกู้แต่ผู้กู้ยังไม่เสียชีวิต ธนาคารออมสินจะให้ผู้กู้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย โดยหักจากเงินบำนาญที่ได้รับ หรือผู้กู้สามารถขอให้ธนาคารออมสินตั้งวงเงินกู้เพิ่มจนกว่าจะเสียชีวิต
3. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

     (1) สามารถแก้ไขบรรเทาปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ประมาณ 283,000 ราย และสามารถลดภาระหนี้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เฉลี่ยรายละ 300,000 – 600,000 บาท ทำให้ลดภาระการผ่อนชำระหนี้เดิมลง 2,000 – 4,000 บาทต่อเดือน หรือบางรายสามารถชำระหนี้ปิดบัญชีได้
     (2) ครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจากเดิมร้อยละ 5.85 – 6.70 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระในระยะยาว อีกทั้ง ผู้กู้ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้วงเงินสินเชื่อใหม่ตลอดอายุสัญญา
     (3) ครูและบุคลากรทางการศึกษามีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานดีขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพครูในภาพรวมและส่งผลถึงคุณภาพของประชาชนในประเทศ
     (4) ช่วยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: