วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การวิเคราะห์ข้อสอบด้านกฎหมายและระเบียบต่างๆ

หลักการเตรียมสอบวิชาการกฎหมาย กฎ และระเบียบต่างๆ ในเบื้องต้นคือ
1. ผู้เตรียมสอบต้องอ่านกฎหมายทุกตัวอักษร ในครั้งแรกที่ท่านอ่าน ท่านอาจจะไม่เข้าใจ สับสน งง และเกิดความสงสัย ต้องตีความ หรือ อธิบายความหมายของบทบัญญัติในมาตราต่างๆหลายรอบ ก็ไม่เป็นไรครับ อ่านผ่านๆก่อน หลายๆรอบ
2. ดูหลักการ เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนั้น ว่า เขาบัญญัติ ประกาศมาเพื่ออะไร มาจากกฎหมายหลักของประเทศ คือ รัฐธรรมนูญมาตราใด ข้อสอบออกข้อนี้บ่อยมาก
3. ค่อยๆจดจำตัวเลขต่างๆในกฎหมาย เช่น วันที่ประกาศ วันบังคับใช้ ฯลฯ เพราะบางครั้งคนออกข้อสอบหลายท่านก็ไม่แม่นกฎหมาย ก็จะออกข้อสอบด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด คือ นำตัวเลขมาถามกัน ดังนั้นผู้ที่เตรียมสอบต้องท่องจำไว้ให้แม่นครับ
4. ตัวเลขอีกอย่างที่ต้องท่องจำ คือ ระยะเวลา การปฏิบัติในกฎหมาย เช่น ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการต่างๆ ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ ระยะเวลาการจัดให้มีการเลือกคณะกรรมการแทนคนที่หมดวาระ หรือ ลาออก
5. คุณลักษณะของบุคคลในกฎหมาย ก็จะออกข้อสอบบ่อย เช่น ผู้ที่จะสอบบรรจุครูผู้ช่วย มีคุณสมบัติอย่างไร บางครั้ง อัตราเงินเดือนเริ่มต้นของครูผู้ช่วยก็ออกครับ
6. และที่ออกข้อสอบเกือบทุกครั้ง คือ จำนวนของคณะกรรมการต่างๆ เช่น จำนวนของ ก.ค.ศ. จำนวนของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ฯลฯ
7. ต่อมาคือ ความหมายของคำเฉพาะในมาตราต่าง เช่น ครู หมายถึงใคร วิชาชีพหมายถึงอะไร
8. ทีนี้ก็มาดูว่า กฎหมายต่างๆนั้น เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างไร เช่น ถ้าเราสอบเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา ข้อสอบมักจะถามเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของผู้อำนวยการสถานศึกษา ว่าอยู่ในกฎหมายฉบับใด มาตราใด มีอำนาจและหน้าที่อย่างไร และเราต้องทำความเข้าใจในตนเองว่า ขณะนี้เราเป็นข้าราชการครู มีกฎหมายใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรา และมี มาตราใดในกฎหมายนั้นที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง ข้อสอบมักจะวนเวียนอยู่แถวนั้นครับ เช่น ระเบียบการลาต่างๆ เวลาทำงานของราชการ ( บางคนตอบผิดก็มี เพราะตนเองมาสาย-กลับก่อนเป็นประจำ เลยไม่รู้ว่า ที่จริงแล้ว เวลาราชการเริ่มกี่โมง – กลับกี่โมง )
9. ข้อสอบที่เรามักจะตอบกันไม่ได้คือ เรื่องของวินัยและการลงโทษทางวินัย เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เคยถูกสอบสวนทางวินัย และไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย ทั้งๆที่บางเรื่อง หรือขณะนี้ท่านกระทำผิดวินัยกันอยู่ตลอดเวลา เช่น ข้อสอบภาค ก. ที่ผ่านมา ถามเรื่อง ถ้ามาตรวจเวรกลางคืนแล้วไม่พบผู้อยู่เวร จะทำอย่างไร บางท่านก็ตอบว่า เช้ามาก็รายงานผอ.เลยว่าไม่พบผู้อยู่เวร หรือบันทึกเลยว่าไม่พบผู้อยู่เวร หรือให้ผู้อยู่เวรชี้แจง แต่หลักปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วคือ ผู้ที่มาตรวจเวรแล้วไม่พบผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เวรยาม ต้องติดต่อประสานก่อนว่า ครูเวรไปไหน อยู่ที่ไหน ให้กลับมาอยู่เวร และผู้ตรวจเวรต้องรอจนกว่าครูเวรจะมา หรือถ้าครูเวรไม่มา ผู้ตรวจต้องประสานหาผู้มาอยู่เวรแทน ไม่งั้นผู้ตรวจก็ต้องอยู่เวรแทนในเบื้องต้น ไม่ได้เน้นเรื่องรายงานหรือให้ชี้แจง เพราะการอยู่เวรยาม คือการป้องกันไม่ให้ทางราชการเสียหายจากเหตุต่างๆ ดังนั้นกฎหมายที่เกี่ยวกับวินัยควรอ่านหลายๆรอบและทำความเข้าใจไว้ครับ เพราะเป็นประโยชน์ต่อการสอบ และการปฏิบัติงานครับ
10. เมื่ออ่านกฎหมายหลายๆครั้งแล้ว เราลองมาตั้งตนเองเป็นกรรมการออกข้อสอบดูครับว่า กฎหมายฉบับนี้ตรงไหนควรออกข้อสอบเพื่อคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา เท่าที่สอบมาบ่อยๆ ยังไม่เคยเห็นข้อสอบที่ถามว่า กฎหมายฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่เท่าไหร่ ถ้าใครถามอย่างนี้แสดงว่า ไม่มีกึ๋นในการออกข้อสอบ ดังนั้นก็ไม่ต้องไปจดจำเรื่องอย่างนี้ครับ การตั้งคำถามว่า ข้อสอบจะออกมาอย่างไร เราก็ควรลองออกข้อสอบเองครับ
11. ระดับของข้อสอบกฎหมายมีความยากง่ายอยู่ 3 ระดับครับ
- ระดับง่าย เช่น ถามเกี่ยวกับตัวเลขง่ายๆ ( แต่บางคนตอบไม่ได้ )
ถามว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 มีกี่หมวดกี่มาตรา
ก. 9 หมวด 78 มาตรา
ข. 9 หมวด 78 มาตรา 1 บทเฉพาะกาล
ค. 9หมวด 87 มาตรา
ง. 9 หมวด 87 มาตรา 1 บทเฉพาะกาล
ถ้าเราไม่แม่นหรืออ่านไม่จำ เราจะสับสนว่า 78 หรือ 87 มาตรา
- ระดับปานกลาง เช่น
ถามว่า เหตุที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 เพื่ออะไร
ก. ประกาศใช้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้มีกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ
ข. เพื่อเป็นกฎหมายหลักด้านการศึกษาของชาติ
ค. เพื่อปรับปรุงกฎหมายการศึกษาของชาติ
ง. เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาของชาติ
ตรงนี้ต้องไปดูหน้าสุดท้ายที่มีการกล่าวถึงเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ครับ
- ระดับยาก ต้องวิเคราะห์นาน เช่น
ถามว่า ในหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือ หลัก GG ในภาวะปัจจุบันนี้ของประเทศไทยข้อใดสำคัญที่สุด
ก. หลักคุณธรรม
ข. หลักนิติธรรม
ค. หลักความคุ้มค่า
ง. หลักความโปร่งใส
ข้อนี้ตอบยากครับ ต้องเดาใจกรรมการว่า จะเฉลยข้อไหน แต่หลักการวิเคราะห์ข้อสอบลักษณะนี้ คือให้กลับไปดู ตัวบทกฎหมายว่า ข้อไหนอยู่อันดับแรก หรือข้อที่ 1 เพราะ การประกาศใช้กฎหมาย หรือ หลักการต่างๆ ข้อที่ 1 สำคัญที่สุดครับ คำว่า ในภาระปัจจุบันของประเทศไทยอาจจะเป็น ตัวหลอกก็ได้ครับ ยังไงเราต้องอิงหลักการไว้ก่อนครับ
12. อีกประการที่ผู้เข้าสอบตีความกฎหมายเอาเอง หรือเข้าใจผิด เช่น พระราชบัญญัติครูและบุคลากรทางการศึกษา2547 มาตรา 7 ถามว่า กรรมการโดยตำแหน่งของ ก.ค.ศ. มีกี่คน
1. 7 คน
2. 6 คน
3. 5 คน
4. 4 คน
ลองวิเคราะห์ดูครับ เขาบัญญัติไว้ว่า ก.ค.ศ. ประกอบด้วย
1. รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ เป็นประธาน
2. ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รองประธาน
3. กรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน
4. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน
5. กรรมการผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษา 7 คน
ข้อนี้ต้องดูคำถามครับ
- ถ้าถามว่า กรรมการโดยตำแหน่งมีกี่คน ต้องตอบตามตัวบทกฎหมายว่า 5 คน
- แต่ถ้าถามว่า กรรมการโดยตำแหน่งรวมแล้วมีกี่คน ต้องตอบว่า 7 คน ครับ ต้องนับรวม รัฐมนตรีว่าการฯและปลัดกระทรวงด้วยครับ คือ มี 2 ลักษณะ ครับ
· ตามนิตินัย
· ตามพฤตินัย
สรุปว่าต้องอ่านคำถามให้กระจ่างครับ ใช้ดินสอขีดเส้นคำถามไว้เลย จะได้ไม่สับสนครับ
นี่ก็เป็นแนวคิดเล็กๆน้อยเท่าที่ผมได้ศึกษาและวิเคราะห์มา สรุปได้ว่า การศึกษากฎหมายต่างๆ เราต้อง
1. จำและเข้าใจ
2. ไม่ตีความผิดหรือ เข้าข้างตนเอง
3. อ่านบ่อยๆ หลายๆรอบ
4. หัดตั้งคำถาม ออกข้อสอบเองครับ เดี๋ยวก็ซึมซับเข้าสมองเองครับ

ครับนี่ก็เป็นตัวอย่าง การสรุปประเด็นของแต่ละมาตรา ในกฎหมายฉบับต่างๆที่มีในหลักสูตรการสอบภาค ข. ท่านลองไล่เรียงทีละมาตรา ทำความเข้าใจ อ่านบ่อยๆครับ เดี๋ยวก็จำได้ พอข้อสอบออกมา ก็ตอบได้ทันที บางครั้งเราดูตัวเลือกในคำตอบ เราก็รู้แล้วว่า ข้อไหนถูก เพราะความแม่นในกฎหมาย ที่เกิดจากเราอ่านแล้ววิเคราะห์ครับ ....โชคดีครับทุกท่าน

ไม่มีความคิดเห็น: