วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2552

การดำเนินการทางวินัย (ตอนที่ ๒)

การดำเนินการทางวินัย

การดำเนินการทางวินัย หมายถึง กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินการในการออกคำสั่ง
ลงโทษ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีลำดับก่อนหลังต่อเนื่องกัน อันได้แก่ การตั้งเรื่องกล่าวหา การสืบสวนสอบสวน
การพิจารณาความผิดและกำหนดโทษและการสั่งลงโทษ รวมทั้งการดำเนินการต่าง ๆ ในระหว่าง
การสอบสวนพิจารณา เช่น การสั่งพัก การสั่งให้ออกไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณา เป็นต้น
ทั้งนี้ การสืบสวนเพื่อพิจารณาว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่
ตามมาตรา 95 ยังไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการทางวินัย การสืบสวนที่ถือว่าเป็นการดำเนินการทางวินัย ได้แก่ การสืบสวนกรณีที่เป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องสืบสวนก่อน

หลักการดำเนินการทางวินัยเบื้องต้น
1. ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาพบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาผู้ใดกระทำผิดวินัย โดยมีพยานหลักฐาน
ในเบื้องต้นอยู่แล้ว ผู้บังคับบัญชาก็สามารถดำเนินการทางวินัยได้ทันที เช่น ผู้บังคับบัญชาพบเห็น
การกระทำผิด ก็อาจสั่งให้ผู้นั้นชี้แจงหรือรายงานข้อเท็จจริง และอาจสืบสวนพยานผู้รู้เห็นประกอบ
การพิจารณาด้วย เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูลกรณีเกิดขึ้นจริง ก็สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวน
เพื่อให้ได้ความจริงและความยุติธรรมต่อไป
2. กรณีที่มีการร้องเรียนด้วยวาจา ให้จดปากคำและให้ผู้ร้องเรียนลงลายมือชื่อและ
วัน เดือน ปี พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานอื่น ๆ ประกอบการพิจารณา แล้วดำเนินการให้มีการสืบสวนข้อเท็จจริงโดยตั้งกรรมการสืบสวน หรือสั่งให้บุคคลใดไปสืบสวน หรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบถามก็ได้
หากเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหา ก็ให้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อไป
3. สำหรับกรณีที่มีการร้องเรียนเป็นหนังสือ ผู้บังคับบัญชาต้องสืบสวนในเบื้องต้นก่อน
หากเห็นว่าไม่มีมูลก็สั่งยุติเรื่อง ถ้าเห็นว่ามีมูลก็สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อไป ในกรณีที่หนังสือร้องเรียนไม่ลงลายมือชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องเรียน หรือเป็นการร้องเรียนที่ไม่ปรากฏตัวตนของผู้ร้องเรียน
หรือไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่แน่นอนจะเข้าลักษณะของบัตรสนเท่ห์ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีห้ามมิให้รับฟัง
เพราะจะทำให้ข้าราชการเสียขวัญในการปฏิบัติหน้าที่
การสืบสวนตามข้อ 1 – ข้อ 3 นี้ ยังไม่ถือเป็นการดำเนินการทางวินัย หากสืบสวนแล้วเห็นว่า
ไม่มีมูลและยุติเรื่องก็ไม่ต้องรายงานการดำเนินการตามระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการรายงานการดำเนินการ
ทางวินัยและการออกจากราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2548 แต่อาจต้องรายงาน
ผู้บังคับบัญชาตามสายงานการบังคับบัญชา หากเป็นกรณีมีมูลและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว
จึงเป็นการดำเนินการทางวินัยที่จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป


ขั้นตอนการดำเนินการทางวินัย
1. การตั้งเรื่องกล่าวหา
การตั้งเรื่องกล่าวหา เป็นการตั้งเรื่องดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการ เมื่อปรากฏกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย มาตรา 98 กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
เพื่อดำเนินการสอบสวนให้ได้ความจริงและความยุติธรรมโดยไม่ชักช้า ผู้ตั้งเรื่องกล่าวหาคือผู้บังคับบัญชา
ของผู้ถูกกล่าวหา กรณีที่เป็นการกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจบรรจุ
และแต่งตั้งตามมาตรา 53 เป็นผู้มีอำนาจสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน สำหรับกรณีที่เป็นการกล่าวหาว่า
กระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นคือ ผู้อำนวยการสถานศึกษา สามารถแต่งตั้งกรรมการสอบสวนข้าราชการในโรงเรียนได้ทุกคน แม้ว่าจะไม่มีอำนาจบรรจุและแต่งตั้งก็ตาม เว้นแต่กรณีที่เป็นการช่วยปฏิบัติราชการจะมีเพียงอำนาจการบังคับบัญชา แต่ไม่มีอำนาจดำเนินการทางวินัยหรือสั่งลงโทษ กรณีเช่นนี้
จะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการ คำสั่งให้ระบุชื่อผู้ถูกกล่าวหา เรื่องที่กล่าวหา
และรายชื่อของคณะกรรมการสอบสวน โดยไม่ต้องระบุมาตราหรือกรณีความผิด
เรื่องที่กล่าวหา หมายถึง การกระทำหรือพฤติการณ์แห่งการกระทำที่กล่าวอ้างว่า
ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย
การตั้งเรื่องกล่าวหานี้เป็นขั้นตอนที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นกรณีความผิดวินัยร้ายแรงหรือ
ไม่ร้ายแรงก็ตาม จะต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยในเรื่องใด เพื่อให้
ผู้ถูกกล่าวหารู้ตัวและมีโอกาสชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาได้
“เรื่องที่กล่าวหา” นั้น ไม่ใช่กรณีกระทำผิด แต่เป็นเรื่องราวหรือการกระทำที่กล่าวอ้างว่า
ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิด ดังนั้น ในการตั้งเรื่องกล่าวหาในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจึงควรระบุ
แต่เพียงเรื่องราวหรือการกระทำที่กล่าวอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดเท่านั้น ไม่ควรระบุมาตราว่าด้วยวินัย
หรือกรณีความผิด การระบุมาตราว่าด้วยวินัยหรือกรณีความผิดนั้น ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการสอบสวนและผู้มีอำนาจพิจารณาโทษที่จะพิจารณาปรับบทความผิด หากหลังจากได้สอบสวนพิจารณาข้อเท็จจริง ถ้าผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปกำหนดบทมาตราว่าด้วยวินัย หรือกรณีความผิดไว้ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเสียแต่แรกแล้ว อาจกลายเป็นการจำกัดขอบเขตของการสอบสวนให้อยู่เฉพาะในบทมาตราว่าด้วยวินัยหรือกรณีความผิดที่กำหนดไว้ ถ้าพบการกระทำผิด
ที่เกินกว่านั้นจะเกิดปัญหาว่าเป็นการสอบสวนเรื่องอื่น หรือพิจารณาลงโทษในเรื่องอื่น ฉะนั้น คำสั่ง
ตั้งกรรมการสอบสวนจึงควรระบุแต่เพียงเรื่องราวหรือการกระทำที่กล่าวอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิด โดยไม่ระบุบทมาตราว่าด้วยวินัยหรือกรณีความผิด เมื่อสอบสวนแล้วคณะกรรมการสอบสวนและผู้มีอำนาจพิจารณาโทษจึงจะพิจารณาจากพยานหลักฐานว่าเรื่องที่กล่าวหานั้น ฟังข้อเท็จจริงได้ว่า
ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดในเรื่องนั้นอย่างไร แล้วปรับบทเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามมาตราใด

2. การแจ้งข้อกล่าวหา
การแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องกระทำ ดังที่มาตรา 98 บัญญัติว่า “...ในการสอบสวนจะต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหา
มีโอกาสชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา”
การแจ้งข้อกล่าวหาเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนที่จะต้องแจ้งและอธิบาย
ข้อกล่าวหาที่ปรากฏตามเรื่องที่กล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการใด เมื่อใด
อย่างไร รวมทั้งแจ้งให้ทราบด้วยว่าในการสอบสวนนี้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะได้รับแจ้งสรุปพยานหลักฐาน
ที่สนับสนุนข้อกล่าวหา และมีสิทธิที่จะให้ถ้อยคำหรือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตลอดจนอ้างพยานหลักฐาน
หรือนำพยานหลักฐานมาสืบแก้ข้อกล่าวหา การแจ้งดังกล่าวคือการทำบันทึกตามแบบ สว.3
โดยทำเป็น 2 ฉบับ ให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อรับทราบแล้วมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งฉบับ
อีกหนึ่งฉบับเก็บไว้ในสำนวนการสอบสวน
“ข้อกล่าวหา” ที่จะต้องแจ้งและอธิบายให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ คือ กรณีและพฤติการณ์
แห่งการกระทำที่อ้างว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดซึ่งจะต้องอยู่ในวงกรอบขอบเขตของ “เรื่องที่กล่าวหา”
โดยอธิบายเรื่องที่กล่าวหาให้ชัดเจนขึ้นพอที่ผู้ถูกกล่าวหาจะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ เช่น อธิบายว่า
ผู้ถูกกล่าวหาทำอะไรและทำอย่างไรในเรื่องที่กล่าวหา ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่จะชี้แจง
แก้ข้อกล่าวหาได้ถูกเรื่องตรงประเด็น

3. การสอบสวน
การสอบสวน คือ การรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินการทั้งหลายอื่นเพื่อจะทราบ
ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ หรือพิสูจน์เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหา เพื่อให้ได้ความจริงและความยุติธรรม
และเพื่อที่จะพิจารณาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยจริงหรือไม่ ถ้ากระทำผิดจริงก็จะได้ลงโทษ
ผู้กระทำผิดวินัยนั้น
การสอบสวนแม้ว่าจะเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง มาตรา 98 กำหนดให้
ต้องสอบสวนทุกกรณีและต้องดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

ไม่มีความคิดเห็น: