วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ศธ.คิดเกณฑ์คำนวณตัวเลขขาดครูใหม่


ระบบการศึกษาของไทยประสบปัญหาสำคัญ คือ ปัญหาการขาดแคลนครู ซึ่งหากดูข้อมูลการศึกษาของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พบว่า ศธ.ประสบปัญหาขาดครูถึง 70,000 คน โดย ศ.ดร.วิจิตร ได้นำตัวเลขดังกล่าวเสนอต่อ ครม. แต่ปรากฏว่าตัวเลขที่ สกศ. ไปศึกษามานั้นขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับข้อมูลขาดแคลนครูของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ที่คำนวณโดยใช้เกณฑ์อัตราครูต่อนักเรียน 1 ต่อ 25 ตามเกณฑ์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) กลับพบว่า ศธ. มีครูเกิน 70,000 คน กลายเป็นว่าข้อมูลของทั้ง 2 หน่วยงานสวนทางกัน ดังนั้น รมว.ศธ. จึงมอบให้ สกศ.ไปประสานกับ สพฐ. และ สอศ.คิดเกณฑ์คำนวณตัวเลขขาดแคลนครูใหม่ที่เป็นที่ยอมรับ

สกศ. ได้คิดเกณฑ์คำนวณตัวเลขการขาดครูสูตรใหม่ในการพิจารณาพร้อมยกเลิกการคำนวณหาจำนวนครูขาดแคลน โดยใช้เกณฑ์จำนวนครูต่อนักเรียน 1 ต่อ 25 โดยอาศัย 2 ปัจจัย ดังนี้
1.จำนวนนักเรียนต่อห้องซึ่งกำหนดไว้ว่า จำนวนนักเรียนระดับประถมศึกษาไม่เกินห้องละ 30 คน และระดับมัธยมศึกษาไม่เกินห้องละ 40 คน
2.พิจารณาจากภาระงานของครู ซึ่งกำหนดให้ครูทำงาน 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แยกเป็นงานสอน 18 ชั่วโมง งานเกี่ยวข้องกับการสอน งานวิชาการ และงานอื่นๆ
ทั้งนี้เมื่อนำ 2 ปัจจัยนี้ไปใช้ศึกษาสภาวะขาดแคลนครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ. จึงสรุปรายงานว่า เมื่อศึกษาการขาดครูโดยศึกษาเฉพาะในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งจะไม่คิดรวมกับโรงเรียนขนาดเล็ก พบว่าจำนวนครูที่ขาดมีประมาณ 2.4 หมื่นคน รวมถึงขาดบุคลากรสายสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สกศ.ได้นำเสนอเกณฑ์ดังกล่าวแก่ผู้บริหาร 5 องค์กรหลักของ ศธ. สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการข้า ราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และกรมบัญชีกลาง พิจารณาซึ่งทุกฝ่ายได้ให้การรับรองเกณฑ์ใหม่ และ ศธ.ได้ทำเรื่องเสนอต่อ ครม. เพื่อขอให้จัดสรรอัตรารับครูใหม่ให้ครบ 2.4 หมื่นรายภายใน 3 ปี รวมทั้งให้จัดสรรอัตราบุคลากรสายสนับสนุนให้ด้วยตามความจำเป็นและกำลังเงิน

ไม่มีความคิดเห็น: