วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ศธ.ติวเข้มก่อนเข้าร่วมประชาคมอาเซียน

"ชินวรณ์" แจกงานองค์กรหลักของ ศธ. หวังพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาในอาเซียนให้ได้ตามเป้าหมายภายในปี 58 ย้ำต้องเร่งสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน นักศึกษาและประชาชน
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษาในอาเซียนให้บรรลุตามเป้าหมายในปี 2558 ว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีภารกิจในการสร้างความร่วมมือกับอาเซียน เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาทุกระดับทั้งในและนอกระบบให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน ดังนั้นตนจึงมอบนโยบายในการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าว และรองรับการเปิดเสรีร่วมกับกลุ่มประชาคมอาเซียน ดังนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเผยแพร่ความรู้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับอาเซียนให้กับบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้เข้าใจตรงกันเพื่อเตรียมความพร้อม เร่งการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา นักเรียน และประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ เรื่องการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้านที่จำเป็นเพื่อพัฒนามาตรฐานการศึกษา เพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของนักศึกษาและครูในอาเซียน เพื่อรองรับการเปิดเสรีการศึกษา และเร่งพัฒนาเยาวชนซึ่งเป็นทรัพยากรในสำคัญในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนให้มีความพร้อมในด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งตนได้มอบหมายให้องค์กรหลักของ ศธ.นำนโยบายไปจัดทำแผนดำเนินงาน และได้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนที่มีตนเป็นประธานเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนให้ได้ตามกำหนด
นอกจากนั้นที่ประชุมยังกำหนดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของตนเองเพื่อให้เกิดผลตามกฎบัตรอาเซียน โดยแบ่งเป็นสำนักงานปลัดกระทรวง ศธ.ทำความร่วมมือภายใต้กรอบรัฐมนตรีการศึกษาอาเซียน มีการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการศึกษาอาเซียน +3 คือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาประเทศเอเชียตะวันออก โครงการเยาวชนอาเซียนจีนล่องแม่น้ำโขง การประชุมสัมมนาวิชาเชิงปฏิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำโครงการโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง 30 โรง โครงการแนวตะเข็บชายแดน 24 โรงเรียน ทำค่ายวิชาการ กลุ่มประเทศอาเซียน พัฒนาหลักสูตรและสื่ออาเซียน
นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทำโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาปริญญาตรีนานาชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกษตรนานาชาติ แลกเปลี่ยนนักศึกษาประเทศละ 5 คน บูรณาการการเรียนการสอน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มีการประชุมสัมมนาวิจัยการศึกษาไทย-มาเลเซีย ไทย-ลาว สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มีโครงการพัฒนาต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ชุมชนของประเทศเพื่อนบ้าน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เข้าแข่งขันกีฬาประถมอาเซียนแลกเปลี่ยน ส่วนคุรุสภาร่วมเป็นภาคีองค์กรสมาชิกสภาครูอาเซียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในอาเซียน.

ที่มา : ไทยโพสต์ 30 ส.ค.53

ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์
รมว.ศธ.ได้มอบแนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ ดังนี้

• ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์ไม่ได้หมายถึงเชิงนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการนำสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ ศธ.สร้างสรรค์ โดยเฉพาะกับเด็กในภูมิภาค ในพื้นที่ และในโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งจุดเด่นและความสำเร็จของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ มาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับรู้ เชื่อว่า ศธ.มีโครงการที่ดี มีโรงเรียน สถานศึกษาที่มีผลงานและสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ศธ.ยังมีแผนงานอีกจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ในเชิงยุทธศาสตร์ ที่ทำให้เห็นภาพของความสำเร็จของ ศธ.ได้อย่างชัดเจน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดทำยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ และต้องจริงจังต่อการค้นหา คัดสรรสิ่งดีงามของ ศธ.ออกมาเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณชนต่อไป

• การประชาสัมพันธ์นโยบายสำคัญของ ศธ. มีแนวทางใดบ้างที่ช่วยให้การประชาสัมพันธ์นโยบายสำคัญของ ศธ.เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการรับรู้ของสังคม ต้องยอมรับความจริงว่า การประชาสัมพันธ์ของ ศธ. ต่างจากกระทรวงอื่น เพราะ ศธ.ต้องพัฒนาคน และพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน จะประชาสัมพันธ์เป็นรายโครงการหรือช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งไม่ได้ การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ต้องมีเทคนิคการทำงาน ตลอดถึงการประชาสัมพันธ์เชิงนโยบายยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลในระยะยาว เช่น การปลูกฝังความมีวินัยให้กับเด็กๆ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการให้เกิดขึ้นภายในโครงการเดียวหรือช่วงใดช่วงหนึ่งได้ จึงขอฝากให้ช่วยคิดวิธีการประชาสัมพันธ์ของ ศธ. เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และเพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายหลักของ ศธ. ให้เป็นที่รับรู้ของสังคมอย่างยั่งยืน และมีส่วนสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้

• การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ในช่วงที่ผ่านมาเน้นโครงสร้าง แต่ในขณะนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไป ประชากรวัยเรียนลดลง แต่ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น การขยายการศึกษาจึงเป็นการศึกษาตลอดชีวิต หรือการศึกษาทางเลือก และต่อจากนี้ไป ศธ.จะเน้นสร้างสิ่งที่เป็นนามธรรมแต่หวังให้เกิดผลอย่างแท้จริง การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง แม้จะมีการวางระบบและรากฐานทางความคิดอย่างชัดเจน โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มี รมว.ศธ.เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่กำหนด คือ การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต สร้างโอกาสและความเสมอภาค และการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน

เมื่อได้วางกรอบความคิด เป้าหมาย และตัวชี้วัดของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองไว้แล้ว ยุทธศาสตร์และเทคนิคการประชาสัมพันธ์ก็จะต้องสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงของสังคม จนทำให้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองเป็นวาระแห่งชาติได้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปประเทศไทย ศธ.ก็ได้ขานรับการปฏิรูปประเทศไทยด้วยการปฏิรูปการศึกษา นักประชาสัมพันธ์จึงเปรียบเสมือนเสาหลักของการปฏิรูปการศึกษา ที่จะต้องช่วยกันสร้างกระแสการรับรู้เรื่องการปฏิรูปการศึกษาอย่างกว้างขวางในสังคมต่อไปด้วย

รมว.ศธ.กล่าวในตอนท้ายว่า นักประชาสัมพันธ์มีความสำคัญอย่างยิ่ง เชื่อว่าถ้าร่วมกันคิดแลกเปลี่ยน เรียนรู้ เพื่อสร้างพลังทวีคูณในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ทั้งในส่วนของเครือข่ายประชาสัมพันธ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสังคม โดยช่วยกันสร้างกระแสจากท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น การจัดรายการสถานีปฏิรูปการศึกษาทางวิทยุชุมชน เขียนข่าวปฏิรูปการศึกษาในคอลัมน์ต่างๆ ทางสื่อสิ่งพิมพ์และวารสารของหน่วยงาน เผยแพร่ข้อมูลการปฏิรูปการศึกษาในทุกกิจกรรมที่เข้าร่วม และมีข้อเสนอ/แนวทางการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดผลต่อการสร้างความตระหนักรู้ในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ทุกคนก็จะมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่องได้

นอกจากนี้ รมว.ศธ.ยังฝากให้ประชาสัมพันธ์ สื่อสาร และทำความเข้าใจในนโยบายเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ การพัฒนาสถานศึกษายุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนมาตรฐานสากล โรงเรียนดีประจำอำเภอ และโรงเรียนดีประจำตำบล การปรับหลักสูตรการเรียนการสอน การประเมินและติดตามผล และเรื่องขวัญและกำลังใจของครู

ทั้งนี้ รมว.ศธ.ให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการศึกษาที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา และพร้อมที่จะดูแลเรื่องขวัญและกำลังในการทำงาน เพื่อช่วยส่งเสริมให้มีโอกาสและมีความเจริญก้าวหน้าอย่างเต็มที่ต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: