วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 269/2560 ผลประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 2/2560

การอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ที่ประชุมรับทราบแนวทางการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ประเภทสามัญศึกษา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะได้เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ พฤษภาคม 2560 ที่ได้เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณปี 2561 เพิ่มเติม สำหรับการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาดังกล่าว เป็นจำนวน 281.9 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการคำนวณงบประมาณที่ได้รับจัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรี สำหรับปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนเงินสมทบเป็นเงินเดือนครู นักเรียนโรงเรียนเอกชนจะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่ม ระดับก่อนประถมศึกษา-ประถมศึกษา 360 บาท/คน/ปี และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-ตอนปลาย 450 บาท/คน/ปี
นอกจากนี้ สช. กำลังดำเนินการยกร่างระเบียบกระทรวงฯ ในการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล เพื่อปรับอัตราเงินที่จะจัดสรร มาตรการกำกับ และควบคุมให้โรงเรียนจ่ายเงินเดือนครูตามวุฒิให้ชัดเจนต่อไป

● การรับรองวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนประเภทนานาชาติ
ที่ประชุมรับทราบ ประกาศ สช. เกี่ยวกับการรับรองวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนในระบบ ประเภทนานาชาติ พ.ศ. 2560 พร้อมข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนที่ได้รับอนุญาตและเปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเป็นหลักฐานแสดงให้มหาวิทยาลัยใช้ประกอบการพิจารณารับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาต่อไป โดยการเทียบวุฒิการศึกษา พิจารณาจากหลักเกณฑ์ ดังนี้
  • ใบอนุญาตจัดตั้งต้องระบุให้เปิดสอนถึงชั้นสูงสุด ระบบอังกฤษ (Year 13) และระบบสหรัฐอเมริกา (Grade 12) และปัจจุบันต้องจัดการเรียนการสอนมีนักเรียนถึงชั้นสูงสุด
  • โรงเรียนจะต้องผ่านการประเมินคุณภาพและได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์กรต่างประเทศ และ สมศ.

● การส่งเสริมโรงเรียนสอนขับรถยนต์
ที่ประชุมรับทราบ กรณีที่ชมรมโรงเรียนสอนขับรถยนต์สงขลาได้มีหนังสือขอให้ สช. ดำเนินการร้องขอต่อกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้โรงเรียนสอนขับรถยนต์ที่อยู่ในการควบคุมดูแลของ สช. ที่มีอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 200 แห่งซึ่งหลายแห่งดำเนินการสอนมาแล้วกว่า 20 ปี มีบุคลากร ครู ผู้สอนที่มีประสบการณ์ สนามขับ ห้องอบรม ฯลฯ ให้มีบทบาทและหน้าที่ในการขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์

ซึ่งขณะนี้ สช.ได้มีหนังสือไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนสอนขับรถยนต์ที่ได้มาตรฐาน ให้สามารถขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์สำหรับผู้เข้ารับการอบรมได้
นายพะโยม ชิณวงศ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาหารือในเรื่องที่สำคัญ เรื่อง คือ
  • ร่างประกาศ กช. เรื่อง หลักเกณฑ์การให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนการกุศล  ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าในระยะหลังมีการจัดตั้งโรงเรียนการกุศลใหม่เพิ่มขึ้น จนถึงปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 570 โรง แยกเป็นในพระราชูปถัมภ์ โรง, การกุศลของวัด 162 โรง, การศึกษาสงเคราะห์ 193 โรง, สอนศาสนาอิสลามควบคู่สามัญ 192 โรง, การศึกษาพิเศษ 19 โรง ดังนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องกำหนดแนวปฏิบัติต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น จำนวนปี เงินสมทบ ฯลฯ โดยให้ สช.เสนอที่ประชุมพิจารณาครั้งต่อไป
  • การอนุญาตให้โรงเรียนนอกระบบที่เปิดสอนเป็นภาษาต่างประเทศ  ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเภท เช่น หลักสูตรมวยไทย หลักสูตรสอนทำอาหาร หลักสูตรสอนการนวด ฯลฯ โดยที่ประชุมเห็นว่าไม่ควรกำหนดกรอบหลักเกณฑ์ดำเนินการมากจนเกิดความไม่คล่องตัวในการเปิดสอน จึงขอให้ สช. ปรับปรุงประกาศหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวให้เกิดความคล่องตัวแก่โรงเรียนให้มากขึ้น แล้วเสนอที่ประชุมพิจารณาครั้งต่อไป
  •  การจ่ายเงินสวัสดิการสงเคราะห์เป็นค่ารักษาพยาบาลแก่บุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน  ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะเดิมครูเอกชนใช้สิทธิ์เบิกจากกองทุนสงเคราะห์ โดยนำเงินอัตราดอกเบี้ยใช้จ่ายเป็นเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล แต่ระยะหลังอัตราดอกเบี้ยกองทุนดังกล่าวต่ำมาก อาจส่งผลต่อค่ารักษาพยาบาลของครูเอกชน นอกจากนี้รายละเอียดของกองทุนของครูเอกชนดังกล่าวก็ยังมีความกำกวมมาก ซึ่งอาจจะดูแลสุขภาพไม่ได้ จึงต้องการให้ครูเอกชนเข้าสู่ระบบสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) หรือสามารถเลือกรับเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามอัตราเดิมหรือรับจากบัตรทอง ทางใดทางหนึ่ง  สช.จึงได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตีความต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: