วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ข้าราชการ คือ



คัดมาจากบทความบางตอน โดย วิรัช วิรัชนิภาวรรณ


ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมานั้น เห็นได้ชัดเจนว่า ค่านิยมของข้าราชการในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นไปในลักษณะที่รับใช้พระมหากษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดิน คือ เป็น "ข้าของ แผ่นดิน" ทั้งนี้ เพราะคำว่า "ราชการ" เป็นคำย่อ คำศัพท์เต็มเรียกว่า "ราชการของพระผู้เป็นเจ้า" พระผู้เป็นเจ้านั้น หมายถึง พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหลังจากการพิธีพระบรมราชาภิเษก ด้วยเหตุนี้ระบบราชการสมัยนั้น จึงเป็นระบบที่มีลักษณะพิเศษ จะเรียกว่า เป็นกึ่งศาสนาก็ได้ แต่ไม่ใช่ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ หรือศาสนาอื่นใด เป็นอีกศาสนาหนึ่งซึ่งมีพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าราชการที่ทำราชการของพระผู้เป็นเจ้านั้นก็เปรียบได้กับพระในศาสนา เป็นบุคคลที่มีหน้าที่พิเศษ มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนคนธรรมดาทั่วไปแต่คอยรับใช้พระผู้เป็นเจ้า เป็นข้าของพระผู้เป็นเจ้า ราชการก็เป็นราชการของพระผู้เป็นเจ้า ฐานะของข้าราชการนั้น จึงเป็นฐานะที่ค่อนข้างจะสูง เป็นฐานะที่มีความขลัง มีความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาปนอยู่ด้วย ข้าราชการสมัยก่อนนึกและเข้าใจเช่นนั้น ไม่นึกว่าตนเองเป็นคนธรรมดาสามัญ ขณะเดียวกัน ข้าราชการก็มีระเบียบ มีศีล มีวินัยที่ต้องปฏิบัติตามเช่นเดียวกับพระในศาสนาอื่น ๆ โดยศีลหรือวินัยของข้าราชการนั้นแตกต่างไปจากคนธรรมดาสามัญ มีความพิเศษเหนือกว่า มีความยับยั้งชั่งใจมากกว่าคนธรรมดา และอยู่ได้ด้วยอำนาจและบารมีของพระผู้เป็นเจ้า คือพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เกิดความผูกพันและเป็นความยึดเหนี่ยวระหว่างข้าราชการกับองค์พระประมุขของประเทศต่อเนื่องกันมาช้านาน "

ไม่มีความคิดเห็น: