วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ระเบียบ ก.คลังว่าด้วยเงินทำขวัญข้าราชการและลูกจ้าง พ.ศ.2546

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทำขวัญข้าราชการและลูกจ้างให้เหมาะสมยิ่งขึ้น กระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทำขวัญข้าราชการและลูกจ้าง พ.ศ.2546“
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิก
(1) ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทำขวัญข้าราชการและลูกจ้าง พ.ศ.2516
(2) ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทำขวัญข้าราชการและลูกจ้าง (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2523
ข้อ 4 ในระเบียบนี้
“ข้าราชการ” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน ในส่วนราชการของราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
“ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับค่าจ้างจากเงินงบประมาณในส่วนราชการของราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
“เงินเดือน” หมายความว่า เงินเดือนตามอัตราที่ได้รับจริง และให้หมายความรวมถึงเงินเพิ่มค่าวิชา (พ.ค.ว.) เงินเพิ่มการเลื่อนฐานะ (พ.ล.ฐ.) และเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) ด้วย
“ค่าจ้าง” หมายความว่า ค่าจ้างอัตราปกติรายเดือน รายวัน และรายชั่วโมง ตามอัตราที่กำหนดจ่ายให้ลูกจ้างสำหรับการทำงานปกติ และให้หมายความรวมถึงเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ(พ.ส.ร.) ด้วย
ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างเป็นรายวันประเภทที่ทำงานในวันเสาร์ด้วย ให้คิดค่าจ้างยี่สิบหกวันเป็นค่าจ้างหนึ่งเดือน ส่วนประเภทที่ไม่ทำงานในวันเสาร์ให้คิดค่าจ้างยี่สิบสองวันเป็นค่าจ้างหนึ่งเดือน
สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง ให้คิดค่าจ้างเจ็ดชั่วโมงเป็นค่าจ้างหนึ่งวันเว้นแต่ลูกจ้างที่ได้กำหนดเวลาทำงานสำหรับหนึ่งวันเป็นอย่างอื่น ก็ให้คิดค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ได้กำหนดนั้นเป็นค่าจ้างหนึ่งวันแล้วคิดเป็นหนึ่งเดือนตามวรรคสอง


ข้อ 5 เพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินทำขวัญตามข้อ 6 ลูกจ้างผู้ใดได้รับค่าจ้างรายเดือนหรือเทียบเป็นรายเดือนแล้วต่ำกว่าสี่พันหนึ่งร้อยบาท ให้ใช้อัตราค่าจ้างเดือนละสี่พันหนึ่งร้อยบาทเป็นเกณฑ์คำนวณ

ข้อ 6 ภายใต้บังคับข้อ 8 และข้อ 9 ข้าราชการหรือลูกจ้างผู้ใดได้รับอันตรายหรือป่วยเจ็บจนพิการถึงสูญเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไปเพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่ หรือถูกประทุษร้ายเพราะเหตุกระทำการตามหน้าที่ แต่ยังสามารถรับราชการต่อไปได้ ให้ได้รับเงินทำขวัญเป็นเงินก้อนในอัตราดังนี้
(1) แขนขาดหนึ่งข้าง ให้ได้รับยี่สิบสี่เท่าครึ่งของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(2) ขาขาดหนึ่งข้าง ให้ได้รับยี่สิบสองเท่าครึ่งของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(3) มือขาดหนึ่งข้าง ให้ได้รับสิบแปดเท่าครึ่งของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(4) เท้าขาดหนึ่งข้าง ให้ได้รับสิบห้าเท่าของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(5) สูญเสียลูกตาหนึ่งข้าง ให้ได้รับสิบเอ็ดเท่าครึ่งของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(6) สูญเสียสมรรถภาพในการมองเห็น
ร้อยละเก้าสิบขึ้นไปหรือสูญเสีย
ความสามารถในการมองเห็น
ตั้งแต่สามต่อหกสิบหรือมากกว่า
ของตาหนึ่งข้าง หรือสูญเสียความ
สามารถในการใช้สายตาสองข้างร่วมกัน (Binocular Vision)

ให้ได้รับสิบเอ็ดเท่าครึ่งของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(7) หูหนวกทั้งสองข้าง ให้ได้รับเก้าเท่าของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(8) หูหนวกหนึ่งข้าง ให้ได้รับสี่เท่าครึ่งของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(9) นิ้วหัวแม่มือขาดหนึ่งนิ้ว ให้ได้รับสี่เท่าครึ่งของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(10) นิ้วชี้ขาดหนึ่งนิ้ว ให้ได้รับสามเท่าครึ่งของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(11) นิ้วกลางขาดหนึ่งนิ้ว ให้ได้รับสามเท่าของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(12) นิ้วนางขาดหนึ่งนิ้ว ให้ได้รับสองเท่าครึ่งของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(13) นิ้วก้อยขาดหนึ่งนิ้ว ให้ได้รับหนึ่งเท่าของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(14) นิ้วหัวแม่เท้าขาดหนึ่งนิ้ว ให้ได้รับสามเท่าของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(15) นิ้วเท้าอื่นขาดหนึ่งนิ้ว ให้ได้รับหนึ่งเท่าของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(16) สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์หรือความสามารถในการสืบพันธุ์
ให้ได้รับยี่สิบห้าเท่าของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(17) สูญเสียอวัยวะอื่นใด นอกเหนือจากที่กล่าวไว้ใน (1) ถึง (16) ให้ได้รับเงินทำขวัญเป็นจำนวนตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด
ผู้ใดสูญเสียอวัยวะในหลายส่วนของร่างกายตามที่ระบุไว้ใน(1)ถึง(17)ให้คำนวณเงินทำขวัญทุกส่วน แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินสามสิบเท่าของอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง
ข้อ 7 เพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินทำขวัญตามระเบียบนี้
(1) แขนขาด หมายความว่า ขาดตั้งแต่ข้อศอกขึ้นมา
(2) ขาขาด หมายความว่า ขาดตั้งแต่หัวเข่าขึ้นมา
(3) มือขาด หมายความว่า ขาดที่ใดที่หนึ่งตั้งแต่ข้อมือถึงข้อศอก
(4) เท้าขาด หมายความว่า ขาดที่ใดที่หนึ่งตั้งแต่ข้อเท้าถึงหัวเข่า
(5) นิ้วขาด หมายความว่า ขาดอย่างน้อยหนึ่งข้อ
(6) สูญเสียสมรรถภาพในการมองเห็นร้อยละเก้าสิบขึ้นไป หรือเสียความสามารถในการมองเห็นตั้งแต่สามต่อหกสิบหรือมากกว่า หมายความว่า ไม่สามารถมองเห็นอักษรบนแผ่นป้ายวัดสายตามาตรฐานได้ในระยะห่างจากป้ายสามเมตร ในขณะที่คนตาปกติสามารถมองเห็นได้ในระยะห่างจากป้ายหกสิบเมตร
(7) สูญเสียความสามารถในการใช้สายตาสองข้างร่วมกัน (Binocular Vision) หมายความว่าเมื่อใช้ตาข้างที่ไม่ปกติร่วมกับตาอีกข้างหนึ่ง ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างคนตาปกติและถือว่าเป็นการสูญเสียสมรรถภาพในการมองเห็นของตาข้างที่ไม่ปกตินั้น
(8) การที่อวัยวะส่วนใดสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานโดยสิ้นเชิงซึ่งไม่สามารถจะรักษาให้หายเป็นปกติได้ ให้ถือว่าอวัยวะส่วนนั้นขาดหรือสูญเสียด้วย

ข้อ 8 ผู้ได้รับอันตรายหรือป่วยเจ็บ ไม่มีสิทธิได้รับเงินทำขวัญตามระเบียบนี้ ถ้า
(1) อันตรายหรือความป่วยเจ็บเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือจากความผิดของตนเอง
(2) ได้รับเงินทำขวัญ หรือเงินอื่นในลักษณะเดียวกันจากทางราชการ หรือจากหน่วยงานอื่นที่ทางราชกาสั่งให้ไปปฏิบัติงาน
(3) มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษเมื่อออกจากราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์ข้าราชการผู้ได้รับอันตรายหรือการป่วยเจ็บเพราะเหตุปฏิบัติราชการ
ข้อ 9 เงินทำขวัญตามระเบียบนี้ จะจ่ายได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากกรมบัญชีกลาง
หลักเกณฑ์และวิธีการขอรับเงินทำขวัญและการพิจารณาเงินทำขวัญ ให้ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการตามข้อ 10 กำหนด
ข้อ 10 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้แทนสำนักงาน ก.พ. ผู้แทนสำนักงบประมาณ และผู้แทนกรมบัญชีกลาง ทำหน้าที่กับดูแล วินิจฉัยปัญหา และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้
ข้อ 11 ข้าราชการหรือลูกจ้างผู้ใดประสบเหตุซึ่งมีสิทธิได้รับเงินทำขวัญตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทำขวัญข้าราชการและลูกจ้าง พ.ศ.2516 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ และยังมิได้รับอนุมัติเงินทำขวัญจากกระทรวงการคลังให้มีสิทธิได้รับการพิจารณากำหนดจำนวนเงินทำขวัญและอนุมัติเงินทำขวัญโดยกรมบัญชีกลางตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้
ข้อ 12 ให้ปลัดกระทรวงการคลังรักษาการตามระเบียบนี้

ประกาศ ณ วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2547

(ลงชื่อ) ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์
(สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ )
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูล