รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้เดินทางร่วมกับรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 1 และสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 เพื่อมาดูสภาพและรับฟังปัญหาของโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ICU ของจังหวัดสกลนคร จำนวน 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านพานสหราษฎร์บำรุง อ.เมืองสกลนคร (โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา), โรงเรียนเทพสวัสดิ์วิทยา อ.พรรณานิคม (โรงเรียนมัธยมศึกษา) และโรงเรียนนาอ้อยคำสะอาด อ.เมืองสกลนคร (โรงเรียนประถมศึกษา) ตามลำดับ
จากการพูดคุยร่วมกับผู้บริหาร คณะครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนทั้งสามแห่ง ดีใจที่โรงเรียนเข้าใจโครงการนี้เป็นอย่างดี ซึ่งทั้ง 3 โรงเรียนได้ชี้แจงปัญหา สาเหตุ แนวทางการขอรับการสนับสนุนและวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างดี ซึ่งพบว่ามี อาการป่วยที่คล้าย ๆ กัน คือ ผลสอบ O-NET ทั้ง 3 โรงเรียนอยู่ในอันดับท้าย ๆ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา, ปัญหาด้านการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน เช่น นักเรียน โรงเรียนบ้านพานสหราษฎร์บำรุง ชั้น ป.1-3 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มากถึง 48% ส่วนชั้น ป.4-6 อ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง 60% และชั้น ม.1-3 อ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง 47% นอกจากนี้ พบปัญหาการขาดเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน โดยเฉพาะ DLTV ในโรงเรียนประถมศึกษา และระบบ DLIT ในโรงเรียนมัธยมศึกษา รวมทั้งความต้องการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ครูผู้สอนไม่ตรงวิชา การขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน และในโรงเรียนทั้ง 3 แห่งล้วนมีอินเทอร์เน็ตที่ช้าและไม่เสถียร มีปัญหาต่อการค้นคว้าและการศึกษาเรียนรู้ภายในโรงเรียน
งนี้ ได้ย้ำให้โรงเรียนทราบเช่นกันว่า นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ จะเน้นการดูแลแก้ไขปัญหาในโรงเรียนระดับล่างที่ต้องการได้รับการพัฒนา โดยเริ่มต้นจากปัญหา ไม่ใช่เริ่มจากนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการสั่งการลงไป แบบตัดเสื้อตัวเดียวแล้วให้ทุกคนใส่เหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นแบบจากล่างขึ้นบน (Bottom Up) โดยส่วนกลางจัดงบประมาณและทรัพยากรลงไปช่วยเหลือตามแต่ละสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งนโยบายเช่นนี้ไม่ใช้เฉพาะโครงการโรงเรียน ICU เท่านั้น แต่จะรวมถึงทุกนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในปีงบประมาณต่อไปด้วย
สำหรับจำนวนโรงเรียนทั้งหมดที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ICU ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขณะนี้มีประมาณ 4,000 โรงเรียน ซึ่งได้หารือกับรองเลขาธิการ กพฐ. (นายบุญรักษ์ ยอดเพชร) คงจะไม่คัดโรงเรียนใดออกแล้ว แต่จะพยายามแก้ปัญหาให้โรงเรียนหลุดออกจาก ICU ให้ได้ เพราะปัญหาบางโรงเรียนก็แก้ไขได้ไม่ยาก และเมื่อโรงเรียนใดหลุดออกจากห้อง ICU แล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะแข็งแรงได้ทันที แต่ต้องพักฟื้นก่อน เพื่อพัฒนาให้เติบโตเข้มแข็งได้อย่างมั่นคงยั่งยืนต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า จากการที่ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม Education World Forum 2017 ที่สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 23-28 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีด้านการศึกษากว่า 70 ประเทศทั่วโลก มาประชุมร่วมกันมากที่สุด ได้มีโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเชิงนโยบายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจากหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งผู้แทนจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) ซึ่งเป็นผู้จัดสอบ PISA (The Programme for International Student Assessment) ก็เห็นตรงกันว่าผลการสอบ PISA ในกลุ่มโรงเรียนของไทยมีการกระจายใกล้เคียงกับผลสอบ O-NET และจากข้อมูลความจริงกลับพบด้วยว่า ผลการประเมิน PISA ของโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาไม่ได้แพ้โรงเรียนทั่วไป แต่คะแนนต่ำที่สุด กลับเป็นโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งอยู่ในอันดับท้าย ๆ ต่างจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งมีคะแนนชนะสิงคโปร์ขาดลอย และติดอันดับต้นของโลกด้วย
ส่วนผลสอบ PISA ของเวียดนาม ซึ่งสูงขึ้นมาติดอันดับ 8 ของโลก ในขณะที่ไทยได้อันดับ 54 จาก 72 ประเทศ วิเคราะห์ได้ว่าเด็กที่ยากจนที่สุด 10% สุดท้ายของเวียดนาม ก็ยังได้คะแนนสอบสูงกว่าทุกประเทศของยุโรปที่ถือว่ารวยที่สุดของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งผลวิเคราะห์เห็นว่า "ความอยากรู้อยากเห็น" ในการเรียนหนังสือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้น ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนอยากมาโรงเรียน และอยากเรียนหนังสือ ซึ่ง โรงเรียน ICU ก็สามารถใช้บทเรียนนี้เป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น