วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

นโยบายใหม่ๆ อ่านไว้สำหรับภาคบ่ายครับ

โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ครั้งที่ ๔/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๒ โดยมี ผอ.สพท.๑๘๕ เขต และประธานศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษา ๔๑ แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมประชุมสัมมนาเป็นเวลา ๒ วัน

รมว.ศธ.ได้มอบนโยบายแก่ ผอ.สพท. และประธานศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษาทั่วประเทศ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

๑. ทิศทางกรอบการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ มีเป้าหมายคือ ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ เน้นคุณภาพ การขยายโอกาส และการแสวงหาการมีส่วนร่วม เน้น ๔ ใหม่ คือ คนไทยยุคใหม่ ครูยุคใหม่ ระบบบริหารจัดการแบบใหม่ และแหล่งเรียนรู้และสถานศึกษายุคใหม่ โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อน ๒ ชุด ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ ๒ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษารอบ ๒ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน

๒. โครงการ ๕ ฟรี ได้แก่ โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ, โครงการติวฟรีอย่างมีคุณภาพ (Tutor Channel), โครงการดื่มนมโรงเรียนฟรี, โครงการอาหารกลางวันฟรี และโครงการผู้พิการเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชน รวมถึงในระดับ ปวส. และ ปวท. ทั้งวิทยาลัยของรัฐและวิทยาลัยเอกชน

๓. โครงการไทยเข้มแข็ง (SP2) ขอให้เร่งรัดดำเนินการทุกโครงการ เนื่องจากขณะนี้งบประมาณอยู่ที่กระทรวงการคลังแล้ว และขอให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส โดยมีโครงการที่ต้องดูแล เป็นพิเศษ ดังนี้
- โครงการโรงเรียนดี ๓ ระดับ จำนวน ๑๐,๐๐๐ โรง โดยมีรายละเอียดในระบบบริหารจัดการ ธรรมาภิบาล การกระจายอำนาจ รวมถึงปัจจัยพื้นฐาน การปรับปรุงพัฒนาอาคาร ภูมิทัศน์- โครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ต้องเข้าถึงโรงเรียนอย่างน้อย ๓,๐๐๐ โรง- โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ศธ.ได้จัดงบประมาณให้ โรงเรียนละ ๑๗๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้จะทำการเพิ่มบ้านพักครู และเรือนนอนของนักเรียน โดย รมว.ศธ.ได้เน้นย้ำให้ช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนเป็นพิเศษ และหากพื้นที่ใดเกิดปัญหาขึ้น ต้องมีการลงโทษอย่างเด็ดขาด- ห้องสมุด ๓ดี จะมีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ e-book ให้กับทุกโรงเรียน จำนวน ๓๒,๐๐๐ โรงทั่วประเทศ อาจต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการเลือกซื้อหนังดีเข้าห้องสมุด แต่อย่างน้อยห้องสมุด ๓ดี ทุกแห่ง ต้องมีหนังสือพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ๖ เล่ม และหนังสืออื่นๆ สพฐ.จะช่วยพิจารณาหนังสือ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กจะได้อ่านหนังสือที่มีคุณค่าครบถ้วน นอกเหนือจากนั้นอาจเป็นดุลยพินิจของแต่ละโรงเรียนก็ได้ และได้มอบให้แต่ละโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีเกณฑ์กำหนดราคาตามที่ สพฐ. พิจารณา- โครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับสัดส่วนนักเรียนกับคอมพิวเตอร์ จาก ๔๐:๑ เป็น ๑๐:๑ จึงเป็นที่มาที่จะต้องซื้อคอมพิวเตอร์ ๔๐๐,๐๐๐ เครื่อง ให้กับโรงเรียน ๑๘,๐๐๐ โรงทั่วประเทศ โดยให้โรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อเอง- การอบรมพัฒนาครู ๔๕๐,๐๐๐ คน โดยแยกเป็น ๒ ระดับ คือ ผู้บริหารและครูผู้สอนแยกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งจะมีการประเมินผลทั้งก่อนและหลังการอบรม และจะมีการติดตามผล ว่าหลังการอบรมครูมีศักยภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร โดยการอบรมจะไม่ให้กระทบกับเวลาสอน และ รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ สพฐ.ประสานงาน ว่านอกจากพัฒนาศักยภาพตนเองแล้ว ครูสามารถนำผลการอบรมไปใช้ประโยชน์ในเรื่องใดได้บ้าง เช่น วิทยฐานะ สอบใบวิชาชีพคุรุสภา ต่ออายุใบประกอบวิชาชีพ ฯลฯ เพื่อการอบรมไม่สูญเปล่า

๔. นโยบาย ๓ดี/3D อยู่ในเงื่อนไขการประเมินของ สมศ. ด้วย จึงขอให้คิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจัง

๕. การสอนทางไกล สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนมัธยมขนาดเล็ก และโรงเรียนขยายโอกาส ที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กต่ำ มีคะแนน NT, O-NET ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ทั้งหมด ๙,๐๐๐ โรง ซึ่งจะใช้ระบบต่อยอดจากโรงเรียนวังไกลกังวล โดยจะแบ่งเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะที่ ๑ จำนวน ๔,๐๐๐ โรง จะเริ่มในภาคการศึกษาที่ ๒ ของปีการศึกษา ๒๕๕๒ คือเดือนพฤศจิกายนนี้ และระยะที่ ๒ จำนวน ๕,๐๐๐ โรง จะเริ่มในภาคการศึกษาที่ ๑ ของปีการศึกษา ๒๕๕๓ โดยในเดือนตุลาคม จะมีการอบรมครู เพื่อให้สามารถสอนทางไกลและการบริหารจัดการภายในห้องเรียน และจะมีการทดสอบว่าผลสัมฤทธิ์เป็นอย่างไร โดยจะสอนในช่วงชั้นที่ ๒-๔

๖. แยกประถม-มัธยม รมว.ศธ.ได้ลงนามในประกาศแล้วเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติไปพลางก่อนระหว่างรอกฎหมาย ระบบการดำเนินการโยกย้าย ให้แยกเป็นคณะกรรมการกลั่นกรอง ๒ ชุด คือ ระดับประถม มีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่เป็นประธาน มีหัวหน้าฝ่ายบุคลากรเป็นเลขานุการ และระดับมัธยม มีผู้แทนจาก สพฐ. เป็นประธาน ประธานศูนย์ประสานงานมัธยมเป็นเลขานุการ เมื่อมีความคิดเห็นอย่างไรก็ให้นำเข้า ก.ค.ศ. สำหรับส่วนมัธยม คณะรัฐมนตรีมีมติจัดงบประมาณใน ๓ ปี ให้จำนวน ๙,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อให้ดำเนินการเรื่องคุณภาพมัธยม

๗. นโยบายส่งเสริมการศึกษาเอกชน ทุกเขตพื้นที่จะต้องให้ความร่วมมือในการจัดระบบการนิเทศให้กับโรงเรียนเอกชนในความรับผิดชอบ ทั้งระดับประถมและมัธยม ขอให้ให้ความสำคัญกับโรงเรียนเอกชนด้วย เพราะต้องการเห็นเด็กไทยพัฒนาทั้งโรงเรียนภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการศึกษามากขึ้น

๘. สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผลสอบ O-NET ต่ำที่สุดในประเทศ ซึ่งหลังจากนี้จะมอบหมายผู้รับผิดชอบในระดับกระทรวง ๑ คน เพื่อรับผิดชอบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะ และให้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการในเขตพื้นที่ เสมือนเป็นตัวแทนทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรหลัก และถือเป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องดำเนินการ โดยต้องรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นกับชายแดนภาคใต้ในทุกเรื่อง

๙. เด็กนอกสัญชาติ กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุน ส่งเสริม และรณรงค์ให้เด็กนอกสัญชาติได้เข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทย มิฉะนั้นจะเกิดโรงเรียนนอกกฎหมายในพื้นที่ที่มีเด็กต่างด้าวอยู่ ซึ่งไม่ได้สอนเป็นภาษาไทย และกระทรวงศึกษาธิการจะไม่สามารถควบคุมการเรียนการสอนได้ ดังนั้น การนำเด็กเหล่านี้เข้าสู่ระบบการศึกษาของไทย เนื่องจากมีการสอนเป็นภาษาไทย และควบคุมบทเรียนได้ เพื่อให้เด็กมีความจงรักภักดีต่อประเทศไทย ซึ่ง รมว.ศธ. ได้นำประเด็นนี้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการให้มีความชัดเจนและให้มีกฎระเบียบรองรับ

๑๐. การทะเลาะวิวาทของนักเรียน ขอให้ยึดประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ที่ รมว.ศธ. ได้ลงนามเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เป็นหลัก สถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแล จัดทำแผนแก้ปัญหา เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ผู้กระทำความผิดต้องได้รับโทษทั้งทางวินัยและทางอาญา และผู้บริหารสถานศึกษาต้องร่วมรับผิดชอบ

๑๑. เรื่องที่เกี่ยวข้องกับครู วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ จะมีผลบังคับใช้ระบบใหม่ของวิทยฐานะครู ที่จะให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนหรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอนมากขึ้น ๖๐% และให้ความสำคัญกับการทำเอกสาร ๔๐% และเป็นเอกสารวิจัยที่ทำในห้องเรียน ที่ต้องเกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กรณียื่นวิทยฐานะไว้แล้วและมีการเปลี่ยนสายงาน ไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ส่วนโครงสร้างเงินเดือนใหม่ ปรับจากระบบซีเป็นระบบแท่ง เมื่อมีผลบังคับใช้ก็จะทำให้เงินเดือนขั้นสูงเพิ่มขึ้น ๘% รวมทั้งการปรับเพดานครู ค.ศ.๓ และ ค.ศ.๔ ที่เงินเดือนเต็มขั้น จะมีการปรับแท่งเงินเดือนที่สูงขึ้น ครู ค.ศ.๓ จะได้รับเงินเดือนจาก ๔๗,๔๕๐ บาท เป็น ๕๐,๕๕๐ บาท และ ครู ค.ศ.๔ จาก ๕๐,๕๕๐ บาท เป็น ๕๗,๙๔๐ บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- โครงการคืนครูให้นักเรียน ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป จะได้ปรับเงินเดือนตามวุฒิปริญญาตรี นอกจากนี้ จะจัดงบให้ภารโรง ๗,๘๐๐ อัตรา โดยให้โรงเรียนเป็นผู้เลือกจ้างได้เองตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระผูกพัน หากทำงานไม่ดีก็ปรับเปลี่ยนได้ แต่ทั้งนี้ ต้องมีธรรมาภิบาล- การเลือกผู้แทนครูที่จะเข้ามาเป็นตัวแทน อ.ก.ค.ศ. จะมี ผลให้มีการปรับระบบใหม่ ๒ ประเด็น คือ ก.ค.ศ. จากเดิม ๗:๗:๗:๗ เป็น ๙:๙:๙:๙ และเดิมผู้มีสิทธิ์สมัครกับผู้มีสิทธิ์เลือกคือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ต่อไปให้ผู้มีสิทธิ์เลือกเพิ่ม นอกจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่แล้ว รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่และเจ้าหน้าที่บริหารก็มีสิทธิ์เลือกด้วย โดยขอให้การเลือกเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

๑๒. ช.พ.ค.๕ ศธ.ต้องการรักษาผลประโยชน์และให้ครูได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเดิมมีการบังคับทำประกันชีวิต, ดอกเบี้ย MLR ซึ่งมีเงื่อนไขว่าหากผู้กู้เป็นลูกหนี้ชั้นดี ธนาคารออมสินจะลดดอกเบี้ยให้ ๑% แต่ ๑% นี้ ยกให้ สกสค. มีการบังคับลงทุน ๑๐,๐๐๐ บาท สมทบเข้ากองทุน สกสค. จึงให้ สกสค.ไปทบทวนปรับเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้ได้ผลในทางที่ดีขึ้นคือ ไม่บังคับทำประกันชีวิต ให้เป็นไปตามความสมัครใจของครูผู้กู้ สำหรับครูที่เป็นลูกหนี้ชั้นดีจะได้รับการลดดอกเบี้ย ๑% และไม่บังคับลงทุน ๑๐,๐๐๐ บาท

รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า กำลังจะมีการปรับกระบวนการครั้งสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการในหลายเรื่อง ที่จะเดินหน้าไปสู่กระบวนการสร้างคุณภาพทั้งระบบ โดยจะลดระบบการสอนแบบท่องจำ แต่จะเพิ่มการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น ให้เด็กมีโอกาสเรียนนอกห้องเรียนมากขึ้น การเรียนการสอนและการออกข้อสอบที่ สทศ. ออกต้องสอดคล้องกัน มิเช่นนั้นนักเรียนก็จะต้องเรียนกวดวิชา ส่วน สพฐ. กับมหาวิทยาลัยก็ต้องหารือกันเพื่อผลิตเด็กในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อป้อนมหาวิทยาลัยมีคุณสมบัติตรงกับที่มหาวิทยาลัยต้องการ และมหาวิทยาลัยก็ต้องผลิตบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด.

ไม่มีความคิดเห็น: