วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 400/2559 รับฟังการจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) - เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2559 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับฟังผลการประชุมสัมมนาเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ที่จะกำหนดไว้ในร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574  ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร  โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรในกำกับ ตลอดจนคณะกรรมการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ร่วมรับฟังและให้ข้อเสนอแนะ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางในการบูรณาการและจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปการศึกษาใน 5 ด้าน คือ การเข้าถึงทางการศึกษา ความเท่าเทียมทางการศึกษา คุณภาพการศึกษา ประสิทธิภาพการศึกษา และการศึกษาที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง
 ซึ่งขณะนี้คณะทำงานแต่ละกลุ่มได้จัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 7 ด้าน คือ
 1) ยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล
 2) ยุทธศาสตร์ผลิต พัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
 3) ยุทธศาสตร์ผลิตและพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ
 4) ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา
 5) ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพของประชากรนอกระบบโรงเรียนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
 6) ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการบริหารจัดการและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
 7) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการเงินเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ
 ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานปรับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้มีความใกล้เคียงกับ Action Plan มากที่สุดกล่าวคือ แผนยุทธศาสตร์นี้ต้องมีทิศทางชัดเจนและสามารถให้นำมาใช้ได้ทันที ไม่ใช่เป็นการเขียนแบบกว้างจนเกินไปแล้วไม่สามารถปฏิบัติตามได้ พร้อมทั้งเน้นการดำเนินงานแบบบูรณาการโดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่าแผนยุทธศาสตร์ที่รับผิดชอบ มีกระทรวงหรือหน่วยงานใดทั้งภายในและภายนอกมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง หากงานใดที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพและร่วมดำเนินงานกับกระทรวงหรือหน่วยงานอื่น ก็ต้องติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะด้วย ตลอดจนเน้นการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกัน เพื่อให้สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาบริหารจัดการได้
 หลังจากนี้ จะทบทวนปรับปรุงตัวชี้วัดและมาตรการ รวมทั้งส่งร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ก่อนที่จะเสนอให้สภาการศึกษาเห็นชอบ จากนั้นจะนำเสนอให้ที่ประชุม Super Board ด้านการศึกษา และคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาตามลำดับต่อไป หลังจากนั้นแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจัดทำแผนระยะยาวและแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ต่อไป
จึงขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงกระบวนการประเมิน การปรับปรุง และการพัฒนาแผนการศึกษาแห่งชาติ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้มาช่วยกันเติมเต็มแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาชาติต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: