วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สาระแผนพัฒนาฯ ๑๐ พ.ศ.๒๕๕๐ – ๒๕๕๔

ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ ต.ค. ๒๕๔๙ ใช้ ๑ ต.ค. ๒๕๔๙ – ๓๐ ก.ย. ๒๕๕๔
ที่มา
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๔) เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการวางแผนพัฒนาประเทศและเป็นแผนปฏิรูปความคิดและคุณค่าใหม่ของสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม และมุ่งให้ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” และใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาให้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาแบบแยกส่วนมาเป็นบูรณาการแบบองค์รวม เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามในปีแรกของแผนฯ ประเทศไทยต้องประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อคนและสังคมเป็นอย่างมาก จึงต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพมั่นคง และลดผลกระทบจากวิกฤตที่ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานและความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ (พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๔๙) ได้อัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ ควบคู่ไปกับกระบวนทรรศน์การพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจให้ลุล่วง และสร้างฐานเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ขณะเดียวกันมุ่งการพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านตัวคน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทยผลการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ สรุปได้ว่า ประสบความสำเร็จที่น่าพอใจ เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๕.๗ ต่อปี

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔)
ซึ่งประกาศใช้ในปีมหามงคลนี้ เป็นแผนที่เกิดจากการระดมพลังความคิดและการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวไทยจากทุกภาคส่วนทุกหมู่เหล่า ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มาร่วมกันดำเนินการในทุกขั้นตอนอย่างกว้างขวาง และเห็นพ้องร่วมกันอัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางปฏิบัติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มีคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เกิดความสมดุล เป็นธรรมและยั่งยืน มุ่งสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” อันจะเป็นการเสริมสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนโดยถ้วนหน้าสมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วิสัยทัศน์ประเทศไทย

มุ่งพัฒนาสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Green and Happiness Society)คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี”
เป้าหมาย
(๑) เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพคน ให้คนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาทั้งทางร่างกายจิตใจ ความรู้ ความสามารถ ทักษะการประกอบอาชีพ และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับตนเองที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน และสังคมไทย โดย
- เพิ่มจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยเป็น ๑๐ ปี
- พัฒนากำลังแรงงานระดับกลางที่มีคุณภาพเพิ่มเป็นร้อยละ ๖๐ ของกำลังแรงงานทั้งหมด
- เพิ่มสัดส่วนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเป็น ๑๐ คนต่อประชากร ๑๐,๐๐๐คน
- ปัญหาอาชญากรรมลดลงร้อยละ ๑๐
- กำหนดให้อายุคาดหมายเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้นเป็น ๘๐ ปี
- ลดอัตราเพิ่มของการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ใน ๕ อันดับแรก คือ
๑. หัวใจ
๒. ความดันโลหิตสูง
๓. เบาหวาน
๔. หลอดเลือดสมอง
๕. มะเร็ง
นำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และลดรายจ่ายด้านสุขภาพของบุคคลลงในระยะยาว
(๒) เป้าหมายการพัฒนาชุมชนและแก้ปัญหาความยากจน พัฒนาให้ทุกชุมชนมีแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแผนชุมชนไปใช้ประกอบการจัดสรรงบประมาณ ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และลดสัดส่วนผู้อยู่ใต้เส้นความยากจนลงเหลือร้อยละ ๔ ภายในปี ๒๕๕๔
(๓) เป้าหมายด้านเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความสมดุลและยั่งยืนโดยให้
- สัดส่วนภาคเศรษฐกิจในประเทศต่อภาคการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๗๕ ภายในปี ๒๕๕๔
- สัดส่วนภาคการผลิตเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๑๕ ภายในปี ๒๕๕๔
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ ๓.๐-๓.๕ ต่อปี
- สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไม่เกินร้อยละ ๕๐
- ความยืดหยุ่นการใช้พลังงานเฉลี่ยไม่เกิน ๑ : ๑ ในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐
- เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ ๘
- ลดสัดส่วนการใช้พลังงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดการใช้น้ำมันในภาคการขนส่งให้เหลือร้อยละ ๓๐ ของการใช้พลังงานทั้งหมด
- รายได้ของกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ ๒๐ แรกมีสัดส่วนไม่เกิน ๑๐ เท่าของรายได้ของกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ ๒๐ ภายในปี ๒๕๕๔
- สัดส่วนผลผลิตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๔๐ ในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐
(๔) เป้าหมายการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
รักษาความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพโดยให้มี
- พื้นที่ป่าไม้ไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๓ และต้องเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๘ ของพื้นที่ประเทศ
- รักษาพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทานไว้ไม่น้อยกว่า ๓๑,๐๐๐,๐๐๐ ไร่
- รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการดำรงคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ รักษาคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ และแหล่งน้ำธรรมชาติให้อยู่ในเกณฑ์พอใช้และดี รวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๕
- คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานโดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM๑๐) ต้องมีค่าเฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมงไม่เกิน ๑๒๐ มก./ลบ.ม.
- อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อประชากรลดลงร้อยละ ๕ จากปี ๒๕๔๖ คือไม่เกิน ๓.๕ ตัน/คน/ปี
- ควบคุมอัตราการผลิตขยะในเขตเมืองไม่ให้เกิน ๑ กก./คน/วัน และของเสียอันตรายจากชุมชนและอุตสาหกรรมได้รับการจัดการอย่างถูกต้องร้อยละ ๘๐ ของปริมาณของเสียอันตรายทั้งหมด
- มีระบบฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ระดับประเทศ ๑ ระบบ
(๕) เป้าหมายด้านธรรมาภิบาล
- มุ่งให้ธรรมาภิบาลของประเทศดีขึ้น มีคะแนนภาพลักษณ์ของความโปร่งใสอยู่ที่ ๕.๐ ภายในปี ๒๕๕๔
- ระบบราชการมีขนาดที่เหมาะสม และมีการดำเนินงานที่คุ้มค่าเพิ่มขึ้น ลดกำลังคนภาคราชการให้ได้ร้อยละ ๑๐ ภายในปี ๒๕๕๔
ธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้น ท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้และมีอิสระในการพึ่งตนเองมากขึ้นและภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง รู้สิทธิ หน้าที่ และมีส่วนร่วมมากขึ้นในการตัดสินใจและรับผิดชอบในการบริหารจัดการประเทศ รวมทั้งให้มีการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลในบริบทไทยเพิ่มขึ้นในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐

ไม่มีความคิดเห็น: