วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2552

สาระของยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก

ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก เป็น ๔ ยุทธศาสตร์ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ พัฒนาระบบวางแผนและการบริหารจัดการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ พัฒนาระบบการเรียนการสอนและการประกันคุณภาพการศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ เสริมสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งของโรงเรียน
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา

1. ซึ่งในแต่ละยุทธศาสตร์ จะประกอบด้วยวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ตัวชี้วัด แนวทาง/มาตรการ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ พัฒนาระบบวางแผนและการบริหารจัดการ
วัตถุประสงค์
โรงเรียนขนาดเล็กมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน
เป้าหมาย
โรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่งมีรูปแบบการบริหารจัดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน
ตัวชี้วัด
ร้อยละของโรงเรียนขนาดเล็กมีรูปแบบการบริหารจัดการจัดการที่ประสิทธิภาพ เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน
แนวทาง/มาตรการ
๑. พัฒนาระบบวางแผนการจัดตั้งและพัฒนาโรงเรียน ในแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยจะดำเนินการร่วมกับสถาบันประชากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การยูเนสโกและหน่วยงานภายในจังหวัด ในการพัฒนาบุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้สามารถจัดทำแผนการจัดตั้งและพัฒนาโรงเรียน โดยคาดการณ์จำนวนเด็กและเยาวชนในวัยเรียนในอนาคต วางแผน จัดตั้ง ยุบเลิก รวม ปรับเปลี่ยนและพัฒนาโรงเรียนให้สอดคล้องกับสภาพในพื้นที่ ทั้งนี้จะจัดทำแผนในตำบลและอำเภอที่นำร่องเป็นลำดับแรก และขยายผลไปสู่แผนที่ครอบคลุมทั้งพื้นที่ ในกรณีที่โรงเรียนจำเป็นต้องยุบเลิก อาจร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาเป็นศูนย์ปฐมวัย โรงเรียนที่เปิดสอนเฉพาะช่วงชั้นที่ ๑ หรือแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ
๒. พัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อให้มีข้อมูลพื้นฐานที่ครอบคลุม พอเพียง ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน บุคลากรมีความรู้และเข้าถึงการใช้สื่อ ICT ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำ Best Practice ในโรงเรียนที่ดำเนินการได้ผลแล้วมาเผยแพร่ พร้อมทั้งตั้งศูนย์ ICT ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และศูนย์เครือข่ายโรงเรียน เพื่อบริการโรงเรียนขนาดเล็ก
๓. พัฒนาระบบบริหารจัดการสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยจะพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถใช้เจ้าหน้าที่ธุรการร่วมกัน เพื่อปฏิบัติงานธุรการ งานข้อมูล งานพัสดุ จัดซื้อจัดจ้าง ร่วมกัน ตลอดจนระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารและจัดการทรัพยากรอื่น ๆ ร่วมกัน สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล ไม่สามารถรวมกลุ่มกับโรงเรียนอื่นจะพัฒนาและนำระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารและสื่อสารมาใช้
๔. สร้างแรงจูงใจแก่ผู้บริหารและครูในโรงเรียนขนาดเล็ก โดยการสร้างแรงจูงใจด้วยวิธีการต่างๆจะทำให้บุคลากรเหล่านั้นมีกำลังใจในการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น เช่น การพิจารณาความดีความชอบ การนำผลงานการพัฒนาโรงเรียนมาประกอบการแต่งตั้งโยกย้าย และการปรับปรุงตำแหน่ง ปรับระบบบริหารบุคลากร มาตรฐานอัตรากำลังให้เหมาะสม

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ พัฒนาระบบการเรียนการสอนและการประกันคุณภาพการศึกษา
วัตถุประสงค์
เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ นักเรียนมีคุณภาพ ตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เป้าหมาย
โรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่งจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ นักเรียนมีคุณภาพ ตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ตัวชี้วัด
ร้อยละของโรงเรียนขนาดเล็กจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ นักเรียน มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
แนวทาง/มาตรการ
๑. พัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก โดยปรับหลักสูตรที่เอื้อต่อการสอนคละชั้น เน้นการสอนแบบบูรณาการ การสอนคละชั้น
๒. พัฒนาผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนให้มีศักยภาพเกี่ยวกับการเรียนการสอนและการประกันคุณภาพพร้อมที่จะดำเนินงานในโรงเรียนขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๓. ผลิตและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนการสอน พัฒนาสื่อสำเร็จรูป ที่สามารถพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการนำการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และระบบคอมพิวเตอร์มาเสริมการเรียนการสอน นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาช่วยในการจัดการเรียนการสอน การหมุนเวียนครู
๔. นิเทศ ติดตาม กำกับ โรงเรียนขนาดเล็กอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
๕. วิจัยและพัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยสอนที่มีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ เสริมสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งของโรงเรียน
วัตถุประสงค์
เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กมีบุคลากร งบประมาณ วัสดุและครุภัณฑ์เพียงพอตามมาตรฐาน สำหรับจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เป้าหมาย
โรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่งมีบุคลากร งบประมาณ วัสดุและครุภัณฑ์เพียงพอตามมาตรฐานสำหรับจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ตัวชี้วัด
ร้อยละของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีบุคลากร งบประมาณ วัสดุและครุภัณฑ์เพียงพอสำหรับ จัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
แนวทาง/มาตรการ
๑. จัดทำมาตรฐานโรงเรียนขนาดเล็กด้านบุคลากร งบประมาณ วัสดุและครุภัณฑ์
๒. ปรับปรุงและพัฒนาสถานที่เรียน สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ แก่นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กอย่างเพียงพอและเหมาะสม
๓. จัดอัตรากำลังครูในโรงเรียนขนาดเล็กให้เพียงพอตามเกณฑ์ แก้ปัญหาการขาดแคลน ครูด้วยรูปแบบต่างๆ เช่น สอนแบบบูรณาการเนื้อหา บูรณาการกลุ่มอายุ(คละชั้น) ครูเวียนสอน ครูฝึกสอน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
๔. พัฒนาผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนให้สามารถปฏิบัติงานได้ในสภาวการณ์ ที่โรงเรียนมีข้อจำกัดเรื่องทรัพยากร
๕. พัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ในทุกๆด้าน เช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องเขียน แบบเรียน อาหารกลางวัน การอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่นักเรียน กรณีที่มีการยุบ รวมโรงเรียน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถมีความพร้อมในการเรียนจนจบการศึกษา
๖. สนับสนุนงบประมาณ วัสดุ ครุภัณฑ์ที่จำเป็นให้เพียงพอที่จะจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา
วัตถุประสงค์
เพื่อให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการหรือสถาบันสังคมอื่น มีส่วนร่วม ในการจัดการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก
เป้าหมาย
โรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่งได้รับความร่วมมือ ช่วยเหลือจากบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการหรือสถาบันสังคมอื่น
ตัวชี้วัด
ร้อยละของโรงเรียนขนาดเล็กได้รับความร่วมมือ ช่วยเหลือจากบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กร วิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการหรือสถาบันสังคมอื่น
แนวทาง/มาตรการ
๑. พัฒนาคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๒. สร้างและพัฒนาเครือข่ายผู้ปกครองให้เข้มแข็ง พร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือโรงเรียนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
๓. ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กและรับโอนโรงเรียนบางส่วนเพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นศูนย์เด็กปฐมวัย แหล่งเรียนรู้ของชุมชน
๔. เตรียมความพร้อมในการมีส่วนร่วม ให้แก่ บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงความจำเป็นของการมีส่วนร่วม การเข้าใจในบทบาทหน้าที่ และแนวปฏิบัติของการมีส่วนร่วม
๕. จัดให้มีระบบและกลไกในการระดมทรัพยากร ที่จะเอื้อประโยชน์แก่การจัดการศึกษาของโรงเรียน โดยโรงเรียนมีวิธีการระดมทรัพยากรที่เหมาะสม โปร่งใส มีแผนการดำเนินการที่ชัดเจนว่าจะนำทรัยพากรที่ได้ไปพัฒนา สนับสนุน ส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนในด้านใด ๆ บ้าง ผลประโยชน์ที่ผู้บริจาคจะได้รับ อาทิเช่นการลดหย่อนภาษี
๖. วิจัย และพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมที่เหมาะสม จัดหา Best Practice การมีส่วนร่วมมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้รับรู้

ยุทธศาสตร์/มาตรการ ปี ๒๕๕๑ ปี ๒๕๕๒ ปี ๒๕๕๓
๑. พัฒนาระบบวางแผนและการบริหารจัดการ

๑.๑ จัดทำ School Mapping
๑.๒ จ้างธุรการสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ๑ คนต่อ ๔ โรงเรียน
๑.๓ พัฒนาผู้บริหารโรงเรียน
๑.๔ วิจัยและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

๒. พัฒนาระบบการเรียนการสอนและการประกันคุณภาพการศึกษา
๒.๑ พัฒนาแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียน
๒.๒ พัฒนาหลักสูตรบูรณาการ
๒.๓ พัฒนาผู้บริหารและครูเกี่ยวกับการเรียนการสอน
๒.๔ พัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในให้เข้มแข็งเพื่อรองรับการประเมินภายนอก
๒.๕ ประเมินโรงเรียนตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน

๓. เสริมสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งของโรงเรียน
๓.๑ จ้างวิทยากรบุคคลภายนอกเพื่อช่วยสอน
๓.๒ ค่าพาหนะรับ-ส่งนักเรียน
๓.๓ จัดหาครุภัณฑ์ คอมพิวเตอร์และสื่อมัลติมีเดีย
๓.๔ ซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์

๔. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา
๔.๑ จ้างมหาวิทยาลัยให้เป็น ที่ปรึกษาในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก ๖ จุด คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น กรุงเทพฯ อุบลฯ และนครศรีธรรมราช
๔.๒ พัฒนาคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และเครือข่ายผู้ปกครอง

ประโยชน์คาดว่าที่ได้รับ
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นในครั้งนี้ ก็คือ
๑. คุณภาพนักเรียนจะสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากโรงเรียนจะมีความพร้อมด้านปัจจัยและเอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จะมีครู งบประมาณ สื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่พร้อมมากกว่าเดิม และถึงแม้ว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถยุบรวมได้ โรงเรียนเหล่านั้น ก็จะนำนวัตกรรมต่างๆทั้งที่ตนเองคิดค้นและจากที่อื่นเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการและการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามลำดับ
๒.โรงเรียนขนาดเล็กจะเหลืออยู่ในระบบด้วยจำนวนที่เหมาะสมตามความจำเป็น และดำรงอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดการศึกษามากขึ้น หากมีการยุบ รวมและเลิกโรงเรียนที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ยกเว้นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ ซึ่งไม่สามารถยุบ รวมและเลิกโรงเรียน

ไม่มีความคิดเห็น: