วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ส่งเสริมการอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ๕ แผนงานในการส่งเสริมการอ่าน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.ใน ๓ ยุทธศาสตร์ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ พัฒนาคนไทยให้มีความสามารถด้านการอ่าน
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การสร้างนิสัยรักการอ่าน
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการอ่าน

โดยมีเป้าหมายที่มีตัวชี้วัด ๕ ข้อ คือ
๑) ให้ประชาชนวัยแรงงาน รู้หนังสือและสามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวันเพิ่มจาก ๙๗.๒๑% เป็น ๙๙%
๒) ต้องการให้ประชาชนอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป อ่านออกเขียนได้เพิ่มจาก ๙๒.๖๔% เป็น ๙๕%
๓) ต้องการให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นจากปีละ ๕ เล่ม เป็นปีละ ๑๐ เล่ม
๔) เพิ่มแหล่งการอ่านทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และ
๕) สร้างภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านเพิ่มมากขึ้น

แผนงานส่งเสริมการอ่าน ประกอบด้วย
• แผนงานรณรงค์ส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างนิสัยรักการอ่าน วัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้น เช่น โครงการการอ่านสะสมแต้ม (Summer Reading)• แผนงานเพิ่มทักษะด้านการอ่าน เช่น โครงการคาราวานการอ่าน• แผนงานสร้างแหล่งเรียนรู้และสื่อเพื่อการเรียนรู้ โดยเน้นหนังสือเป็นหลัก เช่น โครงการหนังสือเสียง, คลังหนังสือผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จัดทำเป็น Public Domain บรรจุหนังสือไว้ เพื่อให้ทุกคนที่สนใจสามารถอ่านหนังสือได้• แผนงานสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการอ่าน เช่น ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรื่องวิทยุชุมชน และภาคีด้านต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วย• แผนงานวิจัยและพัฒนาการอ่าน

โดย รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้คณะทำงานที่ดูแลแผนยุทธศาสตร์ ๑๐ ปี ซึ่งมี ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ เป็นประธาน จัดประชุมคณะทำงานอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปรายละเอียดแผนงานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการในแต่ละแผนงาน ผู้รับผิดชอบ งบประมาณ ซึ่งประกอบด้วยงบประมาณที่มีอยู่ และงบประมาณในส่วนที่ ศธ. และ กศน จะต้องจัดให้เพิ่มเติม จะต้องเพิ่มจำนวนเท่าไร และเมื่อคณะทำงานได้ข้อสรุปแล้ว จะนำมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาเรื่อง ภาษีส่งเสริมการอ่าน โดยมีมติเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย ๓ ประเด็น ดังนี้

การบริจาคหนังสือ กรณีบริจาคหนังสือจะมีเรื่องของภาษีนิติบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ปัจจุบันถ้านิติบุคคลใดบริจาคหนังสือสามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีได้ ๒ เท่าของค่าใช้จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน ๑๐% ของกำไรของนิติบุคคลนั้นก่อนการบริจาค ที่ประชุมได้เห็นชอบให้แก้ไขเป็นสามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีได้สองเท่าของค่าใช้จ่ายจริง แต่เพิ่มขึ้นจากไม่เกิน ๑๐% เป็นไม่เกิน ๓๐% ของกำไรของนิติบุคคลนั้นก่อนบริจาค จะส่งผลทำให้สามารถบริจาคได้เพิ่มขึ้น เมื่อคิดเป็นตัวเลขคือ จาก ๖.๓๓% เป็น ๑๓% นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบการขยายรายชื่อองค์กรรับบริจาคหนังสือเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่จำกัด เช่น โรงเรียนในสังกัด สพฐ. โรงเรียน ตชด. แต่ยังไม่ครอบคลุมบางหน่วยงาน บางองค์กรที่ควรจะได้รับบริจาคหนังสือได้ เช่น มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก หรือองค์กรต่างๆ และหน่วยงานที่รับบริจาคหนังสือสามารถเลือกรายการรับหนังสือบริจาคได้ เพื่อเป็นการป้องกันการได้รับบริจาคหนังสือไม่ตรงตามความต้องการของหน่วยงานนั้น

การซื้อหนังสือ กรณีที่บุคคลทั่วไปซื้อหนังสือมาอ่าน สามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาทต่อคนต่อปี ส่วนกรณีนิติบุคคลซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดของหน่วยงาน สามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้สองเท่าของจำนวนเงินที่ซื้อจริง

การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ผลิตหนังสือ เพื่อลดต้นทุนการผลิตหนังสือ เพราะในปัจจุบันการผลิตหนังสือจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในการผลิตเกือบทุกขั้นตอน เช่น การซื้อกระดาษ หมึกพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งทำให้การผลิตหนังสือมีต้นทุนสูง แต่เมื่อขายหนังสือจะไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากผู้ซื้อหนังสือได้ ถ้าสามารถคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ผลิตหนังสือได้เช่นเดียวกับผู้ผลิตสินค้าส่งออก นอกจากจะสามารถลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเป็นการจูงใจให้มีการผลิตหนังสือดีๆ เพื่อส่งเสริมการอ่านเพิ่มขึ้น และทำให้หนังสือมีราคาถูกลงด้วย

อย่างไรก็ตาม การเสนอเรื่องเข้าสู่ ครม. ต้องฟังความเห็นจากกระทรวงการคลังด้วย เพราะในทางปฏิบัติ เมื่อเสนอเรื่องเข้าสู่ ครม. ก่อนที่ ครม.จะพิจารณา กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ให้ความเห็นก่อนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร.

ไม่มีความคิดเห็น: