วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 212/2560 รมว.ศธ.บรรยาย "การประสานความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือเด็กในกระบวนการยุติธรรม ในมุมมองของภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา"

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จัดการประชุมเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงาน "โครงการบูรณาการสร้างเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัวในกระบวนการยุติธรรม เพื่อพัฒนาระบบงานศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วประเทศให้เป็นศูนย์กลางในการคุ้มครองและแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างมีมาตรฐานภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2560 ณ ห้องจูปิเตอร์ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี - นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงาน "โครงการบูรณาการสร้างเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัวในกระบวนการยุติธรรม (Project on enhancing Co-Operation in Protecting the rights of Children in conflict with the law : CPC)" โดยเชิญ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษเรื่อง "การประสานความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือเด็กในกระบวนการยุติธรรม : ในมุมมองของภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา" โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน อาทิ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัว ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ นักจิตวิทยาประจำศาล
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า ในฐานะที่เป็นนักจิตวิทยาเด็กมาก่อน ทำให้มีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมในต่างประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าการจัดระบบดูแลเรื่องเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และจะต้องมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญรับผิดชอบดูแลเป็นการเฉพาะ จึงจะสามารถช่วยเหลือดูแลเด็กและเยาวชนให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิได้ตามที่กฎหมายในประเทศนั้น ๆ กำหนด
ในส่วนของประเทศไทย มีงบประมาณในการดูแลเด็กอย่างดีจนเติบใหญ่จำนวนไม่มากนัก จึงส่งผลให้ต้องทำงานในเชิงรับมากกว่าเชิงรุก แต่ก็เชื่อว่าด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือภายใต้โครงการบูรณาการสร้างเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัวในกระบวนการยุติธรรม ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ถือว่าเป็นการทำงานด้านการคุ้มครองช่วยเหลือเด็กและเยาวชนของประเทศเดินมาถูกทิศทางแล้ว แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ ไม่ควรที่จะยึดติดกับรูปแบบการทำงานมากนัก เพราะเรื่องของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมด้วยแล้ว การดำเนินงานด้วยความเข้าใจปัญหาและสาเหตุอย่างลึกซึ้ง จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการแก้ปัญหาจากต้นเหตุที่แท้จริง ประกอบกับการมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาร่วมกันก็จะส่งผลต่อการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วมากขึ้น
สิ่งสำคัญอีกประการ คือ การประสานการทำงานระหว่างหน่วยงาน ซึ่งต้องยอมรับว่ารูปแบบการประสานงานจากระดับบนมาสู่ระดับล่างยังไม่เป็นผลมากนัก แม้ว่าระดับนโยบายจะรับรู้และมีความพร้อมที่จะร่วมมือเพียงใด แต่หากระดับล่างซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติไม่รับรู้ข้อมูล การปฏิบัติก็ไม่เกิด ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ซึ่งเกิดจากการยึดติดกับรูปแบบการทำงานมากเกินไป เช่นเดียวกับการบูรณาการการทำงานที่ทุกคนจะต้องรู้และรับผิดชอบงานตามบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ตลอดจนเข้าใจความแตกต่างของบทบาทหน้าที่แต่ละด้าน แต่ละหน่วยงาน การบูรณาการการทำงานจะเกิดขึ้นจริง เมื่อนั้นข้อตกลงและความร่วมมือต่าง ๆ ที่เขียนไว้ก็จะไม่อยู่แค่ในกระดาษอีกต่อไป
สำหรับการดำเนินงานในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ เน้นการปรับกระบวนการทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ให้เกิดการประสานงานจากระดับล่างขึ้นมาสู่ระดับบนมากขึ้น พร้อมมอบให้ผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดูแล ประสานงาน ร่วมคิด และร่วมมือในการจัดทำแผนหรือกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองช่วยเหลือเด็กและเยาวชน และในอนาคตจะพยายามส่งเสริมให้สถานศึกษาทุกแห่งมีระบบการทำงาน ตลอดจนแนวทางและขั้นตอนในการประเมินพฤติกรรมเด็กเยาวชนที่สุ่มเสี่ยงที่จะมีปัญหาหรือถูกทำร้ายเบื้องต้นให้ได้รับการช่วยเหลือดูแล ก่อนส่งสู่กระบวนการทางกฎหมายหรือหน่วยงานด้านสังคมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: