วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 159/2559 ผลประชุมหารือคณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐาน และการพัฒนาผู้นำ (Human Capital Development) 6/2559

โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (Human Capital Development) ของคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (Public – Private Steering Committee) ประชุมหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน ของคณะทำงานดังกล่าว เมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2559 ที่ห้อง Platinum โดยมี นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตลอดจนคณะทำงานกลุ่มย่อยจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมประชุมหารือ


รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ กล่าวว่า จากการที่หัวหน้าคณะรักษาความสบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเพื่อบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ขอให้คณะทำงานทั้ง 5  กลุ่มย่อย ได้ประสานงานการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ กับผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อร่วมกันวางแผนและพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งขอความร่วมมือภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการของ กศจ. ด้วย
ำหรับผลการประชุมครั้งนี้ เป็นการรายงานความก้าวหน้าของคณะทำงาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
กลุ่มย่อยที่ 1 คณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับคุณภาพทางการจัดการศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสถานศึกษา และการเปิดเผยข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาล(Transparency, Monitoring, Evaluation, Digital Infrastructure and Media High Standard Education Accessibility)
คณะทำงานได้นำเสนอสิ่งที่ได้ดำเนินการแล้ว คือ การดึงข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนจากระบบ DMC ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีอยู่แล้วมานำเสนอบนเว็บไซต์ และรวบรวมข้อมูลพิกัดโรงเรียนพร้อมทั้งเก็บข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของแต่ละโรงเรียน ตลอดจนสร้างเว็บไซต์โรงเรียนประชารัฐ
ส่วนสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ การจัดทำแบบสอบถามออนไลน์เพื่อเก็บข้อมูลสิ่งที่โรงเรียนต้องการพัฒนา, กำหนด Username และ Password ให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐ และพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ สู่สาธารณชน นอกจากนี้ คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 1 มีกำหนดลงพื้นที่โรงเรียนในโครงการประชารัฐ เพื่อศึกษาแนวทางการวางโครงสร้างพื้นฐานด้วย

กลุ่มย่อยที่ 2 คณะทำงานพัฒนาหลักสูตร ต้นแบบกระบวนการเรียนรู้ การประเมินผลกิจกรรมส่งเสริมด้านคุณธรรม จิตสาธารณะ และด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ (Curriculum, Teaching Technique and Manual, English Language Capability, Health, Heart and Ethics)
ภายหลังจากการแจกแบบสอบถามไปยังโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐแล้ว ขณะนี้ได้รับแบบสอบถามกลับมากว่าร้อยละ 60 ซึ่งผลการสำรวจพบว่า รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด คือ รูปแบบที่ 2 : การนำการเรียนการสอนบางรายวิชาของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มาปรับใช้ (ร้อยละ 40) ในขณะที่ร้อยละ 27 ต้องการผสมผสานทั้งสามรูปแบบได้แก่ รูปแบบที่ 1 การเรียนการสอนตามแนวทางของ สพฐ., รูปแบบที่ 2:การเรียนการสอนบางรายวิชาของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ  และรูปแบบที่ 3 การเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษา
อย่างไรก็ตามทั้ง 3 รูปแบบนี้จะนำมาใช้กับบางวิชาเท่านั้น เพราะทุกสถานศึกษาจะยึดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สพฐ. ซึ่งเป็นตัวกำหนดหลักสูตรรายวิชาต่าง ๆ อยู่แล้ว อีกทั้งจะเพิ่มหลักสูตรโรงเรียนคุณธรรม โดยจะทำการอบรมครูวิทยากรเป็นระยะเวลา 2 วัน จำนวน 120 -150 คนต่อ 1 รุ่น ซึ่งจะมีการจัดอบรมประมาณ 4 -5 รุ่น และครูวิทยากรเหล่านี้จะขยายผลไปยังโรงเรียนประชารัฐทั้ง 3,342 แห่งต่อไป รวมทั้งจะมีศึกษานิเทศก์ลงพื้นที่ติดตามและรายงานความก้าวหน้าของแต่ละพื้นที่
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น จะมีการเสริมรายวิชาภาษาอังกฤษและพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในทุกชั้นปีด้วย

กลุ่มย่อยที่ 3 คณะทำงานด้านพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ครู และการมีส่วนร่วมของชุมชน (Market Mechanism, Engagement Parents and Community, Funds, High Quality Principles and Teachers Leadership)
คณะทำงานได้นำเสนอหัวข้อในการจัดอบรม เพื่อพัฒนาความสามารถของผู้บริหารและครูผู้สอน ดังนี้
- หัวข้อการอบรมผู้บริหารสถานศึกษา การบริหารสถานศึกษายุคดิจิทัล, ภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม, กลยุทธ์การตลาดสำหรับสถานศึกษา, กลยุทธ์การพัฒนาสถานศึกษา, การบริหารความเสี่ยงสำหรับสถานศึกษา, การบริหารงานคุณภาพของสถานศึกษา และกลยุทธ์การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน
- หัวข้อการอบรมครูผู้สอน 
เทคโนโลยีการศึกษา, การจัดการชั้นเรียนยุคดิจิทัล, แนะแนวและให้คำปรึกษาอย่างครูมืออาชีพ จากครูผู้สอนสู่ผู้อำนวยการเรียนรู้, การใช้ ICT ในการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน และเทคนิคการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนการสอน
หลังจากนี้ คณะทำงานจะส่งหัวข้อการอบรมให้ผู้เข้ารับการอบรมศึกษาก่อน และหากผู้เข้ารับการอบรมมีข้อสงสัยสามารถสอบถามผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะมีคณะทำงานตอบคำถามให้ รวมทั้งจะเร่งชี้แจงแนวทางโรงเรียนประชารัฐให้ผู้บริหารศึกษาและครูทำความเข้าใจก่อนเข้ารับการอบรม

ไม่มีความคิดเห็น: