วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 310/2558 ผลประชุมสภาการศึกษา

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) - พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยเกี่ยวกับความคืบหน้าการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 และ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ พ.ศ.2559-2563 ภายหลังเป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2558 ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ. โดยมี ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน เลขาธิการสภาการศึกษา รวมทั้งกรรมการสภาการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ เข้าร่วมประชุม


รับทราบการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจด้านจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมี ผศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นประธาน ได้รายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมรับทราบ การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 ซึ่งมีเป้าหมาย 3 ข้อ คือ 1) สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาที่รับผิดชอบต่อผู้เรียนด้วยคุณภาพและมาตรฐาน 2) ทุกภาคส่วนของสังคมที่มีศักยภาพและความพร้อม สามารถเข้ามาจัดการศึกษาภายใต้กติกาที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ 3) ผู้เรียนที่มีศักยภาพและความสามารถในการเรียน สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายตามหลักความสามารถในการจ่าย แต่ผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รัฐควรให้ความช่วยเหลือผ่านเงินทุนให้เปล่า
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างหลากหลาย เพื่อให้แผนการศึกษาฉบับใหม่มีทิศทางการจัดการศึกษาที่ชัดเจนและจับต้องได้ ดังนี้
- ควรสอนเด็กให้คิดเป็น วิเคราะห์เป็น ใช้เหตุผลเป็น ควบคู่กับการสอนเรื่องเทคโนโลยี  เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก และสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเมื่อเด็กคิดได้ ก็จะสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ
-
 นำระบบ Digital Economy มาช่วยสนับสนุนการจัดการศึกษา
- จัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) อุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 21
- ให้นำผลการดำเนินงานตามแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับเดิม มาใช้ประโยชน์ในการจัดทำแผนใหม่ด้วย
ทั้งนี้ การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติเป็นเรื่องใหญ่ จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและมีการรายงานต่อคณะกรรมการสภาการศึกษาเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง โดยได้ย้ำว่าแผนที่ได้ต้องดีจริง เป็นรูปร่าง จับต้องได้ และในช่วงของการทำแผนจะต้องสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Steakholders) ในทุกรูปแบบ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการทำแผนมากที่สุดภายในขอบเขตที่เหมาะสม

หารือ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ (พ.ศ.2559-2563)
ที่ประชุมได้หารือร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการยังไม่มีระบบดูแลเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ทำให้เด็กเหล่านี้หลุดรอดออกไป ไม่ได้รับการพัฒนาส่งเสริมความสามารถที่มีอยู่เท่าที่ควร ซึ่งร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีวิสัยทัศน์ "ผู้มีความสามารถพิเศษ ต้องได้รับโอกาสในการพัฒนาความสามารถพิเศษของตนอย่างเต็มที่ ให้เป็นผู้มีความเป็นเลิศที่มีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ สามารถนำประเทศไทยไปสู่สังคมโลกอย่างมั่นคงและมั่งคั่งต่อเนื่องถาวรอย่างมีคุณธรรม"
เป้าหมาย เพื่อจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความสามารถพิเศษ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา ทั้งสายสามัญและสายวิชาชีพ ให้ครอบคลุมทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ ด้านภาษา ด้านสติปัญญา ด้านความคิดสร้างสรรค์ ด้านงานช่าง ด้านกีฬา ด้านการเป็นผู้นำ ด้านดนตรี และด้านศิลปะ
โดยกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน 6 ด้าน คือ 1) การพัฒนากลไกลและระบบการบริหารจัดการ 2) การพัฒนาระบบการศึกษา 3) การผลิตและพัฒนาบุคลากร 4) การสร้างและการถ่ายทอดองค์ความรู้ 5) การพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษระดับสูง 6) การสร้างความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ให้แก่ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบให้ฝ่ายเลขานุการไปพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดของยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านอีกครั้ง โดยเน้นการส่งเสริมให้เด็กที่มีความเก่งอยู่แล้ว มีความเก่งมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เป็นกำลังของชาติในอนาคต ซึ่งขณะนี้มีเด็กเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการดูแลอย่างเป็นระบบ แล้วนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

 เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาชุดต่างๆ
 ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ดังนี้
นางวัชรินทร์ ศานตระกูล เป็นประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในสถานศึกษ
- นางสุทธศรี วงษ์สมาน เป็นอนุกรรมการสภาการศึกษา 3 ด้าน คือ ด้านนโยบายและแผนการศึกษา ด้านพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในสถานศึกษา และอนุกรรมการบริหารโครงการโต๊ะกลมไทย-สหรัฐ ด้านการศึกษา
- นาง
สาวประภาพรรณ วงศาโรจน์ เป็นอนุกรรมการ
สภาการศึกษา ด้านพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในสถานศึกษา

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- รายงานวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลกรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในสถานศึกษา และด้านกฎหมายการศึกษา
รายงานการดำเนินงานโครงการประชุมโต๊ะกลมไทย - สหรัฐฯ ครั้งที่ 7 เรื่อง STEM Education : Learning Culture of the 21st C Workforce และความพร้อมการรับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กำหนดเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเป็นประธานเปิดการประชุมฯ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 โดย สกศ. เป็นเจ้าภาพร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กำหนดจัดขึ้น ณ มจธ.

ไม่มีความคิดเห็น: