วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2552

เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา

Educational Technology and Innovation


ความหมาย
พัฒนาการการจัดการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากเดิมที่ ครู-อาจารย์เป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดให้แก่ผู้เรียนด้วยวิธีการบรรยาย การทำให้ดูและผู้เรียนต้องทำหรือปฏิบัติตาม ด้วยคัมภีร์ ตำรา หนังสือเอกสาร กระดานชอล์ก ด้วยวิธีการที่ซ้ำซากจำเจเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงมาเป็นผู้กระตุ้นให้ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นรายบุคคลหรือกลุ่ม ตลอดจนการจัดระบบการเรียนการสอน โดยอาศัยสื่อโสตทัศนวัสดุ (Audio Visual Material) เป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนทั้งทางด้าน การพัฒนาความรู้ ความคิด ทักษะและทัศนคติที่ดีต่อการเรียน
วิจิตร ศรีสอ้าน, ให้ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาว่า หมายถึงการประยุกต์เอาเทคนิค วิธีการ แนวความคิด อุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ๆมาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษา ทั้งด้านการขยายงานและด้านการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน ดังนั้น เทคโนโลยีจึงครอบคลุมขอบข่ายสำคัญๆ 3 ประการคือ

1. การนำเอาเครื่องมือและอุปกรณ์ใหม่ๆ มาใช้ประกอบในการเรียนการสอน ได้แก่ การนำเครื่องจักรกลไกและเทคโนโลยีทั้งหลายมาใช้ เช่น เครื่องฉายภาพต่างๆ เครื่องเสียงต่างๆ คอมพิวเตอร์
2. การผลิตวัสดุการสอน เช่นภาพถ่าย แผนที่แผนภูมิ รวมถึงเอกสาร ตำรา วัสดุสิ่งพิมพ์และแบบเรียนสำเร็จรูป เป็นต้น
3. การใช้เทคนิคและวิธีการใหม่ๆ นอกจากเครื่องมืออุปกรณ์และวัสดุการสอนข้างต้นแล้ว เทคโนโลยียังมีขอบข่ายคลอบคลุมถึงการใช้เทคนิควิธีการใหม่ๆ ในการเรียนการสอนด้วย เช่น ชุดการเรียนการสอนสำเร็จรูป ศูนย์การเรียน แหล่งการสืบค้น และการจัดตารางสอนแบบยืดหยุ่น การสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

นวัตกรรม Innovation หมายถึง ความคิดและการกระทำใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าด้วยความจงใจรอบคอบ มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพคุณภาพ รวมถึงแนวความ คิดโดยผ่านการทดลองปฏิบัติก่อน กล่าวคือสิ่งใหม่ๆที่ถูกคิดค้นหรือพัฒนาขึ้น และได้นำมาใช้ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นแต่ไม่ตลอดไป ซึ่งรวมไปถึงเทคนิควิธีการต่างๆที่นำมาใช้ในขณะนั้นด้วย เช่น การนำโทรทัศน์มาใช้ในการเรียนการสอน ในยุคแรกๆก็นับว่าเป็นนวัตกรรม แต่เมื่อระเวลาผ่านไปโทรทัศน์กลับเป็นเพียงเทคโนโลยี พอถึงยุคคอมพิวเตอร์ ก็นับว่าคอมพิวเตอร์เป็นนวัตกรรมหนึ่ง และเมื่อปลายศตวรรษที่ 20 นี้ Internet นับว่าเป็นนวัตกรรมได้อีกเช่นกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งนวัตกรรมดังกล่าวจะเปลี่ยนไปเป็นเทคโนโลยี และก็จะมีผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาอยู่เสมอ

ในขณะเดียวกันหมู่บ้านในชนบทแห่งหนึ่ง ซึ่งห่างไกลความเจริญมาช้านาน และมีผู้นำคอมพิวเตอร์เข้าใช้ประกอบการเรียนการสอนในโรงเรียนของชุมชนนั้น จึงนับว่าคอมพิวเตอร์เป็นนวัตกรรมได้เช่นกัน รวมทั้ง เครื่องเล่นวิดีโอเทป (วีดิทัศน์) เครื่องเล่นวีซ๊ดี (จานบันทึกแถบวีดิทัศน์) ก็นับว่าอุปกรณ์เหล่านี้เคยเป็นนวัตกรรมมาก่อนแล้วทั้งสิ้นจากที่อื่น จนกลายเป็นเทคโนโลยีที่เรารู้จักมักคุ้นกันโดยทั่ว

กล่าวโดยสรุป เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา หมายถึง การนำความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ทั้งวัสดุ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรกลไก และเทคนิควิธีการต่างๆ มาใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อมุ่งหวังให้การเรียนการสอนเกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อผู้เรียน ผู้ศึกษา ตามจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของหลักสูตรนั้นๆ

ประเภทของสื่อโสตทัศน์
Edgar Dale, 1969 ได้แบ่งประเภทของโสตทัศนวัสดุในการเรียนการสอนออกเป็นประเภทต่างๆ เรียกว่า กรวยประสบการณ์ โดยการจัดเรียงลำดับประสบการณ์ที่ได้รับจากวัสดุนั้นๆ เริ่มจากประสบการณ์ตรง และมีความมุ่งหมายซึ่งจัดเป็นรูปธรรมมากที่สุด ไปยังประสบการณ์ที่เป็นนามธรรม รวม 10 ประเภทดังนี้

วัจนสัญลักษณ์

ทัศนสัญลักษณ์

การบันทึกเสียง วิทยุและภาพนิ่ง

ภาพยนตร์ โทรทัศน์

นิทรรศการ

การศึกษานอกสถานที่

การสาธิต

ประสบการณ์นาฏการการแสดง

ประสบการณ์จำลอง

ประสบการณ์ตรง

ขั้นที่ 1 ประสบการณ์ตรง (Direct Experience) เป็นรากฐานของประสบการณ์ทั้งปวง ได้พบเจอ ได้ยิน ได้สัมผัสลงมือกระทำด้วยตนเอง
ขั้นที่ 2 ประสบการณ์จำลอง (Contrived Experience) ในการเรีนการสอนผู้สอนไม่อาจจัดประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้เรียนได้เสมอไป เนื่องจากข้อจำกัดของขนาด ความซับซ้อน ระยะทาง จึงจำเป็นต้องจำลองสิ่งเหล่านั้นให้มีลักษณะใกล้เคียงของจริงมากที่สุด เพื่อให้สะดวกต่อการนำมาศึกษา เช่นหุ่นจำลอง (Model)
ขั้นที่ 3 ประสบการณ์นาฏการการแสดง (Dramatized Experience) เป็นการจัดแสดงขึ้นแทนประสบการณ์จริงที่เป็นอดีตไปแล้วลักษณะละคร การละเล่น ประเพณีต่างๆ เป็นต้น
ขั้นที่ 4 การสาธิต (Demonstration) คือการอธิบายข้อเท็จจริง และกระบวนการที่สำคัญด้วยการแสดงให้เห็นเป็นลำดับขั้นตอน ครู-อาจารย์จะเป็นผู้สาธิต หรืออาจใช้ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ สไลด์ก็ได้
ขั้นที่ 5 การศึกษานอกสถานที่ (Field Trip) หมายถึงการพาผู้เรียนไปยังแหล่งความรู้นอกห้องเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้ได้รับประสบการณ์จริงหลายๆด้าน
ขั้นที่ 6 นิทรรศการ (Exhibition) คือการจัดแสดงสิ่งต่างๆ รวมทั้งการสาธิต การฉาย การแสดง ของตัวอย่างหรือของจำลอง ได้แก่การจัดป้ายนิเทศ บอร์ดนิทรรศการ เป็นต้น
ขั้นที่ 7 ภาพยนตร์และโทรทัศน์ (Motion picture and Television) เป็นประสบการณ์ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการเห็นและได้ยินเสียงเหตุการณ์ไปพร้อมกัน ทำให้เข้าใจสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น ใช้เป็นสื่อกลางในการสาธิตได้ดีขึ้น
ขั้นที่ 8 การบันทึกเสียง วิทยุและภาพนิ่ง (Recording Radio and Still Picture) ได้แก่การบันทึกเสียง การขยายเสียง การออกอากาศ จานบันทึกข้อมูล แผ่นภาพโปร่งแสง ภาพนิ่ง
ขั้นที่ 9 ทัศนสัญลักษณ์ (Visual Symbol) มีความเป็นนามธรรมมากขึ้น เช่น การ์ตูน แผนที่ แผนภูมิ แผนสถิติ รูปสัญลักษณ์ เป็นต้น
ขั้นที่ 10 วัจนสัญลักษณ์ (Verbal Symbol) เป็นประสบการณ์ขั้นสุดท้ายที่เป็นนามธรรมแท้ คือตัวหนังสือ ตัวอักษร การรใช้ต้องคำนึงถึงพื้นความรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ

นักเทคโนโลยีการศึกษาแบ่งประเภทของโสตทัศนวัสดุที่ใช้ในการเรียนการสอน ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆคือ
1. ประเภทวัสดุ (Material or Software) ได้แก่ วัสดุที่ทำหน้าที่เก็บความรู้ ในรูปของภาพ เสียง ตัวอักษร ผู้เรียนสารมารถศึกษาได้อย่างแท้จริงและกว้างขวาง สามารถแบ่งย่อยออกได้อีก 2 ลักษณะคือ
1.1 วัสดุที่เสนอได้ด้วยตัวมันเอง เช่น หนังสือ ตำรา วารสาร หุ่นจำลอง รูปภาพ แผนภูมิ แผนที่ แผนผัง ป้ายบอร์ดนิเทศ เป็นต้น
1.2 วัสดุทีต้องอาศัยอุปกรณ์ เครื่องมืออื่นเป็นตัวนำเสนอได้แก่ แถบวีดิทัศน์ ฟิล์มสไลด์ จานบันทึกแถบวีดิทัศน์ แถบบันทึกเสียง แผ่นโปร่งใส รายการวิทยุ เป็นต้น
2. ประเภทเครื่องมือหรือโสตทัศนูปกรณ์ (Device or Hardware) เป็นอุปกรณ์ตัวกลางของความรู้ ที่ส่งผ่านความรู้ไปสู่ผู้เรียน ได้แก่ เครื่องฉายภาพชนิดต่างๆ เช่น เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ เครื่องฉายสไลด์ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น
3. ประเภทเทคนิคหรือวิธีการ (Technique or Method) ได้แก่ ประสบการณ์ต่างๆ การสาธิต การศึกษานอกสถานที่ การนำเสนอบทเรียนด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ เช่น แบบฝึกหัด แบบทดสอบก่อนและหลังเรียน เป็นต้น

ขอขอบคุณ
วรพจน์ นวลสกุล
เจ้าของบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: