วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2551

การปรับจุดเน้นและกลยุทธ์ สพฐ. ให้สนองนโยบายรัฐบาล

โดยคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

๑. นโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดและกลยุทธคุณธรรมนำความรู้
• ส่งเสริมกิจกรรมคุณธรรมนำความรู้ ในทุกโรงเรียน จากการรายงานของสำนักติดตามและประเมินผลการศึกษา จะเห็นว่า ทุกเขตพื้นที่ดำเนินการเรื่องนี้เป็นอย่างดี แต่ประเด็นที่ต้องดู คือทำอย่างไรให้ยั่งยืนให้คุณธรรมนำความรู้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในโรงเรียน อาจต้องพยายามหาตัวอย่างดีๆ ให้กิจกรรมและโครงการกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโดยไม่ต้องย้ำเน้น เช่นการสวดมนต์ให้มีคำแปล พิธีการทางศาสนาเฉพาะในพื้นที่ที่ทำได้เหมาะสม โครงการศีลธรรมในโรงเรียน สอนพระพุทธศาสนาอย่างเข้มข้นมากขึ้น ถ้าโรงเรียนทำดีเป็นปกติ ก็ให้ยกย่อง และเชิญชวนโรงเรียนอื่น ซึ่งน่าจะมี ๘๐% ที่ทำอยู่แล้ว เป็นนโยบายที่รัฐมนตรีอยากเห็นการสอดแทรกกิจกรรมคุณธรรมนำความรู้ในวิถีชีวิตปกติของโรงเรียน ซึ่งนำไปสู่เรื่องโรงเรียนวิถีพุทธที่เราขยายผลอย่างกว้างขวาง
• จัดระบบ Coaching โรงเรียนวิถีพุทธ ปีนี้เพิ่มการทำ coaching โดยการร่วมมือกับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งได้รับข้อมูลจากรองผู้อำนวยการหลายท่านมาว่าโครงการอบรมของโรงเรียนรุ่งอรุณกับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่นำลงไปในโรงเรียนวิถีพุทธเป็นรูปแบบที่ดี ฝากผอ.สพท.ไปเยี่ยมดูว่าดีจริงหรือไม่ และทำเรื่องนี้ให้โรงเรียนวิถีพุทธไม่ได้เป็นแต่ในนาม แต่ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต
• จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในรูปแบบที่หลากหลาย หลายเขตทำได้ดี มีกิจกรรมตัวอย่างเพิ่มเติมจากส่วนกลาง ซึ่งจะคัดเลือกเพื่อเผยแพร่ต่อไป
• ประสานงานกับมหาวิทยาลัยเพื่อนำผลงานพัฒนาคุณธรรมประกอบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ขอบคุณที่ช่วยกันผลักดันเรื่องการประสานงานกับมหาวิทยาลัยเพื่อนำผลงานพัฒนาคุณธรรมประกอบการคัดเลือกเข้ามหาลัย มีเขตพื้นที่รับนโยบายเรื่องนี้และทำอย่างเป็นมรรคผลถึง ๑๓๘ เขต ร่วมกับประสานงานกับมหาวิทยาลัย ๑๒ แห่ง ในพื้นที่ ส่งผลให้มีเด็กเข้ามหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นทุกภาค ส่วนกลางพยายามผลักดันให้มหาวิทยาลัยรับเป็นภาพรวมแต่ก็ยังทำไม่ได้ ฝากเขตที่ทำแล้วขยายผล ไม่ต้องมาก แต่ให้เห็นว่าเด็กที่ทำความดีจะได้รับอานิสงค์ และให้มองเห็นว่านอกจากเรื่อง ONET และ ANET แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยให้เด็ก เข้ามหาลัยได้ เป็นความก้าวหน้าที่ต้องขอชมเชย
• เสริมความเข้มแข็งของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นเรื่องที่ยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร และจะส่งผลถึงเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด ปีนี้ ได้จัดสรรเงินไปทุกเขต พื้นที่ ซึ่งอยากให้สงวนไว้สำหรับสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบดูแลนักเรียนโดยเฉพาะ เพราะเป็นจุดอ่อนมาก จากรายงานล่าสุดของWorld Bank เรื่องเด็กและเยาวชนว่า จำนวนเยาวชนของเราเริ่มลดลงตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ต่อเนื่องเป็นต้นมา จาก๒๒% เหลือ ๑๑% เพราะฉะนั้นเด็กรุ่นใหม่ในโรงเรียนของเรา คือเด็กที่ต้องรับภาระเลี้ยงดูคนแก่ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และจำนวนเยาวชนที่เหล่านี้น้อยลงมากจนไม่สามารถทดแทนคนแก่ที่ตายไปได้ ปัญหาเรื่องคุณภาพจึงเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่มากที่สุด รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่ามีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้นในหลายมิติเช่น เด็กประมาณ ๓๗% ไม่ได้อยู่กับผู้ปกครอง เด็กท้องในวัยรุ่นจากเดิม ๑๐% ของคนท้อง เพิ่มเป็น ๑๓%เด็กผู้ชายที่ตาย ๔๐% ตายโดยอุบัติเหตุ เด็กผู้หญิงที่ตาย ๔๐% ตายเพราะเชื้อ HIV เด็ก ๖๐% มีหมวกกันน้อก แต่เพียง ๑๘% ที่สวมเป็นประจำ แสดงว่ามีจุดเปราะบางที่เราไม่สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนได้ดีเท่าที่ควรดังนั้นเรื่องที่ต้องเน้นคือ จะต้องมีระบบอย่างไรจึงสามารถดูแลเด็กทุกคนให้เรียนจนจบ แต่ก็มีรายงานของWorld Bank ที่ชมเราในมิติอื่นเช่นกันว่า ในบรรดาประเทศที่จนด้วยกัน เรามีผลการเรียนดีที่สุด และก็มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กอยู่ในโรงเรียนมีชีวิตเสี่ยงน้อยลง ดังนั้นยิ่งเด็กอยู่ในโรงเรียนนานเท่าไร ก็จะลดความเสี่ยงมากเท่านั้นที่หยิบยกมานี้ เพื่อให้เห็นพันธกิจที่สำคัญเราว่า หน้าที่เราไม่ใช่เพียงดูแลให้เด็กเข้าเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือให้ได้คะแนนดี แต่เราเป็นมือแรกที่จะดูแลทรัพยากรที่จะนำมาซึ่งความอยู่รอดของประเทศจากนี้เป็นต้นไป ถ้าดูแลไม่ดี ประเทศจะไม่มีทางอยู่รอดได้เย เพราะเด็กเหล่านี้ต้องรองรับผู้ใหญ่จำนวนมหาศาล จึงขอฝากให้เน้นระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อที่จะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งต้องเริ่มจากระบบนี้ โดยขออย่าให้มีโรงเรียนใดในความรับผิดชอบของท่านที่เปิดสอนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ย่อหย่อนในเรื่องนี้ ภายในปีนี้ขอให้ท่านตามด้วยตัวเอง ตรวจสอบระบบในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย และเริ่มในโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งต้องปรับรูปแบบ และลองทำดู ถ้าทำครบได้ก็จะดี แต่ถ้าทำไม่ได้ก็เริ่มจำนวนหนึ่งก่อน
• ระบบ Youth Counselor จากงานวิจัยของธนาคารโลกอีกเช่นกัน พบว่า ระบบเพื่อนเป็นระบบที่ดีที่สุด ดังนั้น ในปีที่ผ่านมา เราเริ่มระบบ Youth Counselor ( YC) เพื่อนช่วยเพื่อนดี ให้ท่านช่วยให้ความสำคัญ จะปรับปรุงอย่างไรก็ได้ ให้โรงเรียนมีระบบนี้และให้เข้มแข็ง
• ใช้เครือข่ายผู้ปกครองที่มีอยู่แล้วช่วยแก้ปัญหา

• วินัยเชิงบวก เป็นสิ่งที่อยากให้ความสำคัญ มีหลายคนยังเรียกร้องไม้เรียว อยากให้ไปดูที่บ้านกาญจนาภิเษก เขาเอาเด็กที่เกเรที่สุดมาอยู่ ไม่เชื่อเรื่องไม้เรียว แต่เอาความรักใส่ไปแทนอำนาจ และไม่มีเด็กหนีไปไหน อยากให้ไปดูว่าคนที่ไม่ใช่ครูทำกับคนที่เกเรที่สุดด้วยความรักและความภาคภูมิใจ
• ระบบส่งเสริมความประพฤตินักเรียน มีข้อมูลแจ้งมาว่า ทุกคนถูกเชิญเป็นกรรมการคุ้มครองเด็ก แต่บางคนไม่ไปประชุมเลย ขอให้เข้าไปประชุมบ้าง และบางเรื่องจำเป็นต้องเข้า มิฉะนั้น เราจะไม่รู้เลยว่าเด็กเรามีปัญหาที่ไหน ถือเป็นเรื่องน่าอายมาก และต่อไปจะเริ่มถามจากปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าเขตใดให้ความร่วมมืออย่างดี
• การจัดให้มีนักจิตวิทยาทุกเขต ปัญหามีความรุนแรงมากขึ้น ถ้าไม่มีคนที่มีประสบการณ์มาช่วย เพราะบางครั้งการแก้ปัญหาของเราอาจไม่ถูกตามหลักวิชา
• ผลักดันการเรียนการสอนเพื่อแก้ปัญหาเยาวชน มีหลักสูตรมากมายในเขตพื้นที่ ช่วยตามไปดูที่ดี แล้วขยายผลให้มากขึ้น แต่ถ้าไม่มีรูปแบบก็สอบถามสำนักพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา หรือ อาจจะทำวิจัยด้วยตนเองก็ได้
• ติดตามดูแลเรื่องปัญหายาเสพติด ปัญหายาเสพติดเริ่มกลับมา และเต็มพื้นที่ในบางเขตพื้นที่แล้ว ขอให้ช่วยดูอย่างจริงจัง อีก ๓ เดือนจะกลับไปดู ขออย่าให้มีข้อมูลว่า มีปัญหามาก แล้ว ผอ.สพท.ไม่ทราบและไม่สนใจ เพราะเรื่องนี้บางครั้งสามารถเชื่อมโยงไปสู่สถานการณ์ความมั่นคงด้วย ครั้งหนึ่งเคยเข้มมาก แต่เมื่อให้เห็นว่าปัญหาลดลงแล้ว ก็ให้ความสนใจน้อยลง ก็กลับมาใหม่ จึงเป็นนโยบายของรัฐบาลและและกระทรวงมหาดไทย เราในฐานะนักการศึกษาช่วยดูแลให้โรงเรียนปลอดเรื่องนี้
• ส่งเสริมให้เกิด“โรงเรียนปลอดภัย” (Safe School) ยังไม่ประกาศเป็นนโยบาย แต่ต้องผลักดัน และนำเสนอ เพราะอาจมีผู้ที่สนใจ มีความปลอดภัยจากความรุนแรง ปลอดภัยจากอุบัติภัย ปลอดภัยจากการล่วงละเมิดและสิ่งต่างๆ เป็นแนวทางที่ในต่างประเทศทำกันอยู่แล้ว
๒. นโยบายสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษา 12 ปีรวมทั้งสนับสนุนผู้ยากไร้ พิการอยู่ในสภาวะยากลำบาก และกลยุทธขยายโอกาสทางการศึกษาที่ผ่านมาพยายามทำ แต่ยังไม่ถึงเป้า ขอฝากให้ความสำคัญเรื่องต่อไปนี้
๒.๑ กลยุทธขยายโอกาสทางการศึกษา ประกอบด้วย• ระบบข้อมูล ทราบว่าระบบข้อมูลดีขึ้นมาก ถ้าเขตใดไม่ครบจะเชิญหารือเป็นรายตัวรวมทั้งข้อมูล GPA ใน ๗ เขตด้วย จึงขอฝากให้สนใจระบบข้อมูลด้วย
• การเพิ่มอัตราการเรียนต่อ
• พัฒนานวัตกรรมที่จะเข้าถึงและจัดการศึกษาทางเลือก หลายเขตให้ความสำคัญ จัดได้ดีมากกว่าส่วนกลางจัดเอง ต่อไปอาจขอให้เขตพื้นที่ฯ เป็นเจ้าภาพจัด National Seminar แบบนี้
• ดูแลเด็กด้อยโอกาส เด็กพิการ
• การรับนักเรียนให้โปร่งใสเป็นธรรม แม้จะมีอำนาจในการขยายห้องเรียนอยู่ในมือแต่อย่าให้เกิน ๕๐ คน ถ้าจำเป็นก็ให้น้อยกว่าหรือเท่าปีที่แล้ว
• โรงเรียนคู่พัฒนา ทำดีมาก ฝากดูแลให้ยั่งยืน เพราะได้ลงทุนไปมาก ช่วยให้ผลการรับนักเรียนดีพอกับ process เพราะเตรียมตัวนาน เป็นทางออกที่ดี ขอให้ขยายคู่เพิ่มมากขึ้น ปีนี้ให้เขตทำกันเองไม่ต้องรอการริเริ่มจากส่วนกลาง
๒.๒ แนวทางการจัดการศึกษา 12 ปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้เขียนบทความเรื่องนี้จากประสบการณ์ที่เราทำกันมา ขอให้ไปอ่านในหนังสือพิมพ์มติชน จะมีรายละเอียดในมาตรการผลักดันในเรื่องต่อไปนี้
• ขอเงินอุดหนุนเพิ่มเต็มเพดาน จะมีการหารือกับสำนักงานงบประมาณถึงโอกาสว่าจะได้เงินเต็มเพดานมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นเพดานที่ไม่สูงมากนักได้ตัวเลขมาจากงานวิจัยของโรงเรียนขนาดกลาง ซึ่งรัฐมนตรีพยายามจะสนับสนุนให้ทันเปิดเทอมใหม่นี้ แต่เนื่องจากมีสถานศึกษาหลายสังกัด จึงอาจจะไม่ได้ทันทีทุกช่วงชั้น
• ขอบรรจุครูอัตราเกษียณคืน และจัดให้โรงเรียนที่ขาดครูซึ่งเก็บค่าใช้จ่าย ครูวิชาขาดแคลน และโรงเรียนที่ขาดครูรุนแรง(แต่ไม่ได้เก็บค่าใช้จ่าย) ขออัตราเกษียณคืน ๑๐๐% เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีเสนอเป็นอันดับแรก ถ้าได้มาจะให้บรรจุก่อนเปิดเทอมให้กับโรงเรียนขาดครูและเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อหยุดเก็บเงินที่โรงเรียนเคยมาจ้างครูเอง วิชาขาดแคลน (ภาษาฝรั่งเศส) โดยอาจจัดให้ไปที่ศูนย์การเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสเพื่อให้เปน็ พี่เลี้ยง โรงเรียนที่ขาดครูรุนแรง และไม่ได้เก็บเงิน
• ขอเพิ่มเงินค่าสาธารณูปโภคสำหรับโรงเรียน ขอสนับสนุนคอมพิวเตอร์ อาคารสถานที่
• การเพิ่มโรงเรียนแกนนำเรียนร่วม ห้องเรียนคู่ขนาน เด็กออทิสติก
• ขอให้กระทรวงมหาดไทยผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการสนับสนุนสถานศึกษา รองฯสมเกียรติฯ ได้ประสานงานกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้คำตอบว่ายินดีทำตามข้อเสนอที่เป็นไปตามกฎหมาย
เรื่องการระดมทรัพยากร เดิมตั้งใจว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา จะประกาศระดมทรัพยากร แต่เมื่อพิจารณาแล้วไม่มีเนื้อหาอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม ถือว่าประกาศฉบับท่านปองพลฯ ยังมีผลใช้บังคับ แต่ประเด็นที่ยกเลิกคือ เงินบำรุงการศึกษาที่ข้าราชการสามารถนำไปเบิกได้ ตอนนี้สำนักการคลังและสินทรัพย์กำลังศึกษาว่าจะมียอดไหนที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยสรุป ขณะนี้มีช่องทางเดียวที่จะระดมทรัพยากรคือตามประกาศในสมัยรัฐมนตรี ปองพล อดิเรกสารมาตรการที่ขอให้ สพท. ดำเนินการ คือ
• สำรวจและวางระบบข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บค่าใช้จ่ายของแต่ละโรงเรียนลดการเก็บค่าใช้จ่ายให้ได้สัดส่วนกับงบประมาณที่จะได้รับเพิ่ม
• ช่วยโรงเรียนหาความสนับสนุนจากแหล่งอื่นและบริหารให้โปร่งใส คุ้มค่า
• ทำรายชื่อโรงเรียนที่ไม่เก็บค่าใช้จ่ายตัวอย่างเช่น มีโรงใดเก็บเกิน ๕๐๐ บาท โรงใดเก็บต่ำกว่า หรือโรงใดไม่เก็บเลย ซึ่งเมื่อได้รับงบประมาณเพิ่มแล้ว ควรลดการเก็บลง มิฉะนั้นจะไม่มีวันที่จัดการศึกษาฟรีเกิดขึ้นได้ ดังนั้นข้อมูลพื้นฐานเป็นเรื่องจำเป็น รวมถึงการที่จะจัดสรรอัตราครูไปให้แทนครูที่โรงเรียนเคยจ้างเองจากการระดมสรรพกำลัง ก็ต้องลดการระดมลงด้วย และการที่ส่วนกลางรับผิดชอบค่าสาธารณูปโภค ก็ต้องลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงด้วย โดยต้องประกาศได้ว่าที่ไหนลดลงไปเท่าไร และขอให้ช่วยคิดต่อด้วยว่าจะมีมาตรการอื่นใดบ้างที่แยบยลกว่านี้
• ย้ำการดูแลเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส มีบางโรงเรียน ยังเก็บเงินเด็กด้อยโอกาส เด็กกลุ่มนี้ได้เงินปัจจัยพื้นฐานจำนวนน้อยมาก หรือเด็กที่ได้รับทุนเยียวยาในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนที่จะได้รับการยกเว้นค่าใช้จ่าย กลับถูกเรียกเก็บเหมือนเด็กทั่วไป ความจริงเด็กกลุ่มนี้ควรจะได้รับการยกเว้นเพราะเงินที่ได้รับมานั้น ใช้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวก็ไม่เพียงพอแล้ว
๓. นโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษาของคนไทยอย่างมีบูรณาการและสอดคล้องกันนโยบายพัฒนาหลักสูตร ปรับระบบการผลิตและพัฒนาครูให้มีความพร้อม และกลยุทธพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานทุกระดับ
• พัฒนาการศึกษาปฐมวัย
• อ่านคล่อง เขียนคล่อง
• ยกระดับผลสัมฤทธิ์
• พัฒนาอัจฉริยภาพ
• สุขภาพอนามัย
• การพัฒนาครูที่เป็นระบบ
• ยกระดับโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนไม่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งดำเนินการอยู่แล้ว ปีนี้จะเน้นโรงเรียน โดยจะให้ท่านเลือกโรงเรียนที่จะอยู่ในกลุ่ม ๘๐๐ โรง หวังจะเห็นผลในปีการศึกษาหน้า ให้เป็นต้นแบบทุกเรื่อง จากการประเมินภายนอกรอบสอง พบว่ามีโรงเรียนดีขึ้นกว่า ๓,๐๐๐ แห่ง ในภาพรวมดีขึ้น จากการวิเคราะห์พบว่าบางเรื่องควบคุมได้ บางเรื่องควบคุมไม่ได้ อยากให้ดูว่าโรงเรียนที่คงที่เช่นเดิม จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้หรือไม่ และกี่โรงที่ส่วนกลางต้องไปช่วย
• เครือข่ายพัฒนาคุณภาพ/ พัฒนาประสิทธิภาพ
• ยกระดับคุณภาพ ม.ปลาย
• โรงเรียนดีใกล้บ้าน คือโรงเรียนในฝัน รุ่นที่สอง ซึ่งเดินหน้าไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ยังได้รับงบประมาณไม่มากนัก จะเพิ่มการอุดหนุนให้ทัดเทียมกับรุ่นที่ ๑ และแผนบริหารราชการคงจะขยายลงไปในระดับตำบลใหญ่ ขอให้ช่วยคิดเรื่องนี้ต่อด้วย
• โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ปีนี้ได้รับจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโรงเรียนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ๔ โรง ให้มีความพร้อมด้านต่างๆ แต่ขอให้มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดรวมทั้งโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติอื่นๆ ในทุกพื้นที่โดยใกล้ชิดด้วย เราคงไม่สามารถยกระดับได้พร้อมกันทุกโรงแต่ขออย่าให้ตกอยู่สภาพที่ไม่เป็นการเฉลิมพระเกียรติ หากมีปัญหาต้องจัดการโดยเร่งด่วน หากเห็นว่าโรงเรียนใดมีความพร้อมที่จะสนับสนุนให้เร่งรัดพัฒนา ก็ช่วยเสนอด้วยมาตรการที่ขอให้ สพท. ดูแลเป็นพิเศษ คือ
• การนำคะแนน NT ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพ เห็นความแตกต่างของเขตพื้นที่ต่างๆ ในการนำคะแนน NT ไปใช้ มีหลายเขตพื้นที่ฯ ทำได้ดีมาก เช่นเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี นำคะแนน NT ไปวิเคราะห์แล้วจัดโรงเรียนเป็นกลุ่ม ทำให้สามารถติดตามดูแล เพราะการลงทุนมากมายเรื่อง NTนั้น เพื่อให้แต่ละเขตพื้นที่ฯ นำผล NT ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่เป็นรูปธรรมมากที่สุด ไปใช้ในการพัฒนา
ปรับปรุง
• การยกระดับโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนไม่ผ่านมาตรฐาน
• การกำหนดสมรรถนะครูและการศึกษาที่เป็นระบบ รัฐบาลนี้มีแนวโน้มที่จะพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ จะเริ่มที่ภาษาอังกฤษ เช่น ครูที่จะสอนภาษาอังกฤษในระดับ ม.ปลายจะต้องผ่านเกณฑ์อะไรบ้างซึ่งน่าจะทำได้ทุกกลุ่มสาระในโอกาสต่อไป และยังเป็นนโยบายจะไม่ให้มีการอบรมในช่วงวันทำการโดยเฉพาะการอบรมครู และให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถไม่อนุญาตให้ครูไปเข้ารับการอบรมใดๆ ในช่วงปฏิบัติงานด้วย
• การสร้างความเข้าใจเรื่องหลักสูตร เสริมความเข้มแข็ง และสนับสนุนโรงเรียน ในการบริหารหลักสูตร และปฏิรูปการเรียนรู้ การประชุมครั้ง ให้เวลาเรื่องนี้มาก เป็นการส่งสัญญาณให้ท่านทราบว่าปีการศึกษาหน้าจะให้น้ำหนักเรื่องหลักสูตรมาก ขอให้ทุกคนไปเป็นผู้นำในการผลักดันเรื่องนี้ด้วยตนเอง โดยต้องทำความเข้าใจและขยายผลให้บุคลากรทุกคนทราบเกี่ยวกับหลักสูตรด้วย และผอ.สพท. ช่วยไปดูที่โรงเรียนขนาดต่างๆ ด้วยว่ามีการบริหารหลักสูตรอย่างไร
• สร้างเครือข่ายคุณภาพระหว่างมหาวิทยาลัย โรงเรียน และ สพท. โรงเรียนที่ดีๆ ต้องมีมหาวิทยาลัยเป็นเครือข่ายและเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนา เบื้องต้นขอให้สำรวจว่ามีมหาวิทยาลัยมาทำงานในเขตพื้นที่ฯ หรือยัง ถ้ายังไม่มี ก็ให้พยายามแสวงหา
• การดูแลเด็ก LD เด็กเรียนอ่อน เด็กมีความสามารถพิเศษ
๔. นโยบายการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนและการเรียนรู้อย่างจริงจัง จัดให้มีการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต และจัดหาอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างทั่วถึง
ใน ๒ ปีข้างหน้า คงจะเป็นปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างแน่นอน ขอให้ใส่ใจเป็นพิเศษ ได้นำ One Laptop Per Child (OLPC) มาเรียบร้อยแล้ว ขอให้ไปดูว่าทำอะไรได้บ้าง รวมทั้งที่รัฐมนตรีประกาศ เรื่อง Interactive White Board ซึ่งบางโรงเรียนมีอยู่แล้ว แต่อยากให้ ผอ.สพท.รู้ทุกเรื่อง เพื่อจะได้เข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลง และขอให้ช่วยดำเนินการต่อไปนี้
• การสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมของโรงเรียน และความพร้อมของครู และการใช้ประโยชน์ จากงานวิจัยของ PISA ว่า ต่อให้จัดสิ่งต่างๆไปให้มากมายเพียงใด แต่ครูยังสอนเหมือนเดิม ก็ไม่ได้ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์เลย และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาเคยสำรวจพบว่า มีโรงเรียน ๔๓% เท่านั้นที่ครูมีความพร้อมเกิน ๘๐% อย่างไรก็ตามได้นำแบบสำรวจนี้มาให้ท่านนำไปสำรวจด้วยตัวเอง
• หาผู้มาสนับสนุนเพิ่มเติม ดูแลการจัดซื้อ ให้โปร่งใส คุ้มค่า และเกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด บางแห่งได้อุปกรณ์แล้ว ไม่ค่อยใช้ประโยชน์ รวมทั้งเรื่องการจัดซื้อหนังสือขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีปัญหาเกิดขึ้น ให้ช่วยกันดูแลเรื่องนี้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นเงินของรัฐบาล เมื่อเห็นอะไรเป็นข้อจำกัดก็ขอให้บอกเขาด้วย

• พัฒนาครู และผู้บริหาร ให้เข้าใจถึงแนวทาง การใช้ ICT เพื่อการศึกษา และนำไปใช้ประโยชน์ ตลาดนัดวิชาที่จะเปิดเร็วๆ นี้น่าจะช่วยให้เราเห็นเทคนิคใหม่ๆ เกี่ยวกับการนำ ICT ไปใช้
• วางระบบซ่อมบำรุง ให้ครอบคลุมพื้นที่ ระบบเดิมอาศัยอาชีวศึกษา แต่โรงเรียนในฝันสามารถทำโดยไม่ต้องใช้เทคนิคสูงนัก
• ติดตามการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การใช้ระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เราจ่ายเงินสำหรับระบบอินเทอร์เน็ต ปีละ ประมาณ ๑, ๒๐๐ ล้านบาท รวมทั้งระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งลงทุนไปมาก ช่วยดูอย่าปล่อยทิ้งเสียหาย โดยไม่ซ่อมแซม ดังนั้น ต้องมีการติดตาม ๒ประเด็น ทุกโรงที่ได้รับ คือ ใช้ได้จริงหรือไม่ ถ้าใช้ไม่ได้ ขอให้แจ้ง สพฐ. และใช้ได้ แต่ไม่มีใครใช้ ขอให้ดูแลถ้าใช้การไม่ได้ ขอให้รายงาน การไม่รายงาน จะถือว่าทุกเครื่องใช้ได้
๕. นโยบายสร้างความปรองดอง ความสมานฉันท์ และฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลยุทธกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วม
• โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง รัฐมนตรีไปเยี่ยมที่เชียงใหม่แล้ว และจะไปเยี่ยมที่อุดรวันเสาร์นี้ ไปดูแล้วพบว่า รุ่นแรกสุดยอด รุ่นที่สองขนาดกลาง ซึ่งถ้าดูแลดีจะพลิกโฉมมหาศาล มีช่องทางที่จะพัฒนาได้อีกมาก และถ้าไปจับคู่โรงเรียนคู่พัฒนา จะดีมาก เหมือนกระแสการตื่นตัวของยักษ์เล็ก เป็นกลุ่มที่กระตือรือล้น ต่างจากกลุ่มแรก ที่รู้ไปหมดแล้วทุกเรื่อง หาคนมาต่อยอดได้ยากเพราะเขาไปไกลแล้ว ฝากดูแลสนับสนุนกลุ่มขนาดกลาง โดยเอากลุ่มแรกมาช่วย
• เครือข่ายเสริมประสิทธิภาพมัธยมศึกษาตอนปลาย เห็นตัวอย่างดีในเขตพื้นที่การศึกษา สุรินทร์ เขต ๑ จัดเสนอผลงานวิชาการเฉพาะกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา นำเสนอผลงานกว่า ๙๐ เรื่องซึ่งทำให้เขาเกิดความตื่นตัว และมีโอกาสได้พูดคุยกัน หลายเขตเกรงใจที่จะจัดแยกกลุ่มมัธยมศึกษาโดยเฉพาะต้องรอจัดรวมกันกับกลุ่มประถมศึกษา ขอให้เปิดโอกาสให้เขาแยกจัด เพื่อจะได้ให้มีโอกาสพูดคุยกัน ลดแรงกดดันต่างๆ ให้น้อยลงได้ และการจัดรวมกันกับกลุ่มประถมฯ ในที่สุดกลุ่มมัธยมฯ ก็ต้องไปเป็นพี่เลี้ยง ดังนั้นขอให้ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย เพราะงบประมาณก็ได้จัดสรรไปให้แล้ว ให้เขาได้ต่อยอไปสู่ความเป็นเลิศ แต่ถ้าจะจัดรวมกันอีกครั้งก็ได้
• บทบาทตาม พ.ร.บ.ใหม่
• ความสัมพันธ์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้จะมีเรื่องการซื้อหนังสือเกิดขึ้น แต่เราก็วางตัวเป็นกลางดี แต่ในอนาคตให้ช่วยกันดูแลและเตือนเมื่อพบว่าจะมีปัญหา
• องค์คณะบุคคลที่จะเลือกตั้งใหม่ หลายเขตยังไม่ให้ความสำคัญนัก ฝากดูแลด้วย และอีกไม่นาน จะมีการเลือกใหม่ ขอให้วางตัวเป็นกลาง เพื่อให้ได้คนดีเข้ามาช่วยบริหารงาน
• ส่งเสริมองค์กรนักเรียนรูปแบบ ต่างๆ : โครงการรากแก้ว ประชาธิปไตย
๖. การเสริมความเข้มแข็งให้ สพท. ในการดูแลสนับสนุนสถานศึกษา
• การบริหารงบประมาณ ฝาก ๒ ประเด็น คือ
๑) การทำให้เกิดความสมดุลระหว่างโครงการที่สั่งไปจากส่วนกลางกับการริเริ่มของพื้นที่ ปีนี้พยายามจะผ่อน แต่ยังไม่ลงตัวนัก ต้องคุยกันและหาความพอดี ที่สำคัญคือ ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายแต่บางเขตก็เอาเงินไปทำอย่างอื่นดีมากแต่ไม่ตรงเป้าหมาย
๒) ระบบบริหารงบประมาณยังไม่เป็นปัจจุบัน มี กว่า๒๐ เขตที่ควรคุยกับสำนักการคลังและสินทรัพย์ และจัดการให้เป็นปัจจุบัน
๓) การเร่งรัดการเบิกจ่าย
• การบริหารวิชาการ อยากให้มีกลไกเรื่องเครือข่ายคุณภาพ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาวิทยาลัย และมีทีมศึกษานิเทศน์ หรือทีมประกันคุณภาพภายใน และการทำ Knowledge Management
• การบริหารบุคคล มีประเด็นที่จะพูดเรื่องนี้มากมายในการประชุมครั้งนี้ เช่น การลงกรอบอัตรากำลัง เรื่องขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด การเกลี่ยครูซึ่งถ้าได้อัตราครูคืนมารวมกับอัตราครูเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด เป็นโอกาสที่ต้องเกลี่ยครูให้ได้ เพราะยังมีบางแห่งที่เกินมาก ต้องมีาตรการเฉียบขาด แต่กำลังเสนอ กคศ.เพื่อให้ท่านมีหลักเกณฑ์ในการเกลี่ยครู
• การบริหารทั่วไป ฝากเรื่องระบบข้อมูล ผอ.สพท. ต้องเรียกดูข้อมูลบ้าง เพื่อให้เป็นปัจจุบัน และฝากเรื่องความสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่น การให้ความร่วมมือในการประชุมร่วมกับจังหวัดด้วยและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งเริ่มเห็นหลายเขตประชาสัมพันธ์ ถือว่าเป็นการกระเพื่อมในกิจกรรมทั่วทั้งแผ่นดินเรามีการประกวด port folio ของนักประชาสัมพันธ์ด้วย หากมีผลงานปรากฏในสื่อสาธารณชน ประกวดไปสิงคโปร์ ช่วง ๒ เดือนหลัง ได้เห็นการประชาสัมพันธ์มากขึ้น ซึ่งถือเป็นหน้าที่หนึ่งที่ต้องทำ
๗. กลยุทธพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
• สานต่องานเดิม
• เน้นการให้ทุน แก่นักเรียนเรียนดี
• เน้นความปลอดภัยของครู
• สนับสนุนโครงการครอบครัวอุปถัมภ์ การจับคู่ระหว่างพื้นที่
• ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อื่นๆ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

^________^