วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ความรู้เรื่องการขอพระราชทานเพลิงศพ

การขอพระราชทานเพลิงศพ แบ่งเป็น
1. การขอพระราชทานเพลิงศพ (ปกติ) ผู้มีสิทธิได้รับพระราชทานน้ำหลวง เพลิงหลวง และหีบเพลิง ต้องมีตำแหน่งชั้นและยศ ดังต่อไปนี้
1.1 พระสมณศักดิ์ ตั้งแต่ชั้น "พระครูสัญญาบัตร" ขึ้นไป
1.2 พระราชวงศ์ ตั้งแต่ "หม่อมเจ้า" ขึ้นไป
1.3 ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
1.4 ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นตรีขึ้นไป
1.5 ข้าราชการฝ่ายทหาร ตำรวจ ยศชั้นตรีขึ้นไป
1.6 พนักงานเทศบาลตรีขึ้นไป
1.7 ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ "เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย" (บ.ม.) ขึ้นไป
1.8 ผู้มีเกียรติที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ "จุลจอมเกล้า" (จ.จ.) หรือ "ตราสืบตระกูล" (ต.จ.) ขึ้นไป
1.9 ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญ "รัตนาภรณ์" ราชการปัจจุบัน 1.10 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาจังหวัดสมาชิกสภาเทศบาลที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
1.11 รัฐมนตรีถึงแก่อนิจกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
1.12 ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นกรณีพิเศษ

2. การขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
ผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาในการขอพระราชทานเพลิงศพกรณีพิเศษ ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ดังนี้
2.1 ผู้ที่อยู่ในราชสกุลชั้นหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวง
2.2 พระสงฆ์ที่พระราชาคณะพิจารณาขอพระราชทานให้
2.3 พนักงานรัฐวิสาหกิจระดับสูง
2.4 ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิเหรียญกล้าหาญและเหรียญสมรภูมิ
2.5 ผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เช่น ศิลปินแห่งชาตินักกีฬาระดับชาติ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญ อดีตสมาชิกสภาจังหวัดหรืออดีตสมาชิกสภาเทศบาล
2.6 ผู้ทำคุณประโยชน์บริจาคเพื่อการกุศลคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 300,000 บาท บริจาคร่างกายหรืออวัยวะ
2.7 บิดา มารดา ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับ 6 หรือเทียบเท่าขึ้นไป
2.8 บิดา มารดา ของผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ "ตริตาภรณ์ช้างเผือก" (ต.ช.) ขึ้นไป
2.9 บิดา มารดา ของสมณศักดิ์ตั้งแต่ชั้น "พระครูสัญญาบัตร" ขึ้นไปหมายเหตุ บุคคลผู้ทำลายชีพตนเองไม่พระราชทานเพลิงและเครื่องประกอบเกียรติยศ

เอกสารประกอบการขอพระราชทานเพลิงศพ
1. สำเนาใบมรณะบัตร จำนวน 2 ฉบับ
2. สำเนาประกาศการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้ตายในราชกิจจานุเบกษา หรือสำเนาประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้ตาย จำนวน 2 ฉบับ
3. สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรข้าราชการบำนาญ หรือบัตรประชาชนของผู้ตาย จำนวน 2 ฉบับ
4. สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประชาชนของผู้ขอ จำนวน 2 ฉบับ
5. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขอจำนวน 2 ฉบับ
6. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ตาย 2 ฉบับ ทั้งนี้ ข้าราชการบำนาญหรือข้าราชการประจำที่ถึงแก่กรรมให้แสดงความจำนง พร้อมเอกสารดังกล่าวประกอบการยื่นเรื่องขอพระราชทานเพลิงศพได้ที่หน่วยงานต้นสังกัด

ระเบียบการขอรับหีบเพลิงพระราชทาน
เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ขอพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก เลขาธิการพระราชวังได้มีบัญชาว่าเพลิงที่พระราชทานไปเผาศพ ณ วัดที่อยู่ห่างจากพระบรมมหาราชวัง นอกรัศมี 50 กิโลเมตร ให้จัดเป็นหีบเพลิงพระราชทานมอบเจ้าภาพเชิญไปดำเนินการเอง โดยไม่มีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังไปปฏิบัติ ดังนั้น กองพระราชพิธีจึงได้กำหนดระเบียบการขอรับหีบเพลิงพระราชทาน ดังนี้
1. ให้เจ้าภาพศพไปติดต่อขอรับหีบเพลิงพระราชทานที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง
2. กรณีที่เจ้าภาพไม่สามารถไปรับหีบพระราชทานด้วยตนเองจะมอบให้ผู้อื่นไปรับแทนก็ได้ โดยนำต้นเรื่อง หนังสือมอบฉันทะ และสำเนาบัตรประจำตัวผู้แทน ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่
3. เจ้าภาพหรือผู้แทนควรไปรับหีบเพลิงก่อนกำหนดวันพระราชทานเพลิงอย่างน้อย 3 วัน
4. ผู้ที่มารับหีบเพลิงควรแต่งกายสุภาพ
5. ให้รับหีบเพลิงพระราชทานที่โต๊ะหมู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์

หมายเหตุ
1. การติดต่อขอพระราชทานเพลิงศพที่ได้ตามเกณฑ์ และกรณีพิเศษ ซึ่งไม่มีเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ในกรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และต่างจังหวัด เจ้าภาพไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นยกเว้น กรณีเขตปริมณฑล 50 กิโลเมตร เจ้าภาพจะต้องจัดรถรับ - ส่ง เจ้าหน้าที่เชิญเพลิง
2. เลขาธิการพระราชวังมีคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังไปปฏิบัติโดยเด็ดขาด ดังนั้น เจ้าภาพจะต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดการหีบเพลิงพระราชทานเอง
3. ห้ามเปิด หรือบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในการพระราชทานเพลิงศพ เมื่อเจ้าภาพเชิญหีบพระราชทานไปถึงมณฑลพิธี





ไม่มีความคิดเห็น: