วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การประเมินเพื่อคงสภาพตำแหน่งและวิทยฐานะ

การที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ดำรงตำแหน่งและมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะไม่ว่าจะเป็นวิทยฐานะชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษ ย่อมต้องผ่านการประเมินทั้งความประพฤติด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ ประสบการณ์ คุณภาพการปฏิบัติงานความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในด้านการเรียน การสอน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนดมาแล้วทั้งนั้น แต่เพื่อให้มั่นใจว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งและมีวิทยฐานะหรือได้เลื่อนวิทยฐานะไปแล้วยังมีความรู้ ความสามารถ มีความเหมาะสมกับวิทยฐานะที่ได้หรือไม่ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 55 จึงกำหนดให้มีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นระยะๆ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้ความสามารถ ความชำนาญการ หรือความเชี่ยวชาญในตำแหน่ง และวิทยฐานะที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนดกรณีที่ข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ให้ดำเนินการตามความเหมาะสม ดังต่อไปนี้

1.ให้มีการพัฒนาข้าราชการผู้นั้นให้สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล เพื่อให้สามารถผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานได้
2.ให้ดำเนินการในมาตรการเกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 73 หรืองดเงินประจำตำแหน่ง หรือเงินวิทยฐานะแล้วแต่กรณี
3.ในกรณีที่ผู้ใดไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในระดับที่กำหนดให้ผู้มีอำนาจตามาตรา 53 สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการตามมาตรา 110 (6)

การจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเพื่อดำรงไว้ ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความชำนาญการหรือความเชี่ยวชาญในตำแหน่งและวิทยฐานะที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง (ตามมาตรา 55) สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ตั้งคณะทำงานโดยมี ดร.พลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ค.ศ.เป็นประธาน อย่างไรก็ตาม การที่กฎหมายได้กำหนดให้มีการประเมิน ตามมาตรา 55 ก็เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คงสภาพของการเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ เหมาะสมกับตำแหน่งวิทยฐานะและเงินวิทยฐานะที่ได้รับ อันจะมีผลไปสู่คุณภาพการศึกษาดังที่สังคมมุ่งหวังไว้

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

การศึกษาไทยยิ่งถลำลึกลงก้นเหว เมื่อครูไม่ได้ตั้งใจสอน เพราะมัวแต่ทำงานอื่น ทำหลักฐานเพื่อให้โรงเรียนผ่านการประกันคุณภาพ ทำหลักฐานเพื่อขอวิทยฐานะ ทำหลักฐานเพื่อขอความดีความชอบ ทำแบบบันทึกความดี ทำเอกสาร ทำแผนการสอน สร้างหลักฐานไว้ป้องกันวิทยฐานะ ทำอีกหลายอย่างค่ะ แต่ที่ไม่ได้ทำก็คือ การได้มีเวลาตั้งใจสอนเด็กนักเรียน
เด็กไทยช่างโชคดีเหลือเกิน