วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 341/2560 "ธีระเกียรติ" บรรยายในการประชุมเตรียมความพร้อมผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ "ผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น" ปี 2560

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ปี พ.ศ.2560 (กรณีคัดเลือกนิสิตนักศึกษาครูชั้นปีที่ 5 ในปีการศึกษา 2559) จำนวน 3,554 คน เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี



นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทุกท่าน ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วย จึงขอบรรยายให้เห็นภาพการปฏิรูปประเทศ และการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลในปัจจุบัน 4 เรื่อง คือ 1) ข้อมูลพื้นฐานระบบการศึกษาของประเทศ 2) การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 3) การน้อมนำแนวพระราชดำริและพระบรมราโชบายด้านการศึกษาใส่เกล้าฯ เป็นแนวทางปฏิบัติ 4) นโยบาย Thailand 4.0
1) ข้อมูลพื้นฐานระบบการศึกษาของประเทศ (Education in THAILAND)
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า หากพิจารณาจากข้อมูลสนับสนุนเชิงประจักษ์ (Evidence-based Policy) โดยอ้างอิงจากผลประเมินจากการทดสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) จัดโดยองค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นปรอทวัดอุณหภูมิการศึกษาที่สำคัญของโลก ในวิชาที่เป็นหัวใจของการพัฒนา 3 วิชา คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน โดยทำการประเมินทุก ๆ 3 ปี เพื่อเปรียบเทียบผลการจัดการศึกษาสำหรับเด็กอายุ 15 ปี ในประเทศตนเองและกับประเทศอื่น ๆ
ปี พ.ศ.2543 (ค.ศ.2000) เป็นปีที่ประเทศไทยเริ่มมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ของประเทศ และเป็นปีที่ไทยเข้าร่วม PISA ซึ่งผลคะแนนของการทดสอบ PISA ทุก ๆ 30 คะแนนที่ห่างจากค่าเฉลี่ย PISA จะเท่ากับ 1 ปีการศึกษา นั่นก็คือผลสอบปีล่าสุด พบว่าเด็กไทยอายุ 15 ปีที่เข้ารับการทดสอบ PISA มีความรู้ใน 3 วิชาดังกล่าว ห่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉลี่ยเกือบ 3 ปีการศึกษา หรือยังคงอยู่ห่างจากสิงคโปร์ 5 ชั้นปี นอกจากนี้ ข้อมูลการสอบ PISA ในช่วงเวลา 16 ปีที่ผ่านมาก็พบด้วยว่า เด็กที่ติดอันดับสูงสุดของไทย 10% ได้คะแนนเฉลี่ยเกือบ 550 คะแนน แต่เด็กที่อ่อนที่สุดได้คะแนนเฉลี่ย 350 คะแนน ซึ่งเท่ากับว่าเราห่างกันเอง 200 คะแนน มากกว่าเราห่างจากสิงคโปร์ สะท้อนให้เห็นว่าทิศทาง 16 ปีที่ผ่านมา วิธีการและการลงทุนในการปฏิรูปการศึกษาด้านต่าง ๆ ของไทยต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์กลุ่มโรงเรียนที่เข้ารับการทดสอบ PISA ของไทย พบว่าโรงเรียนสังกัด กทม. ได้คะแนนต่ำที่สุด ถัดมาตามลำดับคือ อบต./อบจ.,โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา, โรงเรียนเอกชน, โรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป, โรงเรียนสาธิต จนถึงกลุ่มที่ได้คะแนนสูงที่สุดซึ่งเป็นกลุ่มโรงเรียนชั้นนำ เช่น เตรียมอุดมศึกษา สวนกุหลาบวิทยาลัย หรือกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์ คือ จุฬาภรณราชวิทยาลัย และมหิดลวิทยานุสรณ์, ส่วนคะแนนการสอบของโรงเรียนขยายโอกาสฯ ทำให้เห็นว่าไม่ได้มีคุณภาพต่ำไปกว่าโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป แต่ที่ต้องให้ความสนใจที่จะต้องดูแล คือ โรงเรียนเอกชน เพราะรับผิดชอบดูแลเด็กนักเรียนกว่า 2 ล้านคน ถัดมาคือ กทม. ซึ่งมีคะแนนไม่ถึง 400
สิ่งเหล่านี้ เป็นความจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการศึกษาปฏิรูปการศึกษา ได้ให้ความสนใจวิเคราะห์เพื่อนำไปแก้ปัญหาใน 2 เรื่องหลัก คือ "คุณภาพการศึกษา" และ "ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" เพื่อต้องการยกระดับเส้นล่างสุดของคะแนนสอบ PISA ให้ขึ้นมา ให้อุณหภูมิทางการศึกษาสูงขึ้น ในขณะที่โรงเรียนชั้นนำ เช่น มหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งสูงติดอันดับต้นของโลก ก็ไม่น่าห่วงเรื่องเหล่านี้
ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา และการจัดสรรทรัพยากรให้แก่โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและอยู่ในระดับล่างสุด แต่ในขณะเดียวผลการวิเคราะห์ยังพบว่า "จนแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีผลการเรียนตามความยากจน" ซึ่งตัวอย่างที่ดีคือประเทศเวียดนามที่ได้อันดับ PISA ติดอันดับต้นของโลก เพราะเด็กยากจนที่สุดของเวียดนามสามารถเอาชนะเด็กที่มีความพร้อมหรือเด็กรวยที่สุดของ OECD ที่อยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปได้ ทำให้เห็นบทเรียนสำคัญของเวียดนามที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ การส่งเสริมให้เด็กอยากที่จะเรียนหนังสือ (Mindset) เพราะสถิติพบว่าเด็กเวียดนามตื่นเต้นกับการเรียนหนังสืออยู่ตลอดเวลา โดยในจำนวนเด็ก 100 คนจะพบเด็กอยากเรียนหนังสือมากถึง 77 คน ส่วนเด็กไทยที่อยากเรียนหนังสือใน 100 คนจะพบเพียง 18 คน หากเราปล่อยไปแบบนี้ เวียดนามก็จะห่างจากเราไปเรื่อย ๆ
รัฐบาลจึงได้มีโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็น 1 ในโครงการสำคัญ เพื่อคัดเลือกคนดี คนเก่ง เข้ามาเป็นครูในท้องถิ่นของตนเอง และเป็นระบบที่สอดคล้องกับแนวคิดของ Bill Gates ที่ว่า "วิธีการเปลี่ยนระบบการศึกษาที่สำคัญที่สุด คือ หาครูที่เก่งที่สุด ไปสอนเด็กที่อ่อนที่สุด"
จึงขอให้ "ว่าที่ครูผู้ช่วย" ผู้เข้ารับการปฐมนิเทศครั้งนี้ทั้ง 3,554 คน จงภูมิใจในตัวเองที่จะเป็นผู้ปฏิรูประบบการศึกษาครั้งสำคัญของประเทศในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น: