วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ที่ 640/2560 ผลการประชุมองค์กรหลัก 39/2560

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมองค์กรหลัก ครั้งที่ 39/2560 เมื่อวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2560 ณ ห้องประชุมชั้น อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุม

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ได้แจ้งเรื่องที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุม ครม. เพื่อให้ที่ประชุมองค์กรหลักได้รับทราบ ดังนี้
  • นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ติดตามเร่งรัดกฎหมายภายในของแต่ละกระทรวง ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการยังมีกฎหมายระดับกระทรวงค้างอยู่
  • นายกรัฐมนตรีต้องการให้มีโรงเรียนประจำลักษณะโรงเรียนกินนอน ใน 37 อำเภอ ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา 1 โรงเรียน และมัธยมศึกษา 1 โรงเรียน เพื่อช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาส ซึ่งไม่ใช่เป็นการสร้างโรงเรียนใหม่ แต่ให้เป็นลักษณะการปรับปรุงโรงเรียนเพิ่มเติม
         
    นพ.ธีระเกียรติ กล่าวในเรื่องนี้ต่อที่ประชุมเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสหารือกับอาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเป็นลูกของจุฬาราชมนตรี เห็นว่าเด็กในพื้นที่ดังกล่าวควรจะได้เติบโตร่วมกันให้มากที่สุดและคุ้นเคยกันจนเป็นเรื่องปกติไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด จึงเห็นควรให้จัดโครงการพิเศษร่วมกัน เช่น กิจกรรมลูกเสือ การเรียน รด. การเรียนศิลปะ ดนตรี กีฬา กิจกรรมพหุวัฒนธรรม จัดหลักสูตรร่วมกัน เป็นต้น
         นายพะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า โรงเรียนกินนอนของเอกชนที่ดูแลนักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่มีอีกหลายแห่ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง แต่โรงเรียนได้รับเพียงค่าใช้จ่ายรายหัวเฉพาะค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับอนุบาล-ประถมศึกษา ต้องนำมาเฉลี่ยกันให้ทั่วถึงทุกระดับ จึงจะนำเรื่องโรงเรียนกินนอนของโรงเรียนเอกชนให้ที่ประชุม กช.พิจารณาให้การสนับสนุนต่อไป
  • นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ให้ลดการจัดโชว์หรือนำเสนอแต่ความสำเร็จ พร้อมทั้งสั่งการให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงลงไปประชุมแก้ปัญหาในพื้นที่ รวมถึงเรื่องอาหารเลี้ยงรับรอง ขออย่าให้เกินความจำเป็น และไม่รบกวนคนในพื้นที่
  • การสนับสนุนการใช้ยางพาราของเกษตรกรในตลาด นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนด TOR และคุณลักษณะในการใช้ยางเพื่อคัดเลือกผู้ขาย โดยคำนึงถึงมาตรฐานอุตสาหกรรม และเปิดโอกาสให้ผู้ขายหลากหลายได้เข้ามาแข่งขันกัน ซึ่งหากยางผ่านมาตรฐานการรับรองแล้ว กระทรวงศึกษาธิการสามารถซื้อได้ประมาณ 10-30% โดยขอให้ดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใน 1 เดือน
  • ประเด็นข่าวลือเรื่องเขตการศึกษาพิเศษ หรือเรื่องโรงเรียนพิเศษ (Public School) ซึ่ง รมว.ศธ.ได้ทำความเข้าใจกับที่ประชุมว่า กรณีดังกล่าวไม่ควรใช้ ม. 44 เนื่องจากจะทำให้เกิดปัญหาอย่างหนัก เพราะการแก้ไขเรื่องเขตการศึกษาพิเศษ ไม่สามารถทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันหายไปได้ แต่อาจจะทดลองทำในขอบเขตเล็ก ๆ เพื่อพิจารณาปัญหาก่อน จากนั้นจึงค่อยขยายผลก็ได้ โดยยึดหลักการดำเนินการในโรงเรียนที่ไม่พร้อมก่อนเท่านั้น หรือเริ่มต้นจากโรงเรียนประชารัฐก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้ห้าม แต่ขอให้ทำในกรอบกฎหมายที่มีปัจจุบัน จึงขอให้ทำความเข้าใจให้ตรงกัน
  • รัฐบาลจัดทำโครงการ Hi-Speed Internet ให้ทุกโรงเรียน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ปี 2561 โดย ศธ. ได้มอบนโยบายให้แต่ละโรงเรียนเลือกผู้ให้บริการเองตามความเหมาะสม และกำหนดให้เป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารโรงเรียน ตลอดจนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดย ศธจ./ศธภ. จะต้องรับทราบด้วยว่าในพื้นที่มีผู้ให้บริการใดบ้าง และโรงเรียนสามารถใช้ของผู้ให้บริการรายใดได้บ้าง
         อย่างไรก็ตาม จากการที่ รมว.ศึกษาธิการ ไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านประชาสุขสันต์ จ.สกลนคร เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่ามีการบริหารจัดการ Hi-Speed Internet ที่ดีมาก โดยเลือกใช้บริการพื้นฐานของภาครัฐที่มีสัญญาณผ่านโรงเรียนและซื้อบริการจากเอกชนเพิ่มเติมในส่วนที่สัญญาณพื้นฐานของรัฐไม่ครอบคลุม เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และขอชื่นชมนางอุทุมพร ทองวงษา ผอ.โรงเรียนบ้านประชาสุขสันต์ ที่ใส่ใจในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ตลอดจนสามารถบริหารจัดการให้นักเรียนได้รับสิ่งที่ดีที่สุด
          อนึ่ง ผู้ให้บริการ Hi-Speed Internet ในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ (UniNet, เน็ตประชารัฐ) ภาครัฐวิสาหกิจ (TOT, CAT) และภาคเอกชน (TRUE, SAMART TELECOM, AIS, 3BB) ซึ่งการเลือกใช้บริการ Hi-Speed Internet จะขึ้นอยู่กับขนาดของโรงเรียน จำนวนนักเรียน หรือความต้องการอื่น ๆ ได้อิสระตามความเหมาะสม โดย ศธ.จะไม่กำหนดรูปแบบตายตัวให้ แต่จะให้ยึดหลักการเลือกใช้ Hi-Speed Internet ที่มีความเสถียรที่สุดตามกำลังที่สามารถทำได้

ไม่มีความคิดเห็น: