วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

ผลการประชุมองค์กรหลัก 13/2557

ศึกษาธิการ - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์กิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ร่วมประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 13/2557 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2557 ที่ห้องประชุมจันทรเกษม
  • การสอบแข่งขันฯ ครูผู้ช่วย
รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสรุปการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 255ภาค ก เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2557 และภาค ข เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2557 ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครสอบทั้งสิ้น 104,576 คน เป็นผู้มีสิทธิ์สอบจำนวน 104,066 คน ใน 40 สาขาวิชาเอก ผู้เข้าสอบจำนวน 91,577 คน (ร้อยละ 88) และมีผู้ขาดสอบจำนวน 12,489 คน (ร้อยละ 12)สาขาวิชาที่มีผู้สมัครมากที่สุด ได้แก่ คอมพิวเตอร์ ปฐมวัยศึกษา สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ ตามลำดับ
จากการติดตามกรณีของนายพิทักษ์ ศุภเลิศ ผู้อำนวยการสถานศึกษา และนายชุมพล ศุภเลิศ ครู ซึ่งเป็นพี่น้องจากจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ไปสมัครและเข้าสอบที่สนามสอบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาครและนนทบุรี ตามลำดับ ปรากฏว่าเข้าสอบในภาค ก ในวันที่ 19 เมษายน 2557 แต่ไม่ได้สอบในภาค ข เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2557 จึงมอบสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป
ทั้งนี้ มีเขตพื้นที่การศึกษาบางแห่งได้ประกาศผลการสอบข้อเขียนแล้ว เช่น ที่นครสวรรค์ โดยเขตพื้นที่การศึกษาที่เปิดสอบจะทยอยประกาศผลการสอบข้อเขียนให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 24 เมษายน 2557 สอบสัมภาษณ์ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 และประกาศผลการสอบแข่งขันฯ ในวันที่ 2 มิถุนายน 2557
  • รับทราบรายงานผลการรับสมัครนักเรียนนักศึกษาประจำปีการศึกษา 2557
1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบการรับสมัครเข้าเรียนในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศจำนวน 293 โรง ว่า ปีนี้เป็นด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา โดยยังมีจำนวนที่ว่าง สามารถรับได้อีก ดังนี้
- สพม.กรุงเทพมหานคร เขต 1  ห้องเรียนชั้น ม.1 สามารถรับได้อีก 2,796 คน ใน 32 โรงเรียน และ ม.4 อีก 160 คน
- สพม.กรุงเทพมหานคร เขต 2  ห้องเรียนชั้น ม.1 สามารถรับได้อีก 548 คน ใน 12 โรงเรียน และ ม.4 อีก 31
2 คน ใน 8 โรงเรียน
2) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการเปิดรับสมัครนักศึกษาอาชีวะ ข้อมูล ณ วันที่ 18 เมษายน 2557 ดังนี้
- ปวช. มีเป้าหมายในการรับ 190,890 คน ขณะนี้ยื่นใบสมัครที่จะเข้าเรียนไว้แล้ว 135,094 คน หรือร้อยละ 70.77 โดยลงทะเบียนเรียนเรียบร้อยแล้ว 60,867 คน หรือร้อยละ 31.89
- ปวส.  มีเป้าหมายในการรับ 127,206 คน ขณะนี้ยื่นใบสมัครที่จะเข้าเรียนไว้แล้ว 74,399 คน หรือร้อยละ 58.49  โดยลงทะเบียนเรียนเรียบร้อยแล้ว 32,468 คน หรือร้อยละ 25.52
ทั้งนี้ การที่นักเรียนจำนวนมากยังยื่นหลักฐานยังไม่ครบถ้วน เพราะสถานศึกษาหลายแห่งของ สพฐ. ยังไม่ได้ออกหลักฐานการสำเร็จการศึกษาชั้น ม.3 เพื่อมาสมัครลงทะเบียนได้ครบถ้วนเรียบร้อย ทำให้ยังไม่สามารถลงทะเบียนเรียนได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับข้อมูลปีที่ผ่านมาเวลาเดียวกัน พบว่ามีจำนวนผู้สมัครเข้าเรียนระดับ ปวช./ปวส. เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ประชุมองค์กรหลักได้เร่งให้ สอศ.ประชาสัมพันธ์การเปิดรับสมัครเข้าเรียน เพื่อให้สัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะ สายสามัญ เพิ่มขึ้นเป็น 45 : 55 ตามเป้าหมายในปีการศึกษา 2557
นอกจากนี้ รมว.ศธ.ฝากให้ สอศ.พิจารณาการผลิตผู้เรียนสาขาพาณิชย์นาวี โดยเฉพาะสาขาด้าน Officer ที่จบ ปวช.แล้วได้เงินเดือน 60,000 บาทขึ้นไป แต่ขณะนี้ยังขาดแคลนกำลังคนสาขานี้อีกกว่า 5,000 กว่าคน ในขณะที่สถานศึกษาอาชีวะผลิตในแต่ละปีได้เป็นหลักสิบคนเท่านั้น และทราบว่าบริษัทกำลังเพิ่มฐานขุดเจาะ และจะมีการเคลื่อนย้ายเรื่องกำลังคนสาขานี้เข้ามามากขึ้น จึงต้องการกำลังคนอีกเป็นจำนวนมาก จึงควรเร่งออกแบบจัดทำหลักสูตร และวางแผนผลิตกำลังคนในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ
  • รับทราบรายงานความก้าวหน้าข้อสรุป กยศ.
ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้ามติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557 ซึ่งกระทรวงการคลังได้รายงานที่ประชุม ครม.รับทราบว่าขณะนี้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับปัญหาการจัดสรรเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ปีการศึกษา 2557 แล้ว โดยกระทรวงการคลังได้หารือกับสำนักงบประมาณ และเห็นชอบจะเสนอของบประมาณกลางจำนวน 2,118 ล้านบาท เพื่อให้สามารถจัดสรรได้ครอบคลุมผู้กู้ทั้งรายเก่าและรายใหม่ โดยในปีการศึกษา 2557 กยศ.จะใช้งบประมาณจำนวน 30,118 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้แก่นักเรียน/นักศึกษา 727,396 คน แบ่งเป็นงบประมาณเดิมที่มีอยู่แล้ว 16,000 ล้านบาท จากการติดตามทวงหนี้ผู้กู้รายเก่า 12,000 ล้านบาท และงบประมาณกลางที่จะขอเพิ่มอีก 2,118 ล้านบาท ดังนั้น เรื่องนี้ถือว่าได้ข้อสรุปและจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป
สำหรับเป้าหมายของนักเรียน/นักศึกษาที่ กยศ.จะปล่อยกู้จำนวน 727,396 คน แยกเป็นนักเรียน ม.ปลาย 112,780 คน  ปวช.105,632 คน  ปวท./ปวส.65,832 คน และอนุปริญญา/ปริญญาตรี 443,152 คน
  • รายงานผลการรับสมัครทุน ODOS รุ่นที่ 4 รอบสาม จำนวน 2,825 คน
ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินการรับสมัครสอบคัดเลือกผู้รับทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 4 รอบที่สาม ซึ่งมีกำหนดการรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม  11 เมษายน 2557 และสอบข้อเขียนวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 โดยขณะนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 42 เขต ได้รายงานผลการรับสมัคร ณ วันที่ 18 เมษายน 2557 มีจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 2,825 คน แยกเป็นเพศชาย 741 คน เพศหญิง 2,084 คน และแยกตามประเภทสถานศึกษาสายสามัญ จำนวน 2,717 คน สายอาชีพ จำนวน 15 คน และระดับอุดมศึกษา/สกอ. จำนวน 83 คน

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ขอให้องค์กรหลักเร่งวางแผนและดำเนินการโครงการ/กิจกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อความก้าวหน้าของการปฏิรูปการศึกษาในช่วงปิดภาคเรียนให้เสร็จสิ้น และให้นำเสนอต่อที่ประชุมรับทราบและพิจารณาในครั้งต่อไป


ผลการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการ ศธ.
รมว.ศธ. ได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการตรวจราชการในประเด็นต่างๆ ดังนี้
  • ขอให้ผู้ตรวจราชการเข้าร่วม แลกเปลี่ยน และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในพื้นที่ ในการประชุมต่างๆ ของ ศธ.ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ เช่น การประชุมคณะกรรมการผลิตและพัฒนาครู และการเสวนาเกี่ยวกับปัญหาด้านบุคลากร เพื่อให้ผู้ตรวจได้ถ่ายทอดปัญหาและข้อเสนอแนวทางต่างๆ ที่ได้พบเห็นในระดับพื้นที่ให้คณะกรรมการได้รับทราบ รวมทั้งเข้าร่วมงาน Education Thailand  ซึ่งเป็นการจัดนิทรรศการการปฏิรูปการเรียนการสอนทั้งระบบ มีการจัดแสดง Best Practice ด้านการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ การคิดวิเคราะห์ตามแนวทางโครงการ PISA และการจัดเสวนากลุ่มย่อย เพื่อให้ผู้ตรวจราชการได้เข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อที่สนใจ และได้เยี่ยมชมนิทรรศการ เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ได้โดยง่ายและมีความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนการสอนมากขึ้น  และขอฝากให้ช่วยคิดในประเด็นสำคัญ คือ จะทำให้เรื่องเหล่านี้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องได้อย่างไร ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาครูต่อไป
  • โรงเรียนขนาดเล็ก ต้องเพิ่มงบประมาณสนับสนุนตามความเป็นโรงเรียน รวมทั้งเงินอุดหนุน เพราะหากจะปล่อยให้เป็นไปตามสภาพนี้ก็จะไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เกิดความเสียหายต่อการศึกษา ที่ผ่านมามีโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งในภาคเหนือมีการบริหารจัดการจนกระทั่งควบรวมโรงเรียนแล้ว โดยความสมัครใจของคนในพื้นที่ และมีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้นอย่างชัดเจน
  • ปัญหาการสอบ O-Net ที่มีผลกระทบกับการสอนภาษาอังกฤษ  เนื่องจากพบว่าการสอบ O-Net ทำให้ไม่สามารถสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้ เพราะหากสอนเด็กจะมีเวลาเตรียมตัวสอบ O-Net น้อย รวมทั้งการสอบ NT ที่ไม่ได้เน้นเรื่องการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สทศ.กำลังปรับใช้มาตรฐาน CEFR ในการออกข้อสอบ ซึ่ง ศธ.ได้ประกาศเรื่องนี้ไปแล้ว แต่จะต้องมีการหารือเพิ่มเติมของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการเรียนสื่อสาร เรียนสนทนาอย่างเข้มข้น และเพิ่มชั่วโมงเรียนได้ เกิดขึ้นได้จริง ให้การเรียนภาษาอังกฤษได้ผล
  • การสอนภาษาจีน  มีแนวคิดใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษ เพียงแต่การเรียนต้องเป็นความสมัครใจของผู้เรียน หากใครไม่เรียนภาษาจีน ควรต้องมีวิชาเลือกอื่นๆ รองรับ โดย สพฐ.จะต้องจัดระบบรองรับ เพื่อไม่ให้กระทบกับเด็กที่ไม่ได้เรียน เช่น ส่งเสริมให้เล่นกีฬา มีการให้เครดิต เป็นต้น
"ขณะนี้มีแนวทางในการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่จะต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเปล่า เช่น สอนภาษาจีนกับคนจำนวน 8 แสนคน ได้ผลไม่ถึง 20,000 คน จะปรับลดจำนวนการสอนภาษาจีน ให้เหลือ 2 แสนคน และตั้งเป้าหมายไว้ที่  40,000 คน จะดีกว่าหรือไม่ ซึ่งในการเดินทางเยือนจีน 23-27 เมษายนนี้ จะได้นำประเด็นนี้หารือกับ รมว.ศธ.จีนด้วย เพื่อร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพการสอนภาษาจีนในไทย รวมทั้งขอความร่วมมือเกี่ยวกับข้อตกลงกับอาสาสมัครจีนที่จะมาสอนในเมืองไทย ว่าหากจะให้สอนแบบเดิม คือ เรียน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวนห้องเรียนละ 50 คน จะต้องไม่สอน และ ศธ.เองก็ต้องเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ที่อาสาสมัครนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ถือเป็นการขาดงาน จนกว่าโรงเรียนจะปรับ เพราะการสอนเช่นเดิมไม่เกิดประโยชน์ และทำให้เด็กจำนวนมากเกลียดภาษาจีน" จาตุรนต์ ฉายแสง
  • การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจภาคใต้  และเขตพื้นที่สูง  จะต้องวางแผนการผลิตและพัฒนาครูสำหรับชาติพันธุ์ต่างๆ และไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ต้องผลิตครูที่มีความรู้เรื่องการสอนคนต่างวัฒนธรรมอย่างไร ยิ่งมีเอกลักษณ์มาก เข้มข้นมาก ต้องมีความรู้มาก และมีทิศทางว่าจะอนุรักษ์หรือส่งเสริมวัฒนธรรมเพียงใด รวมทั้งความรู้การสอนภาษาไทยสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ด้วย ซึ่งยังไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้ในระบบการศึกษา คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จะสอนเพียงใด มีบุคลากรจำนวนเท่าใด จัดโครงการนำร่องไว้หลายปีแล้ว แต่ไม่มีการขยายหรือกระจายออกไปมากนัก นอกจากนี้ เด็กชาวเขาในพื้นที่สูงส่วนใหญ่พูดภาษาจีนได้คล่องและพูดได้ดีกว่าภาษาไทย เพราะเด็กเรียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษวันละ 1 ชั่วโมง แต่เรียนภาษาจีนตอนเย็นวันละ 3 ชั่วโมงที่โรงเรียนจีน เรียนกับเด็กจีน พูด/ภาษาจีน  หากจะสอนภาษาไทยก็ต้องสอนเข้มข้นเช่นกัน รวมทั้งต้องกลับมาคิดด้วยว่า เรายังจะคงไว้ที่ 8 กลุ่มสาระหรือไม่ เรียนภาษาไทยเพียง 1 ใน 8 ก็จะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะไม่มีความเข้าใจว่า สอนภาษาต้องสอนให้เข้มข้น
  • อาชีวศึกษา จะสื่ออย่างไรว่าให้มีการพัฒนาระบบทวิภาคี การเรียนร่วมกับภาคเอกชน มีงานทำ มีรายได้สูงจริง สร้างหลักสูตรดีๆ ใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น โรงเรียนพานิชย์นาวี กำลังขาดแคลนกำลังคนซึ่งทำหน้าที่ Officer ในเรือ ซึ่งมีเงินเดือนกว่า 60,000 บาทแต่ขณะนี้ขาดแคลนกว่า 5,000 คน ลูกเรือขาดอีกมาก เพราะประเทศไทยกำลังมีแท่นขุดเจาะน้ำมัน แต่โรงเรียนผลิตได้เพียง 50 คนต่อรุ่น ซึ่งหากอาชีวะสนใจจะดำเนินการ สามารถแนะนำเกี่ยวกับการกำหนดหลักสูตรได้ เพื่อหารือกับกรมเจ้าท่าพิจารณาร่วมกันต่อไป ส่วนเรื่องค่านิยม การประชาสัมพันธ์แก่ผู้ปกครอง ควรต้องเร่งดำเนินการ ให้เห็นภาพชัดเจนว่า มาเรียนอาชีวะแล้วมีงานทำจริง ต้องประชาสัมพันธ์เรื่องเหล่านี้จริงจัง เพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพได้อย่างรวดเร็วและตามเป้าหมาย
"สำหรับแนวโน้มนักเรียนอาชีวะเอกชนลดลงนั้น ขอให้ สอศ. และ สช. ได้สำรวจ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ เพราะจากการรายงาน สถานศึกษาอาชีวะของรัฐมากขึ้นกว่าปี 2556 เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน อาจจะเพิ่มขึ้นจาก 34:66 แต่ไม่ถึง 45:55  ซึ่งหากผลเป็นเช่นนั้นจริงๆ คือ ผู้เรียนอาชีวะเอกชนลดลง แต่ผู้เรียนอาชีวะรัฐบาลเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องผิดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ เท่ากับไม่ได้แก้ปัญหาบุคลากรสายอาชีพซึ่งเอกชนต้องการอีกมาก สุดท้ายเราผลิตโดยรวมเท่าเดิม นอกจากนี้ยังขาดบุคลากรเฉพาะสาขา เช่น ประมง อุตสาหกรรม  ซึ่งเรื่องใหญ่อยู่ที่หลักเกณฑ์ของคุรุสภาด้วยที่จะต้องหารือร่วมกัน เช่น การเปิดให้วิศวกรโยธาเข้ามาเป็นครูโดยง่าย ยังไม่สามารถทำได้เพราะจะกระทบกับวิชาชีพครู ทำให้คนเรียนครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ตกงาน แต่ที่จริงไม่ได้ทำให้ตกงาน แต่ไม่สามารถเป็นกันได้ เพราะไม่ได้รับการผลิตมาเช่นนี้ ซึ่งมีความต้องการเป็นจำนวน 10,000 คน หากจะปล่อยไว้นานก็จะเสียหาย" จาตุรนต์ ฉายแสง
  • การขาดแคลนครู จากการสมัครสอบครูผู้ช่วยในปีนี้พบว่า มีบางสาขาขาดแคลนจำนวนไม่มากนัก แต่มีผู้สมัครมาก บางสาขาขาดแคลนจำนวนมาก มีผู้สมัครน้อย จำนวนไล่เลี่ยกับที่เปิดสอบ ซึ่งสาเหตุแตกต่างกัน อาจจะเป็นเพราะการกำหนดอัตราไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น โสตทัศนศึกษา มีอัตราว่างน้อยมาก เมื่อเปิดสอบมีคนมาสมัครมาก ในขณะที่กายภาพบำบัด ไม่มีผู้รับสมัคร เพราะเรียนแล้วไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ฉะนั้นจะเป็นครูสอนคนพิการหรืออื่นๆ ก็จะไม่มีการวัดผล ขาดแคลนมาก แต่กำหนดอัตราไว้น้อย และอัตราว่างก็มีไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ในประเด็นเหล่านี้ และนำไปหารือเกี่ยวกับการขาดแคลนครูด้วย
  • เด็กออกกลางคัน ควรมีการศึกษาและวิเคราะห์สาเหตุที่ออกกลางคันจำนวนมากเช่นนี้ ว่าจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะในการประชุมของยูเนสโก ตนจะต้องพูดถึง Education for All แต่หากว่ามีจำนวนออกกลางคันสูงจะพูดว่า Education for All ไม่ได้ จึงต้องค้นหาสาเหตุเพื่อให้เห็นปัญหาได้มากขึ้น และจะทำอย่างไรให้เข้าใจปัญหาที่ชัดเจน รวมทั้งแนวทางแก้ไข ทั้งไม่ให้ออกกลางคัน และเมื่อออกไปแล้ว จะมีมาตรการรองรับอย่างไร
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: