วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

จดหมายเปิดผนึก 1/2555 โดย ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ผอ.สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ถึงพี่น้องชาวแผน และผู้สนใจทุกท่านครับ

สวัสดีปีใหม่ครับพี่น้อง หวังว่าคงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่กันอย่างมีความสุขตามอัตภาพของตน ทุกท่านนะครับ จดหมายฉบับที่ 12/2554 พี่น้อง ลูกๆ หลานๆ โต้คารมกันไปมาพอสมควร เหตุเกิดเพราะนำเหตุการณ์ที่หนึ่งโยงไปอีกที่หนึ่ง จากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง เหตุการณ์ที่หนึ่งคนหนึ่งไม่สามารถสรุปอ้างอิงไปได้ทั้งประเทศนะครับ ดังนั้น หากเราอ่านเจอข้อความที่ส่งเข้ามาในเวทีนี้ ก็โปรดเข้าใจว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลเฉพาะที่ ไม่เกี่ยวกับคนอื่น ประเด็นที่หยิบยกมากล่าวถึงกันมากก็คือ เงินค่าครองชีพ เงินวิทยฐานะตำแหน่งถาวร ความล่าช้าของการจ่ายเงินเดือน ภาระงานที่นอกเหนือหน้าที่ การทำสัญญาจ้าง ฯลฯ เนื่องจากปีงบประมาณ 2555 นี้ งบประมาณล่าช้ากว่ากำหนด 5 เดือน สำนักงบประมาณจึงค่อยๆ จัดสรรงบประมาณมาให้ สพฐ. ซึ่งรอบแรกประมาณร้อยละ 33 ของงบประมาณทั้งหมด ดังนั้นจึงเกิดปรากฏการณ์การทำสัญญาอัตราจ้างเป็นช่วงๆ ขอเรียนให้ทราบว่า มีงบประมาณถึง 30 กันยายน ทุกอัตราครับ และขณะนี้กำลังตั้งงบประมาณปี 2556 ก็จะตั้งให้ทุกอัตราเช่นกัน และพยายามจะเพิ่มธุรการอีกประมาณ 5,000 อัตรา เพื่อแบ่งเบาภาระที่ไม่ใช่งานสอนของคุณครูให้มากขึ้น แต่จะได้ครบทุกอัตราตามที่ต้องการหรือไม่ เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งครับ ซึ่งนอกเหนือการควบคุมของ สพฐ.

ในเรื่องของตำแหน่งถาวรนั้น สพฐ. โดย สพร. กำลังดำเนินการอยู่ครับ ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะกระแสโลกทั้งภาครัฐ และเอกชน จะเน้นการจ้างมากกว่าตำแหน่งประจำ เพราะคล่องตัวและยืดหยุ่นหากมีการปรับหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ในหลายๆ ประเทศ ผู้บริหารโรงเรียนยังเป็นอัตราจ้างเลยครับ โดยคณะกรรมการสถานศึกษาเป็นผู้จ้าง สิ้นปีก็ประเมินกันครั้งหนึ่ง ถ้าผลงานไม่เข้าเป้าก็โละกันทั้งชุด อย่างไรก็ตาม สพฐ. ก็พยายามต่อสู้ให้อย่างเต็มที่เพื่อให้อัตราจ้างทั้งหลายมีความมั่นคงถาวร หลายคนกระแนะกระแหนว่าดูแลแต่น้องๆ ธุรการ ไม่ใช่หรอกครับ สังเกตสิใครถามผมก็ตอบทั้งนั้น คงเป็นเพราะธุรการเข้ามาถามเป็นจำนวนมาก ผมจึงตอบคำถามเยอะไปหน่อย กระมัง จึงทำให้นึกไปว่าผมดูแลแต่ธุรการ เรื่องของเงินเดือนใหม่รวมเพิ่มค่าครองชีพเป็น 15,000 / 12,285 / 9,000 บาทนั้น ต้องรอประกาศจากรัฐบาลหน่อยครับ แต่ขณะนี้ สพฐ. ได้เตรียมการทุกอย่างไว้แล้ว โดยขอตั้งงบกลางตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2555 และตั้งงบปกติ 1 ตุลาคม – 30 กันยายน 2556 ขั้นตอนก็คือ รัฐบาลต้องประกาศการขึ้นค่าครองชีพอย่างเป็นทางการอีกครั้ง จากนั้นคณะรัฐมนตรีต้องอนุมัติงบกลาง สำนักงบประมาณจัดสรรให้ส่วนราชการ ส่วนราชการจัดสรร/โอนเงินให้บุคลากรในสังกัด โปรดติดตามข่าวอย่ากระพริบตาเป็นอันขาด

สำหรับเรื่องวิทยฐานะของคุณครูที่ได้รับคำสั่ง 1 ตุลาคม 2553 – 30 ธันวาคม 2554 คงได้รับตกเบิก ตุลาคม 2555 นี้ครับ พยายามจะให้เงินเพิ่มส่วนต่างของวิทยฐานะเป็นปัจจุบัน แล้วรับตกเบิกทีหลัง เหมือนที่เคยทำรุ่นคำสั่ง 1 ตุลาคม 2552-30 กันยายน 2553 แต่ไม่ค่อยมั่นใจว่าจะสำเร็จครับ

ฉบับนี้ขอคุยเรื่อง ทิศทางประเทศไทย ช่วงปี 2555-2559 (เน้นด้านสังคม) ทิศทาง สพฐ.ปี 2555 และปัจจัยที่ทำให้ระบบโรงเรียนประสบความสำเร็จ เริ่มเลยนะครับ

ทิศทางประเทศไทย ช่วงปี 2555-2559
ขณะนี้ได้มีการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) แล้ว เมื่อ 26 ตุลาคม 2554 แผนดังกล่าวให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนในทุกระดับ พยายามตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สพฐ. จะเกี่ยวข้องในด้านของสังคมมากที่สุด ดังนั้นจะขอหยิบยกการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมมานำเสนอ ดังนี้

ในช่วง 5 ปี จากนี้ไป ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โครงสร้างประชากรวัยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เด็กและวัยแรงงานลดลง มีปัญหาเรื่องคุณภาพทางการศึกษา ระดับสติปัญญาของเด็ก พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ผลิตภาพแรงงานต่ำ มีสวัสดิการทางสังคมเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้ด้อยโอกาส ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมอย่างทั่วถึง มีความเหลื่อมล้ำกันในด้านรายได้และโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร มีความเสื่อมถอยทางคุณธรรมและจริยธรรม มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด และการพนันในหมู่เด็กและเยาวชนมากขึ้น แต่คนไทยก็มีความตื่นตัวทางการเมือง และให้ความสำคัญ กับความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาลมากขึ้น

วิสัยทัศน์ของแผนฯ 11 กำหนดไว้ว่า “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง” สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาได้กำหนดไว้ ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคม
2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาความรู้สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน
3. ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน
4. ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
5. ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
6. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
สพฐ. จะเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ที่ 3 มากที่สุด ซึ่งจะเน้นเกี่ยวกับ

1) การปรับโครงสร้างและการกระจายตัวประชากรให้เหมาะสม
2) การพัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง
3) การส่งเสริม การลดปัจจัยการเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม
4) การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
5) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันสังคม

ทิศทาง สพฐ. ปี 2555
งบประมาณปี 2555 ยังเหลืออีกสองขั้นตอนจึงจะจบสิ้นกระบวนการอนุมัติงบประมาณ วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ และการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้ ซึ่งจะเสร็จสิ้นในวันที่ 27 มกราคม 2555 นี้ จากนั้นงบประมาณก็คงจะจัดสรรได้ในราวกลางเดือน กุมภาพันธ์ 2555 สพฐ.ได้กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ แผนงาน ผลผลิต โครงการดังนี้
วิสัยทัศน์
“ สพฐ. เป็นองค์กรขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยให้สูงเทียบเท่าค่าเฉลี่ยของโลก เข้าสู่มาตรฐานสากล ภายในปี 2563 ” (ปรับ คำว่า สูงเทียบเท่าค่าเฉลี่ยของโลก ออก และใช้คำว่า เข้าสู่มาตรฐานสากล แทน)

พันธกิจ
“พัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ให้ประชากรวัยเรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยเน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ มีคุณธรรมจริยธรรม มีความสามารถตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาสู่คุณภาพระดับสากล”

จากการประมวลปัญหาในรอบปี 2554 ที่ผ่านมาก็พบว่าเป็นปัญหาเดิมๆ ที่ยังแก้ไม่ตก แต่มีแนวโน้มดีขึ้น ปัญหาดังกล่าวคือ ยังมีเด็กตกหล่น ออกกลางคัน ไม่เรียนต่อ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้หลักยังไม่น่าพอใจ ขาดครูสาขาเฉพาะทางการบริหารจัดการยังขาดประสิทธิภาพ และจำนวน โรงเรียนมีมากเกินความจำเป็น

กลยุทธ์
1. พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับตามหลักสูตรและส่งเสริมความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือการเรียนรู้
2. ปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทยและวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3. ขยายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงครอบคลุมผู้เรียนได้รับโอกาสในการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ
4. พัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ
5. พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการตามแนวทางการกระจายอำนาจ ตามหลักธรรมาภิบาล
6. พัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่ยากลำบาก
แผนงาน
1. แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. แผนงานสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาเพื่อการศึกษา
3. แผนงานสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
4. แผนงานขยายโอกาสและพัฒนาการศึกษา

ผลผลิต
ผลผลิตที่ 1 : ผู้จบการศึกษาก่อนประถมศึกษา
ผลผลิตที่ 2 : ผู้จบการศึกษาภาคบังคับ
ผลผลิตที่ 3 : ผู้จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย
ผลผลิตที่ 4 : เด็กพิการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการพัฒนาสมรรถภาพ
ผลผลิตที่ 5 : เด็กด้อยโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ผลผลิตที่ 6 : เด็กผู้มีความสามารพิเศษได้รับการพัฒนาศักยภาพ

โครงการ
1. โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา
3. โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
4. โครงการคืนครูให้นักเรียน
5. โครงการพัฒนาครูทั้งระบบเต็มตามศักยภาพ
6. โครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา
7. โครงการมัธยมศึกษาเชิงปฏิบัติการ
8. โครงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมโลก

ขอเรียนให้ทราบว่าเราเหลือเวลาทำงานกันอย่างเต็มที่ประมาณ 7 เดือน อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า 5 เดือนที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำงาน ทำไม่เต็มที่ต่างหากและถึงแม้ว่า งบประมาณจะถูกตัดไปช่วยน้ำท่วม และภัยหนาวเสียส่วนหนึ่ง สพฐ. ก็พยายามจัดสรรให้ สพป./สพม. ให้มากที่สุด และขณะนี้ขอตรึงยอดงบประมาณพื้นฐานไว้ที่ 8 ล้าน และ 6 ล้าน ตามลำดับ ส่วนงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับจัดทำโครงการต่างๆ นั้น คงต้องรอฟังนโยบาย ของรัฐมนตรีท่านใหม่สักนิดนึงครับ ว่าท่านจะเน้นเรื่องใดเป็นพิเศษ คงไม่เกินกลางเดือนกุมภาพันธ์ สพป./สพม. คงทราบยอดเงินงบประมาณทั้งหมดครับ

ปัจจัยที่ทำให้ระบบโรงเรียนประสบความสำเร็จ
ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Program me for International Student Assessment : PISA) ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือ และพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) โดยประเมินนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ หรือกลุ่มอายุ 15 ปี ในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ประเมินทุกๆ 3 ปี ประเมินครั้งแรก คือ PISA 2000 จะเน้นการอ่าน PISA 2003 เน้นคณิตศาสตร์ PISA 2006 เน้นวิทยาศาสตร์ PISA 2009 เน้นการอ่าน ประเมินครั้งต่อไป คือ ปีนี้ ก้จะเน้นคณิตศาสตร์ วิชาที่เน้นจะให้น้ำหนักร้อยละ 60 ที่เหลืออีกสองวิชา จะให้นำหนักวิชาร้อยละ 20 ผลการประเมิน PISA 2009 สำหรับประเทศไทย มีดังนี้
การอ่าน ได้ 421 คะแนน ลำดับที่ 50 (ค่าเฉลี่ย 492)
คณิตศาสตร์ ได้ 419 คะแนน ลำดับที่ 52 (ค่าเฉลี่ย 496)
วิทยาศาสตร์ ได้ 425 คะแนน ลำดับที่ 49 (ค่าเฉลี่ย 501)
ผลการประเมิน พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนต่ำทุกวิชา และมีแนวโน้มลดลง จากการนำข้อมูลผลการประเมิน 65 ประเทศ (OECD 34 ประเทศ ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD 31 ประเทศ) มาวิเคราะห์พบว่า ปัจจัยที่ทำให้ระบบโรงเรียนประสบความสำเร็จ มีดังนี้
1. โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ จะต้องจัดให้นักเรียนมีโอกาสในการเรียนเท่าเทียมกัน ไม่ว่านักเรียนจะมีภูมิหลังทางเศรษฐกิจ – สังคม ต่างกันมากน้อยเพียงไร
2. โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ จะมีความเป็นอิสระสูงในการออกแบบการเรียนการสอนและการประเมินผล ไม่แข่งขันการรับนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนมีทางเลือกหลากหลาย
3. โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จมักจะมีนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมดี
4. โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จเป็นโรงเรียนที่ผู้ปกครองมักเลือกเพราะคุณภาพทางวิชาการมากกว่าความต้องการที่จะให้โรงเรียนช่วยเหลือด้านการเงิน
5. โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ จะมีการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ให้ความสำคัญกับคุณภาพครู มากกว่าทำชั้นเรียนมีขนาดเล็ก เพื่อให้ครูสอนได้ทั่วถึง
6. นักเรียนและครูในโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มีระเบียบวินัย และมีพฤติกรรมทางบวก

ข้อค้นพบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเรา งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา มีมากมายทั้งวิจัยเดี่ยวและงานวิจัยเชิงอภิมาน(Meta-analysis) ก็ยืนยันผลวิจัยทำนองนี้ แต่ไฉนเรายังแก้ปัญหาซ้ำซากไม่ตกสักที ฉงนฉงายจริงๆ
คงแค่นี้ก่อนนะครับ ขอให้ทุกท่านมีความพึงพอใจ มีความสุข มุ่งมั่นกับงานในความรับผิดชอบของเราให้เกิดผลที่เป็นเลิศครับ

ไม่มีความคิดเห็น: