RongJo
วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2565
วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2565
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การจัดการศึกษาทางเลือก
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยแพร่บันทึกความเห็น เรื่อง การจัดการศึกษาตามโครงการ น.ส.ว. ขอโอกาส ของโรงเรียนหนองชุมแสงวิทยา ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีหนังสือ ที่ ศธ. 04009/486 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2558 เพื่อขอหารือกรณีโรงเรียนหนองชุมแสงวิทยา อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการจัดการศึกษา นอกเหนือจากการศึกษาในระบบ ในรูปแบบของโครงการ น.ส.ว. ขอโอกาส
โดยโรงเรียนหนองชุมแสงวิทยาอาศัยหลักการและเหตุผลการจัดการศึกษาแบบยืดหยุ่นตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จัดการศึกษาให้กับกลุ่มบุคคล ดังต่อไปนี้
กลุ่มที่ 1 กลุ่มนักเรียนที่มีอายุตามเกณฑ์ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการศึกษาในระบบ
กลุ่มที่ 2 กลุ่มนักเรียนไม่จบพร้อมรุ่น คือ กลุ่มนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนเดิมแล้วไม่จบการศึกษาให้ถือว่าเรียนตามหลักสูตรจากโรงเรียนเดิมครบ 1,200 ชั่วโมง เพียงแต่ไม่ผ่านบางรายวิชา เมื่อเข้าศึกษาต่อในโครงการ น.ส.ว. ขอโอกาส นักเรียนสามารถสอบประเมินในรายวิชาที่เหลือและจบการศึกษาทันทีโดยไม่ติดเงื่อนไขเวลา
กลุ่มที่ 3 กลุ่มนักเรียนที่มีอายุเกินเกณฑ์ หรือที่หลุดจากระบบ หรืออยู่นอกระบบการศึกษายืดหยุ่นเวลาเรียนใช้เวลาอย่างต่ำ 1 ปีการศึกษาขั้นพื้นฐาน
มีความเห็นว่า โรงเรียนหนองชุมแสงวิทยาเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษานอกระบบ (ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายตามปกติ) แต่การที่โรงเรียนเปิดรับเด็กนักเรียนในโครงการ น.ส.ว. ขอโอกาส และใช้กระบวนการเรียนการสอนที่ไม่ได้จัดอยู่ในการศึกษาในระบบ โดยอ้างว่ามีความจำเป็นที่ต้องให้โอกาสกับเด็กนักเรียนดังกล่าว
และอ้างว่าโรงเรียนมีอำนาจในการดำเนินการตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 น่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการดำเนินการจัดการศึกษา คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงขอหารือว่า
“โรงเรียนหนองชุมแสงวิทยา มีอำนาจจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในโครงการ น.ส.ว.ขอโอกาส ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หรือไม่ อย่างไร”
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว มีความเห็นว่า มาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติให้การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยสถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้ง 3 รูปแบบก็ได้ และยังกำหนดให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้
ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งจากการเรียนรู้นอกระบบ ตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์การทำงานประกอบกับมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้บัญญัตินิยามคำว่า “สถานศึกษา” ให้หมายความว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา
ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 15 จึงเป็นบททั่วไปที่วางหลักการไว้ว่าสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ไม่ว่าจะสังกัดกระทรวงศึกษาหรือไม่ก็ตาม สามารถจัดการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบได้ แต่หากสถานศึกษาดังกล่าวเป็นสถานศึกษาของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ การที่สถานศึกษานั้นจะจัดการศึกษาในรูปแบบใดได้ย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและภารกิจที่กระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย
การที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 รวมทั้งได้ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเทียบโอนผลการเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ย่อมแสดงให้เห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้สถานศึกษาในสังกัดจัดการศึกษาได้ทั้ง 3 รูปแบบ แต่การดำเนินการตามภารกิจดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
กรณีตามข้อหารือ เมื่อโรงเรียนหนองชุมแสงวิทยาเป็นสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนหนองชุมแสงวิทยาจึงสามารถจัดการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวได้ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยต้องจัดการศึกษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดด้วย ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ที่จะติดตามตรวจสอบการดำเนินการของโรงเรียนหนองชุมแสงวิทยาว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ต่อไป .
วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2565
วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2565
วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565
-
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำตราสัญลักษณ์(ภาพเครื่องหมายราชการ)ขึ้นใหม่ และได้แจ้งให้สำนักเลขาธิการคณะร...
-
1. เงินค่าเช่าบ้านข้าราชการ จัดอยู่ในงบประมาณหมวดใด ก. งบบุคลากร ข. งบดำเนินการ ค. งบเงินอุดหนุน ง. งบอื่นๆ 2. ค่าตอบแทน หมายถึง ก. เงินที่จ...
-
1. ข้าราชการครูซึ่งปฏิบัติราชการที่สถานศึกษา ไม่มีสิทธิลาประเภทใด ก. ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตร ข. ลาพักผ่อน ค. ลาอุปสมบท ง. ลาเข้ารับการ...