วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ผลการประชุมองค์กรหลัก 7/2557

  • กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
รมว.ศธ.กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าผลของการดำเนินงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งได้ตั้งคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ไว้แล้วจำนวน กองทุน คือ
  •  กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวนทั้งสิ้น 35,664 ล้านบาท โดยขอตั้งงบประมาณแผ่นดิน23,500 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ (กองทุนสมทบ) อีก 12,164 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายผู้กู้ยืม865,200 ราย
  • กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) จำนวนทั้งสิ้น 8,365 ล้านบาท โดยขอตั้งงบประมาณแผ่นดิน 800 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ (กองทุนสมทบ) อีก 7,565 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายผู้กู้ยืม 152,551 ราย
  • อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ กยศ.ได้ถูกปรับลดงบประมาณ 6,700 ล้านบาท หรือได้รับงบประมาณเพียง 16,800 ล้านบาท ทำให้กองทุนไม่สามารถคงเป้าหมายผู้กู้ยืมในปีการศึกษา 2557 จำนวน 865,200 รายได้ จึงต้องปรับลดเป้าหมายการให้กู้ยืมสำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ลงทั้งจำนวน230,000 ราย และปรับลดผู้กู้ยืมรายเก่าลง 141,671 ราย จาก 635,200 ราย เหลือเพียง 493,529 ราย ดังนั้น หากไม่ได้รับอนุมัติงบกลาง จะทำให้กองทุนไม่สามารถให้กู้ยืมกับผู้กู้ยืมรายใหม่ได้
    แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว กองทุนจึงจะขออนุมัติงบกลางต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อมาชดเชยงบประมาณในส่วนที่ถูกปรับลดจำนวน 2,118 ล้านบาท ทั้งในส่วนของ
    • ผู้กู้ยืมรายเก่า 30,000 ราย เป็นเงิน 710 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาในการเสนอของบกลาง
    •  ผู้กู้ยืมรายใหม่ 112,500 ราย เป็นเงิน 1,408 ล้านบาท แยกเป็น ม.ปลาย 50,000 ราย ปวช.50,000 ราย ปวท./ปวส.2,500 ราย และอนุปริญญา/ปริญญาตรี 10,000 ราย ซึ่งกรณีนี้จะต้องหารือกับสำนักงบประมาณและสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในคราวถัดไป
    รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมขอให้ผู้รับผิดชอบองค์กรหลักที่เป็นคณะกรรมการ กยศ. โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  (สอศ.) ช่วยไปหารือ และรวบรวมข้อมูลนักเรียนนักศึกษาในสังกัด ศธ. รวมทั้งสังกัดอื่นๆ ด้วย เช่น วิทยาลัยพยาบาล ฯลฯ ว่างบประมาณที่ได้ถูกปรับลดลงไปในช่วงนี้ กระทบต่อผู้เรียนหรือไม่อย่างไร เพื่อประมวลให้ กยศ. และรัฐบาลทราบต่อไป
    • การบริหารรายจ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ.2557 ของกระทรวงศึกษาธิการ
    รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบการบริหารรายจ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ.2557 ของแต่ละองค์กรหลัก ซึ่งยังคงใช้จ่ายน้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เพราะเกิดจากอุปสรรคหลายด้าน เช่น การจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ การส่งของ การเบิกจ่าย ฯลฯ และเรื่องของสถานการณ์การเป็นรัฐบาลรักษาการ และการประท้วงที่ยาวนาน ก็มีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งระบบพัสดุ บัญชี การออกแบบ เช่น วัสดุอุปกรณ์บางอย่างยากต่อการขนย้าย ส่งผลถึงการออกแบบอาคารต่างๆ ล่าช้าออกไป หรือกรณีงบประมาณที่ได้รับต่ำกว่าราคากลาง ซึ่งต้องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัตินั้น แต่แนวปฏิบัติในขณะนี้คือ คณะรัฐมนตรีไม่พิจารณาอนุมัติรายการที่อาจมีผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไป ดังนั้น ศธ.จึงต้องรวบรวมข้อมูลว่า หากมีความจำเป็นจริง และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จำเป็นต้องทำเรื่องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ชัดเจน
    ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติแก่องค์กรหลัก พร้อมทั้งให้แจ้งไปยังหน่วยงานในสังกัดแล้วว่า  ขอให้เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณตามโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด กรณีที่พบปัญหาอุปสรรค ก็ให้หาแนวทางแก้ไขให้เกิดการใช้งบประมาณเพื่อการศึกษา ด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ
  • ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

แนวทางการรณรงค์ให้เด็กมัธยมศึกษาตอนต้นหันมาเรียนสายอาชีพระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ

          นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยความคืบหน้าแนวทางการรณรงค์ให้เด็กมัธยมศึกษาตอนต้นหันมาเรียนสายอาชีพระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตามนโยบายเพิ่มผู้เรียนอาชีวศึกษา ว่า ภารกิจและนโยบายของ สอศ.ต่อการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนโยบาย เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสู่สากล พ.ศ.2555-2569 คือ การเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีพ ทั้งรักษาเป้าหมายผู้เรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพิ่มปริมาณผู้เรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ลดปัญหาการออกกลางคัน
          นอกจากนี้ยังจัดการเรียนการสอนตามความต้องการในแต่ละสาขา เพิ่มช่องทางให้เด็กจากระบบโควตา และรณรงค์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอาชีวศึกษากับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และผู้ปกครอง ซึ่งจากการสอบถามวิทยาลัยต่างๆ พบว่าเด็กระดับมัธยมศึกษาทุกสังกัดสนใจหันมาเรียนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น
          สอศ.จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในระยะเวลา 2 ปีนับจากนี้จะต้องมีเด็กอาชีวะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 15 เปอร์เซ็นต์ โดยปีการศึกษา 2557 ตั้งเป้าเพิ่มขึ้นจากเดิม 9 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ดังนั้น ในช่วง 4-5 เดือน นับจากนี้ สอศ.จะรณรงค์ครั้งใหญ่
          โดยในการจัดงานของวิทยาลัยทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ จะต้องส่งเสริมให้เด็กระดับประถมศึกษา และมัธยมฯ ทั้งของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าใจการเรียนสายอาชีพ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ แต่ในส่วนของระบบโควตา เป็นที่น่ายินดีเนื่องจากภาพรวมทั้งประเทศมียอดเด็กมาสมัครเกินจำนวนรับ จนวิทยาลัยต่างๆ ต้องมีการคัดเลือกเด็ก จะได้เด็กที่มีคุณภาพ และยืนยันได้ว่าอาชีวะไม่ใช่ทางเลือกสุดท้ายของเด็กอย่างที่เข้าใจผิดๆ กัน 

      --ข่าวสด ฉบับวันที่ 19 ก.พ. 2557

ไม่มีความคิดเห็น: