วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การวิเคราะห์ข้อสอบภาค ก.(แนวคิดส่วนตัว)

เทคนิคการวิเคราะห์ข้อสอบผู้บริหาร ภาค ก.

1. แนวข้อสอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปัจจุบันมักจะออกในแนวตัวอย่าง เหตุการณ์ กรณีต่างๆ ให้ผู้เข้าสอบได้วิเคราะห์ และเลือกตอบ
2. คำตอบมักจะมีข้อถูกใกล้เคียงกัน 2 ข้อ
3. เนื้อหา โครงสร้างของคำถามจะประกอบด้วย
ประกอบด้วย ประธาน + กิริยา + กรรม + สถานที่ + เวลา + สถานการณ์ และ เนื้อหา ลวง หรือตัวหลอก เช่น ข้อสอบภาค ก.ของผู้บริหารสถานศึกษา ปี 2550 ที่ผ่านมา
1. มีเงินงบประมาณงบดำเนินการค้างจ่าย ๕๐,๐๐๐ บาท ต่อมาได้รับเงินอุดหนุนเมื่อเดือน พ.ย. ๑๒๐,๐๐๐ บาท บาท เงินรายได้ จากการระดมทรัพยากร 80,000 บาท เงินบริจาคเพื่อบำรุงรักษาพัสดุ 120,000 บาท ถ้าโรงเรียนจะซื้อคอมฯ 25,000 บาท ใช้เงินอะไร
ก. เงินอุดหนุน
ข. งบดำเนินการ
ค. เงินรายได้สถานศึกษา
ง. เงินบริจาค
ลองมาวิเคราะห์ดูว่า คนถาม เขาถามอะไร เนื้อหาตรงไหน คือ ข้อเท็จจริง เนื้อหาตรงไหน คือ ตัวลวง
ก. เงินอุดหนุน ซื้อคอมได้ไหม
แนวทางการใช้งบประมาณเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ค่าใช้จ่ายรายหัว) สถานศึกษาจะต้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับนโยบายและจุดเน้น โดยนำแผนปฏิบัติการเสนอคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความเห็นชอบ และรายงานผลการดำเนินงานให้สาธารณชนทราบ การใช้งบประมาณเงินอุดหนุนสามารถใช้ในลักษณะงบบุคลากร เป็นค่าจ้างชั่วคราว , งบดำเนินงาน เป็นค่าตอบแทน ใช้สอย และวัสดุ ค่าสาธารณูปโภค และใช้ในงบลงทุน ซื้อครุภัณฑ์ หรือปรับปรุงซ่อมแซมในวงเงินที่เกินกว่า 50,000 บาท ได้ ทั้งนี้ การใช้จ่ายเงินอุดหนุน ค่าใช้จ่ายรายหัว ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงาน จะสามารถนำไปใช้ประกอบการจัดทำต้นทุนผลผลิตต่อหน่วยของสถานศึกษาได้สะดวกขึ้น ในคำถาม ไม่ได้บอกว่า มีโครงการจัดซื้อคอม คำถาม? แล้วซื้อด้วยเงินอุดหนุนได้ไหม?

ข.งบดำเนินการ
งบดำเนินการ หมายถึง งบหมวดเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ ค่าสาธารณูปโภค เงินอุดหนุน และค่าเสื่อมราคา คำถาม ซื้อคอมได้ไหม ?
ค.เงินรายได้สถานศึกษา
อะไรคือเงินรายได้สถานศึกษา
- เงินบำรุงการศึกษาเดิม - รายได้ที่เกิดจากการหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ - เบี้ยปรับที่เกิดจากการผิดสัญญาซื้อ / จ้างทำของที่ดำเนินการโดยเงินงบประมาณ - เงินที่มีผู้มอบให้ (เงินบริจาคที่มีวัตถุประสงค์ หรือระบุวัตถุประสงค์ไม่ชัดแจ้ง) - เงินอื่นๆ ที่โรงเรียนรับไว้เป็นกรรมสิทธิ์

หลักในการใช้จ่ายเงินรายได้สถานศึกษา
1. การใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตามแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินรายได้สถานศึกษา โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้และเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนเป็นสำคัญ
2. การใช้จ่ายเงินในส่วนที่มีผู้มอบให้ โดยมีวัตถุประสงค์ชัดแจ้ง (เงินบริจาค เงินระดมทรัพยากร) ให้นำไปใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันได้เฉพาะในกิจการที่ผู้มอบระบุวัตถุประสงค์เท่านั้น 3. การจ่ายเงินที่นอกเหนือจากข้อ 2 ให้ดำเนินการดังนี้
3.1 รายจ่ายงบบุคลากร รายการค่าจ้างชั่วคราว เฉพาะกรณีสถานศึกษาขาดบุคลากรที่ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้ความรู้กับนักเรียน ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ
3.2 รายจ่ายงบดำเนินงาน ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ
3.3 รายจ่ายเงินอุดหนุน สำหรับช่วยเหลือนักเรียนยากจนหรือขาดแคลน
3.4 รายจ่ายงบลงทุน ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สำหรับรายการครุภัณฑ์ที่มีวงเงินต่อหน่วยต่ำกว่า 1,000,000 บาท และรายการค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ที่มีวงเงินต่ำกว่า 10,000,000 บาท
3.5 รายจ่ายเพื่อสมทบรายการค่าครุภัณฑ์ หรือรายการค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่ได้รับจากเงินงบประมาณ ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณกำหนด กล่าวคือ กรณีสถานศึกษาได้รับงบประมาณเป็นรายการครุภัณฑ์หรือสิ่งก่อสร้าง (งบปีเดียว) แต่ไม่สามารถซื้อหรือจ้างได้ด้วยเหตุใดก็ตาม ให้ใช้เงินรายได้สถานศึกษาไปเพิ่มวงเงินรายการครุภัณฑ์หรือสิ่งก่อสร้างนั้นได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของวงเงินที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่ต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจก่อน คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับสถานศึกษาในภูมิภาค หรือเลขาธิการ กพฐ. สำหรับสถานศึกษาในกรุงเทพมหานคร 4. การใช้จ่ายเงินรายได้สถานศึกษาเพื่อเป็นเงินยืมให้ดำเนินการได้ดังนี้
4.1 การยืมเพื่อใช้ทดรองจ่ายในการปฏิบัติราชการของสถานศึกษา
4.2 การดำเนินงานเพื่อจัดหารายได้ของสถานศึกษา
4.3 การยืมเพื่อทดรองจ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการของข้าราชการและลูกจ้างของสถานศึกษา เฉพาะในส่วนที่สามารถเบิกจากเงินงบประมาณมาชดใช้เงินรายได้สถานศึกษาได้ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าการศึกษาบุตร 5. กรณีสถานศึกษา มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ ให้ขอความเห็นชอบจากเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุ ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยอนุโลม และให้มีการรายงานการรับ- จ่ายเงินรายได้สถานศึกษา ตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด ทุกสิ้นปีการศึกษา คำถาม แล้วซื้อคอมได้ไหม?

ง.เงินบริจาค คือ เงินรายได้ ในคำถามข้อนี้มีระยะเวลา มากำกับ แสดงว่า ผ่าน 30 ก.ย.ไปแล้ว คือ สิ้นปีงบประมาณแล้ว เหลือเงินที่ใช้ได้อยู่อย่างเดียว คือ เงินรายได้ เพราะคำถามไม่ได้บอกว่า ซื้อคอมตามโครงการ ตามแผนปฏิบัติการของโรงเรียน

นี่คือการวิเคราะข้อสอบ ซึ่งวิเคราะห์จากคำถามและตัวเลือก ส่วนในความเป็นจริงการ แนวทางการปฏิบัติการบริหารเงินงบประมาณก็อาจจะแตกต่างไปตามสภาพบริบทของแต่ละโรงเรียนที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันครับ
สรุป การวิเคราะห์คำถาม ต้องอ่านให้เข้าใจ โครงสร้างคำถาม และนำคำตอบทุกข้อมาวิเคราะห์ ว่าใช่หรือไม่ ที่สำคัญ คือเราต้องรู้ และแม่นระเบียบครับ ส่วนคำถาม ด้านความจำ ก็อีกแบบหนึ่ง คือต้องรู้เรื่องที่เขาถามครับ
4. หลักการทำข้อสอบ ผู้เข้าสอบต้องใช้ทักษะความรู้ ทฤษฎี หลักการของการปฏิบัติ ตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานค่อนข้างจะเน้นเป็นพิเศษ
5. ผู้เข้าสอบต้องลด EGO ของตนเองลง อย่าให้ข้อสอบหลอก ให้เราตอบตามความเคยชินที่เราปฏิบัติ หรือ ความเป็นจริง ต้องใช้หลัก นโยบายของหน่วยเหนือมาวิเคราะห์ตอบ ตัวอย่างเช่น
1. โรงเรียนชนบท มีสภาพแวดล้อมในชุมชนยากจน แต่เคร่งครัดในศาสนา โรงเรียนขาดแคลนเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างมาก ผอ. จะทำอย่างไรให้โรงเรียนมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้?
a. จัดทำผ้าป่าเพื่อการศึกษา
b. จัดทำโครงการหารายได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น
c. เสนอของบประมาณเพิ่มจากเขตพื้นที่
d. ขอบริจาค
ในความเป็นจริง ถ้าโรงเรียนอยากได้เครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ วิธีที่ทำได้รวดเร็ว และเป็นจริงในการปฏิบัติ คือ การจัดทำผ้าป่าเพื่อการศึกษา แต่ผู้ออกข้อสอบไม่คิดเช่นนั้น เพราะ ผู้ออกข้อสอบไม่ได้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพียงแต่ใช้หลักการมาออกข้อสอบ ดังนั้นถ้าเราตอบตามความเป็นจริงที่เราปฏิบัติ ว่า ควรจัดทำผ้าป่าเพื่อการศึกษา เราจะตอบผิด
ข้อสอบข้อนี้มีข้อความชี้แนว คือ ชุมชนยากจน ดังนั้น ต้องใช้หลักธรรมภิบาลมาวิเคราะห์คำตอบ นั่นคือ ต้องเลือกตอบข้อ จัดทำโครงการหารายได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นคำตอบที่ขัดต่อการบริหารงานของผู้ปฏิบัติ เนื่องจากกว่าทำโครงการสำเร็จ ก็ใช้เวลานาน ส่วนข้อความที่ว่า เคร่งครัดศาสนา เป็นข้อความหลอก
สรุปว่า การทำข้อสอบ ให้ใช้หลักธรรมาภิบาลมาตอบ อย่าใช้วิธีปฏิบัติ หรือความรู้สึกของเรามาตอบ เพราะ มีผู้สอบตกมามากกับข้อสอบแนวนี้ เพราะคิดว่าข้อสอบง่ายๆ และเข้าใจว่าตนเองตอบถูก อย่างในการสอบ ภาคก.ของผู้บริหารสถานศึกษา ปี2550 ที่ผ่านมา ผู้เข้าสอบ 14,000 คน สอบผ่านแค่ 3,300 กว่า คนเท่านั้นเอง จนกระทั่งทุกวันนี้ผู้ที่สอบตกก็ยังไม่เชื่อว่า ตนเองสอบตก ยังงงอยู่ก็มาก เพราะความที่ตนเองมี EGO มากเกินไป บางคนก็เถียงข้อสอบ ว่าเขาออกข้อสอบผิด ( ผมก็เคยเป็น)
และขอย้ำว่า อย่าให้ข้อสอบหลอกให้เราแสดงแนวคิดหรือตัวตนของตนเองออกมา เราต้องคิดให้อยู่เหนือข้อสอบ ดูโครงสร้างประโยค ดูวัตถุประสงค์ของคำถามว่า คนถามต้องการอะไร ไม่ใช่ว่าเราต้องการตอบอย่างไร ต้องตอบตามใจคนถามครับ ข้อสอบลักษณะนี้เป็นข้อสอบเชิงจิตวิทยา คนออกข้อสอบเก่งมากครับ หลอกเนียนๆ
สรุปแนวคิดการวิเคราะห์ข้อสอบต่างๆ ขึ้นอยู่กับทักษะการคิดของแต่ละบุคคลครับ แต่สามารถฝึกได้ คือ ทำข้อสอบบ่อยๆ มากๆ หลายรูปแบบ ตามที่มีขายในท้องตลาดก็ใช้ได้ครับ ไม่แตกต่างกัน บางครั้งกรรมการออกข้อสอบ ก็ไปซื้อมาใช้เหมือนกัน ทำบ่อยๆ อย่าพยายามดูเฉลย มันง่ายไป ถ้าคิดไม่ออก ก็ดูเนื้อหาดีกว่า บางครั้งเขาก็เฉลยผิด สังเกตว่า การติวสอบแต่ละครั้ง ถ้าเอาข้อสอบ มานั่งติวเลย มักจะไม่ได้ผล ทางที่ดี ควรปูพื้นความรู้เรื่องนั้นๆก่อน ให้เข้าใจ แล้วจำให้ได้ ค่อยเอาข้อสอบมาทำ จะได้ผลดีกว่า เราต้องอ่านมากๆ แล้วต้องเข้าใจด้วย ที่สำคัญ คือ เราต้องมีความตั้งใจ และมีความมุ่งมั่นครับ การสอบจึงจะประสบความสำเร็จ







ไม่มีความคิดเห็น: